นางสาววนัสนันทน์ สุขุมาลพันธ์
จากบทความตอนที่ผ่านมาคงช่วยตอบคำถามที่ว่า “ทำไมถึงต้องมีการพลิกโฉมการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงิน” แล้ว “รูปโฉมใหม่จะเป็นอย่างไร” และ “เปลี่ยนแปลงจากเดิมแค่ไหน” รวมไปถึง “ใครได้รับผลกระทบมากที่สุด” ให้หลายท่านคลายสงสัยได้บ้างแล้วว่า การพลิกโฉมครั้งสำคัญสู่ IFRS 9 เพื่อให้วิธีการบัญชีสำหรับเครื่องมือทางการเงินสะท้อนถึงรูปแบบการดำเนินธุรกิจและสอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยงของกิจการมากขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงธุรกรรมที่ซับซ้อนและพัฒนาการใหม่ ๆ ซึ่งจะทำให้งบการเงินแสดงถึงฐานะและผลการดำเนินงานที่สะท้อนความเป็นจริงทางธุรกิจได้ดียิ่งขึ้น
หลักการของ IFRS 9 ที่เรียกได้ว่า “พลิกโฉม” คงเป็นเรื่องใดไปไม่ได้นอกจากเรื่อง “การกันเงินสำรองเพื่อรองรับความเสียหาย” โดยเปลี่ยนจาก “หลักการ incurred loss” ซึ่งกันเงินสำรองรองรับเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้ว เป็น “หลักการ expected loss” ซึ่งจะกันเงินสำรองให้ครอบคลุมถึงความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตด้วย และหากถามว่าใครจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ก็คงหนีไม่พ้นกิจการที่มีเครื่องมือทางการเงิน เช่น เงินให้สินเชื่อ และเงินลงทุน เป็นจำนวนมากอย่างสถาบันการเงิน ซึ่งอาจทำให้ต้องกันเงินสำรองเพิ่มขึ้น
เกริ่นมาขนาดนี้แล้ว แน่นอนว่าในครั้งนี้ เราจะมาพูดกันถึงการพลิกโฉมของหลักการกันเงินสำรอง ว่าเปลี่ยนแปลงจากหลักเกณฑ์ที่สถาบันการเงินใช้อยู่ในปัจจุบันอย่างไร แล้วสถาบันการเงินจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และจะต้องเตรียมตัวอย่างไรให้พร้อมที่จะใช้ IFRS 9 ในปี 62 ได้อย่างราบรื่น
ก่อนอื่นมาเริ่มกันที่หลักเกณฑ์ปัจจุบันที่สถาบันการเงินใช้กันอยู่ ประกอบด้วย 2 ส่วน คือ (1) ข้อกำหนดเรื่องการด้อยค่าของเงินลงทุนตามมาตรฐานการบัญชีไทย และ (2) หลักเกณฑ์การจัดชั้นและการกันเงินสำรองของธนาคารแห่งประเทศไทย ซึ่งอ้างอิงหลักการส่วนใหญ่มาจาก IAS 39 โดยให้รับรู้ผลขาดทุนจากการด้อยค่าหรือกันเงินสำรองรองรับเฉพาะความเสียหายที่เกิดขึ้นแล้วของเงินลงทุนที่ถือไว้เผื่อขายตราสารหนี้ที่จะถือจนครบกำหนด เงินให้สินเชื่อ และรายการนอกงบดุลเฉพาะของลูกหนี้ที่เป็น NPL โดยพิจารณาจากข้อมูลหรือประสบการณ์ในอดีตและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในปัจจุบันเท่านั้น ซึ่งนับเป็นจุดอ่อนสำคัญที่ทำให้กันเงินสำรองช้าเกินไป และปริมาณเงินสำรองน้อยเกินไปจนไม่เพียงพอรองรับความเสียหายที่อาจจะเกิดขึ้นในอนาคตได้
จุดอ่อนสำคัญนี้เองที่นามาซึ่งการพลิกโฉมสู่ IFRS 9 ซึ่งกาหนดให้กิจการกันเงินสารองให้ครอบคลุมถึงความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยให้พิจารณาถึงเหตุการณ์ที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต (forward-looking information) ที่อาจกระทบต่อความสามารถในการชาระหนี้ของลูกหนี้จากข้อมูลหรือปัจจัยต่าง ๆ ทั้งภายในและภายนอก ได้แก่ อัตราการว่างงาน อัตราการขยายตัวของ GDP การเปลี่ยนแปลงทางด้านเศรษฐกิจและเทคโนโลยี เป็นต้น อีกทั้งยังขยายขอบเขตเครื่องมือทางการเงินที่เข้าข่ายต้องพิจารณาการด้อยค่าเพื่อกันเงินสารองให้กว้างขึ้น โดยครอบคลุมไปถึงรายการนอกงบดุลของลูกหนี้ที่ไม่เป็น NPL ด้วย
ซึ่งการกันเงินสำรองตามหลักการใหม่นี้จะช่วยให้กิจการมีเงินสารองรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคตได้อย่างเพียงพอ และสะท้อนถึงโอกาสที่ลูกหนี้อาจจะผิดนัดชาระหนี้ที่เปลี่ยนแปลงตลอดอายุหนี้
มาถึงตรงนี้ หลายท่านคงพอประเมินผลกระทบจากหลักการกันเงินสำรองตาม IFRS 9 ที่มีต่อ สถาบันการเงินได้บ้างแล้ว และรู้ว่าสถาบันการเงินควรจะเตรียมตัวอย่างไรเพื่อให้พร้อมรับมือ ซึ่งหลัก ๆ ก็มี ด้วยกัน 2 ส่วน คือ (1) ผลกระทบในเชิงตัวเลขต่อฐานะและผลการดำเนินงาน และ (2) ผลกระทบด้าน ระบบงานและฐานข้อมูล
จากหลักการกันเงินสารองตาม IFRS 9 จะเห็นว่าการกันเงินสำรองรองรับความเสียหายที่คาดว่าจะเกิดขึ้นในอนาคต โดยพิจารณาจากข้อมูลหรือปัจจัยที่เกี่ยวข้องต่าง ๆ ในลักษณะ forward-looking อาจทำให้เงินสำรองตาม IFRS 9 เพิ่มขึ้น และอาจผันผวนมากขึ้น เนื่องจากข้อมูลและปัจจัยที่นำมาพิจารณาอาจมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ซึ่งผลกระทบดังกล่าวอาจยืนยันได้จากผลการสำรวจในต่างประเทศที่ได้สอบถามข้อมูลจากสถาบันการเงินหลายแห่งทั่วโลกแล้วพบว่า สถาบันการเงินส่วนใหญ่คาดว่าจะต้องกันเงินสำรองเพิ่มขึ้นอยู่ในช่วงประมาณไม่เกิน 25% ทั้งนี้ สำหรับสถาบันการเงินไทย ส่วนใหญ่ยังอยู่ระหว่างการวิเคราะห์ ประเมิน และสรุปผลกระทบของ IFRS 9 อย่างไรก็ดี ในระยะที่ผ่านมา ธนาคารพาณิชย์ไทยได้มีการทยอยกันเงินสำรองเพิ่มขึ้น ซึ่งจะช่วยลดผลกระทบจากการกันเงินสำรองตาม IFRS 9 ในปี 62 ได้
นอกจากผลกระทบในเชิงตัวเลขที่กล่าวข้างต้นแล้ว ผลกระทบที่สำคัญไม่ยิ่งหย่อนไปกว่ากันคือ ระบบงานและฐานข้อมูล ซึ่งถือว่าเป็นส่วนสำคัญที่สถาบันการเงินจะต้องจัดเตรียมเพื่อให้รองรับการคำนวณเงินสำรองตาม IFRS 9 ทั้งระบบการจัดอันดับเครดิต ระบบติดตามและประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ ข้อมูลเกี่ยวกับพฤติกรรมการชำระหนี้ และข้อมูลทางสถิติเกี่ยวกับปัจจัยเศรษฐกิจต่าง ๆ ที่จะต้องนำมาใช้ในการประเมินความสามารถในการชำระหนี้ของลูกหนี้ รวมถึงข้อมูลราคาหลักประกัน ทั้งนี้ไม่เพียงแต่ระบบงานและฐานข้อมูลที่ต้องจัดเตรียม สถาบันการเงินยังมีภาระต้องจัดทำนโยบายหรือแนวปฏิบัติเกี่ยวกับประเด็นต่าง ๆ ที่ IFRS 9 ให้กิจการสามารถใช้ดุลยพินิจในการตีความ หรือตัดสินใจได้เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่เหมือนกันทั่วทั้งองค์กร เช่น ปัจจัยและระดับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยที่ใช้ประเมินความเสี่ยงของลูกหนี้ แม้ว่าการปรับปรุงและพัฒนาระบบงานและฐานข้อมูลจะสร้างภาระและต้นทุนให้แก่สถาบันการเงินค่อนข้างมาก แต่หากมองในอีกด้านหนึ่ง ระบบงานและฐานข้อมูลดังกล่าวเป็นข้อมูลพื้นฐานที่สถาบันการเงินจาเป็นต้องมีในการดำเนินธุรกิจ อีกทั้งการจัดเก็บข้อมูลในฐานข้อมูลอย่างเป็นระบบและมีการเชื่อมโยงระหว่างระบบงานมากขึ้น จะเป็นประโยชน์ให้สถาบันการเงินมีข้อมูลในการติดตามและวิเคราะห์ความเสี่ยงของลูกหนี้ได้ดียิ่งขึ้น
จากผลกระทบข้างต้นจะเห็นว่า การเตรียมความพร้อมเพื่อให้ใช้ IFRS 9 ได้ทันภายในปี 62 นั้น ถือเป็นแผนการดำเนินงานใหญ่แผนหนึ่งที่สถาบันการเงินไทยต้องทุ่มเททรัพยากรจำนวนมากทั้งเวลา บุคลากร และงบประมาณ ดังนั้นจึงควรวางแผนและดำเนินการอย่างรอบคอบและรัดกุมที่สุด
ในตอนต่อไปซึ่งเป็นตอนสุดท้ายของบทความเรื่องนี้ เราจะมาพูดถึงการบัญชีป้องกันความเสี่ยงว่ามี การปรับปรุงหลักการให้สอดคล้องกับการบริหารความเสี่ยงของกิจการมากขึ้นอย่างไร สถาบันการเงินไทยจะได้รับผลกระทบมากน้อยแค่ไหน และต้องปรับตัวอย่างไร รวมทั้งจะสรุปผลกระทบที่สำคัญและแนวทางที่ สถาบันการเงินไทยจะต้องเตรียมรับมือ IFRS 9 ให้ทันใช้ในปี 62 ต่อไป