​ส่องมาตรการทางการเงินของแบงก์ชาติ

แบงก์ชาติขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายครั้งแรกเมื่อ 10 ส.ค. 2565 หลังจากคงดอกเบี้ยต่ำที่สุดมานานกว่า 2 ปี แม้ดอกเบี้ยขาขึ้นรอบนี้จะปรับอย่างค่อยเป็นค่อยไป แต่หลายคนคงอดห่วงไม่ได้ว่ากลุ่มเปราะบางอย่างธุรกิจ SMEs ที่ยังฟื้นตัวไม่เต็มที่หรือครัวเรือนที่มีหนี้สูงจะปรับตัวได้หรือไม่ อันที่จริงนอกจากนโยบายการเงินแล้ว แบงก์ชาติยังใช้มาตรการทางการเงิน (financial measures) มาดูแลเศรษฐกิจด้วย ซึ่งมีข้อดีคือสามารถดูแลกลุ่มเปราะบางได้อย่างตรงจุด วันนี้จึงขอชวนมาส่องมาตรการทางการเงินของแบงก์ชาติ ทั้งมาตรการเดิมที่ยังมีอยู่ต่อเนื่อง และมาตรการใหม่ที่เพิ่งออกมาครับ

Miniature house and money under a magnifying glass. Concept of real estate investment, mortgage, home insurance, home purchase and sale.


การแก้หนี้เดิมและเติมเงินใหม่ให้กับลูกหนี้ SMEs

มาตรการหลักที่ใช้แก้หนี้ให้ภาคธุรกิจ คือ มาตรการแก้หนี้ระยะยาว 3 ก.ย. 2564 ซึ่งธุรกิจสามารถติดต่อปรับโครงสร้างหนี้กับสถาบันการเงินได้โดยตรง หรือจะติดต่อผ่านทางด่วนแก้หนี้ของแบงก์ชาติก็ได้ เพื่อให้การผ่อนชำระสอดคล้องกับการฟื้นตัวแบบ “หน้าต่ำหลังสูง” โดยในช่วงแรกจะผ่อนน้อยเท่าที่ไหว และต่อไปจึงผ่อนมากขึ้นเมื่อรายได้ฟื้นตัว ขณะที่ธนาคารจะได้รับการผ่อนผันเกณฑ์การจัดชั้นหนี้ด้วย ซึ่งมาตรการนี้จะมีไปจนถึงสิ้นปี 2566 นอกจากนี้ยังมีโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ ที่เป็นการโอนทรัพย์ไปยังธนาคารเพื่อปิดหนี้ และยังมีสิทธิ์เช่าทรัพย์เพื่อทำธุรกิจต่อ รวมทั้งมีสิทธิ์ซื้อกลับคืนมาในอนาคต ซึ่งโครงการพักทรัพย์ พักหนี้ จะมีต่อไปจนถึง เม.ย. 2566

สำหรับมาตรการหลักในการเติมเงินใหม่ให้ SMEs คือ สินเชื่อฟื้นฟู วงเงิน 2.5 แสนล้านบาท ซึ่งได้ปล่อยสินเชื่อไปแล้ว 1.9 แสนล้านบาท (ณ 5 ก.ย. 2565) มาตรการนี้ถูกออกแบบมารองรับใน 3 ระยะ ได้แก่ (1) เพื่อเสริมสภาพคล่องธุรกิจในช่วงโควิด 19 ระบาด (2) ใช้เป็นทุนในการกลับมาเปิดกิจการอีกครั้งหลังโควิด 19 คลี่คลาย และ (3) ใช้ปรับธุรกิจเพื่อ transform เข้าสู่โลกยุคใหม่ ซึ่งในข้อสามนี้ แบงก์ชาติได้ออกมาตรการสินเชื่อเพื่อการปรับตัว ภายใต้ พ.ร.ก. ฟื้นฟู โดยธุรกิจขอสินเชื่อได้มากถึงรายละ 150 ล้านบาท ดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีแรกไม่เกิน 5% ช่วง 2 ปีแรกดอกเบี้ยไม่เกิน 2% และในช่วง 6 เดือนแรกจะได้รับการชดเชยดอกเบี้ยด้วย สินเชื่อนี้สามารถใช้ได้หลากหลายวัตถุประสงค์ ไม่ว่าจะเป็นการปรับตัวให้สอดรับกับกระแสเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital) การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) หรือนวัตกรรมแห่งโลกอนาคต (Innovation) โดยสินเชื่อฟื้นฟูและสินเชื่อเพื่อการปรับตัวจะมีต่อไปจนถึง เม.ย. 2566


รวมพลังหลากมาตรการแก้หนี้รายย่อย

สำหรับลูกหนี้รายย่อยซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบาง ทุกภาคส่วนทั้งรัฐและเอกชนต่างให้ความสำคัญเป็นพิเศษในช่วงการปรับตัว แบงก์ชาติได้ขยายมาตรการจ่ายสินเชื่อบัตรเครดิตขั้นต่ำที่ 5% ไปจนถึงปี 2566 และต่ออายุมาตรการขยายระยะเวลาสินเชื่อส่วนบุคคลดิจิทัลเป็น 12 เดือนไปจนถึงปี 2566 อีกทั้งเมื่อปลายปีก่อนแบงก์ชาติได้ออกมาตรการสนับสนุนการรีไฟแนนซ์และการรวมหนี้ โดยห้ามเรียกเก็บค่าปรับจากการชำระสินเชื่อส่วนบุคคลก่อนครบกำหนดจนถึงสิ้นปี 2566 ซึ่งจะทำให้ปิดบัญชีมารวมหนี้เป็นก้อนเดียวได้ง่ายขึ้น และสามารถจ่ายดอกเบี้ยลดลงได้เมื่อนำสินเชื่อรายย่อยมารวมกับสินเชื่อบ้าน เพราะสินเชื่อบ้านมีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าสินเชื่อรายย่อยแบบอื่น

เมื่อต้นเดือน ก.ย. ที่ผ่านมา โครงการคลินิกแก้หนี้ได้ปรับเกณฑ์ให้ลูกหนี้รายย่อยเข้าร่วมโครงการได้เพิ่มขึ้น (รวมผู้ที่เป็นหนี้เสียตั้งแต่ก่อน 1 ก.ย. 65) และเพิ่มทางเลือกในการแก้หนี้เป็น 3 ทาง คือ (1) ผ่อนชำระไม่เกิน 4 ปี อัตราดอกเบี้ย 3% (2) ผ่อนชำระนานกว่า 4 ปี ไม่เกิน 7 ปี อัตราดอกเบี้ย 4% (3) ผ่อนชำระนานกว่า 7 ปี ไม่เกิน 10 ปี อัตราดอกเบี้ย 5% เพื่อให้ลูกหนี้เลือกได้ตามความสามารถในการจ่ายของตนเอง

และในระยะถัดไป แบงก์ชาติและกระทรวงการคลังจะร่วมกันจัด “มหกรรมร่วมใจแก้หนี้: มีหนี้ต้องแก้ไข เริ่มต้นใหม่อย่างยั่งยืน” ซึ่งมีธนาคารพาณิชย์ สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ (SFIs) บริษัทบริหารสินทรัพย์ (บบส.) และ Non-banks เข้าร่วมแล้ว 56 แห่ง ครอบคลุมหนี้หลายประเภท ไม่ว่าจะเป็นหนี้บัตรเครดิต หนี้ส่วนบุคคล หนี้เช่าซื้อรถหรือจักรยานยนต์ หนี้จำนำทะเบียนรถ หนี้นาโนไฟแนนซ์ หนี้ SFIs รวมถึงหนี้ที่โอนไปยัง บบส. แล้ว โดยในช่วง ก.ย. - พ.ย. 65 จะเป็นมหกรรมออนไลน์ ส่วน พ.ย. 65 - ม.ค. 66 จะเป็นมหกรรมสัญจรในกรุงเทพฯ และทั้ง 4 ภาค ภายในงานจะมีการไกล่เกลี่ยหนี้ การเสริมทักษะทางการเงิน และการเติมเงินใหม่หากจำเป็น ผู้ที่สนใจติดต่อได้ที่ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. หรือโทร 1213

ในช่วง 2 ปีกว่าที่ผ่านมา คนไทยร่วมกันฝ่าวิกฤตโควิด 19 มาได้จวบจนวันนี้ แม้การระบาดได้บรรเทาลงตามลำดับ แต่ผลกระทบยังคงอยู่ในหลายภาคส่วน ยังมีกลุ่มเปราะบางจำนวนมากที่พยายามปรับตัวตลอดมา และทุกหน่วยงานได้พยายามเข้าไปดูแลแก้ไขด้วยมาตรการที่ตรงจุด ผู้เขียนขอส่งกำลังใจให้ทุกท่านปรับตัวได้สำเร็จ และทุกมาตรการบรรลุวัตถุประสงค์ด้วยดีครับ



นิธิสาร พงศ์ปิยะไพบูลย์
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 22-25 กันยายน 2565



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย



>>