​นางสาวอุไรพรรณ์ เจริญรัถ
นายภาสกร ตาปสนันทน์

เมื่อกล่าวถึง “นาโนไฟแนนซ์” หลายท่านคงเคยได้ยินคำนี้ เนื่องจากเป็นเรื่องที่อยู่ในความสนใจของประชาชนและสังคมตลอดช่วงระยะเวลาหลายเดือนที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี บางท่านอาจยังมีข้อสงสัยว่า นาโนไฟแนนซ์คืออะไร ทำไมต้องมีสินเชื่อประเภทนี้ ใครกู้ได้บ้าง เงื่อนไขเป็นอย่างไร มีหลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจอย่างไรและถ้าสนใจทำธุรกิจนี้ต้องทำอย่างไร วันนี้เราจะมาทำความรู้จัก นาโนไฟแนนซ์ ให้มากขึ้น

นาโนไฟแนนซ์ มีชื่ออย่างเป็นทางการว่า สินเชื่อรายย่อยเพื่อการประกอบอาชีพภายใต้การกำกับ เป็นสินเชื่อที่ภาครัฐต้องการให้การสนับสนุน เนื่องจากเห็นปัญหาของประชาชนรายย่อยที่ต้องการใช้เงินทุนเพื่อการประกอบอาชีพ แต่ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบสถาบันการเงินได้ เพราะไม่มีเอกสารหลักฐานที่ใช้แสดงแหล่งที่มาของรายได้ และไม่มีทรัพย์สินที่จะนำมาเป็นหลักประกันในการกู้ยืมเงิน ทำให้ประชาชนกลุ่มนี้อาจต้องไปกู้เงินนอกระบบที่มีอัตราดอกเบี้ยสูงมากจนมีภาระหนี้เกินตัว และอาจถูกติดตามทวงถามหนี้ด้วยพฤติกรรมที่ไม่เหมาะสมจนเกิดเป็นอันตรายได้ ดังนั้น สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จึงเป็นสินเชื่อที่มีวัตถุประสงค์ที่ช่วยให้ประชาชนรายย่อยมีเงินทุนเพื่อนำไปประกอบอาชีพเพื่อสร้างรายได้และจะช่วยลดปัญหาอันอาจเกิดจากการก่อหนี้นอกระบบได้ซึ่งจะส่งผลดีต่อระบบเศรษฐกิจของประเทศโดยรวมต่อไป ด้วยเหตุผลดังกล่าว สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ จึงถูกกำหนดให้เป็นสินเชื่อที่ให้แก่บุคคลธรรมดาเพื่อนำเงินไปใช้ในการประกอบอาชีพโดยไม่ต้องมีหลักประกันซึ่งกระบวนการอนุมัติสินเชื่อของผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะมีความยืดหยุ่นสอดคล้องกับลักษณะของกลุ่มผู้กู้ คือ ผู้กู้อาจจะยังไม่มีเอกสารแสดงรายได้ที่แน่นอนและไม่มีทรัพย์สินที่จะมาเป็นหลักประกันการกู้ยืมได้อย่างไรก็ดี เพื่อไม่ให้ประชาชนมีภาระหนี้มากเกินไป จึงได้จำกัดวงเงินกู้สูงสุดต่อรายไว้ไม่เกิน 100,000 บาทและกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยสูงสุดรวมค่าธรรมเนียม ค่าบริการต่างๆ และเบี้ยปรับ (อัตราดอกเบี้ยฯ) ไว้ไม่เกินร้อยละ 36 ต่อปี ดังนั้น ผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์จะไม่สามารถเรียกเก็บค่าใช้จ่ายอื่น ๆ เช่น ค่าติดตามทวงถามหนี้จากผู้กู้เพิ่มเติมจากอัตราดังกล่าวได้อีก ทั้งนี้ จะเห็นได้ว่าดอกเบี้ยที่ผู้ประกอบธุรกิจจะเรียกเก็บได้นั้นแม้จะต่ำกว่าสินเชื่อนอกระบบ แต่ก็ยังคงสูงกว่าสินเชื่อในระบบประเภทอื่น เนื่องจากผู้กู้ยังไม่มีหลักฐานแสดงรายได้ที่แน่นอน หรือผู้กู้อาจไม่เคยมีข้อมูลที่สามารถแสดงประวัติในการชำระหนี้ได้จึงมีความเสี่ยงด้านเครดิตสูงกว่าสินเชื่อประเภทอื่น

ทั้งนี้ หลักเกณฑ์ในการประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ ไม่ได้กำหนดเกี่ยวกับคุณสมบัติของผู้กู้ รายได้ขั้นต่ำของผู้กู้ เอกสารหลักฐานที่ต้องใช้ประกอบการขอสินเชื่อ ระยะเวลาของสัญญาสินเชื่อ หรือจำนวนเงินที่ต้องชำระในแต่ละงวด โดยให้เป็นไปตามนโยบายของผู้ประกอบธุรกิจที่จะกำหนดแนวทางในการพิจารณาอนุมัติสินเชื่อได้เองตามความเหมาะสมกับความสามารถในการชำระหนี้ของผู้กู้แต่ละราย กล่าวคือ ผู้กู้จะได้รับสินเชื่อเมื่อผู้ประกอบธุรกิจพิจารณาแล้วว่าผู้กู้มีความสามารถในการชำระหนี้อย่างไรก็ดี เพื่อเป็นการสนับสนุนให้ผู้ประกอบธุรกิจนาโนไฟแนนซ์มีการดำเนินธุรกิจอย่างโปร่งใส มีการให้บริการอย่างเป็นธรรม และคำนึงถึงผู้บริโภค จึงได้มีการกำหนดหลักเกณฑ์ที่เกี่ยวข้องกับการคุ้มครองผู้บริโภคในเรื่องต่าง ๆ เช่น การเปิดเผยข้อมูลอัตราดอกเบี้ยที่จะเรียกเก็บ การจัดทำตารางแสดงการชำระหนี้ให้แก่ผู้กู้ การจัดส่งใบแจ้งหนี้ การกำหนดช่วงเวลาที่จะสามารถติดต่อผู้กู้ได้ และการดำเนินการในกรณีที่มีข้อร้องเรียน

จะเห็นได้ว่า การให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์มีลักษณะที่ยืดหยุ่นกว่าสินเชื่อประเภทอื่น เพื่อสนับสนุนให้ประชาชนรายย่อยสามารถเข้าถึงสินเชื่อในระบบได้ อย่างไรก็ดี หากผู้กู้มีข้อมูลหรือหลักฐานแสดงรายได้ที่แน่นอนสามารถใช้ในการวิเคราะห์ความเสี่ยงได้ ผู้ประกอบธุรกิจก็ควรเสนอสินเชื่อประเภทอื่นที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำกว่าร้อยละ 36 เพื่อลดภาระของผู้กู้ด้วย

ผู้ประกอบธุรกิจที่สามารถให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน โดยหากธนาคารพาณิชย์และบริษัทเงินทุนต้องการให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ก็สามารถดำเนินการได้เลย แต่หากเป็นผู้ประกอบธุรกิจที่ไม่ใช่ธนาคารพาณิชย์หรือบริษัทเงินทุน จะต้องได้รับอนุญาตจากรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงจะสามารถประกอบธุรกิจให้สินเชื่อนาโนไฟแนนซ์ได้ โดยจะต้องจัดตั้งเป็นบริษัทจำกัดหรือบริษัทมหาชนจำกัด มีทุนจดทะเบียนไม่ต่ำกว่า 50 ล้านบาท และต้องมีอัตราส่วนหนี้สินรวมทั้งสิ้นต่อส่วนของผู้ถือหุ้น (Debt to Equity ratio) ไม่เกิน 7 เท่า โดยผู้ที่สนใจประกอบธุรกิจให้ขออนุญาตผ่านธนาคารแห่งประเทศไทยโดย download แบบคำขอรับใบอนุญาตจาก www.bot.or.th และนำส่งแบบคำขอพร้อมเอกสารมายังสำนักงานใหญ่หรือสำนักงานภาคของธนาคารแห่งประเทศไทย

จากที่กล่าวมาข้างต้น หลายฝ่ายจึงมีความคาดหวังว่าสินเชื่อนาโนไฟแนนซ์จะช่วยสนับสนุนให้ประชาชนสามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการกู้ยืมเงินได้สะดวกมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีเงินทุนมาใช้ในการประกอบอาชีพเพื่อหารายได้ให้ตนเองได้และช่วยลดปัญหาหนี้นอกระบบ อย่างไรก็ดี สิ่งสำคัญที่ผู้กู้ควรคำนึงถึงในการกู้ยืมเงินนั้นคือความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองโดยไม่ควรก่อภาระหนี้จนเกินตัว และควรมีวินัยทางการเงิน โดยจะต้องชำระหนี้ตามกำหนดเวลา เพื่อไม่ให้เกิดภาระหนี้สินที่สะสมหรือพอกพูนมากยิ่งขึ้น

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย