นายทศพล อภัยทาน : สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
นายอาชว์ ปวีณวัฒน์ : สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
นายกฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ : สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
นายชานนทร์ บันเทิงหรรษา : Analysis Group
การแข่งขันเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มผลิตภาพของประเทศในตลาดที่มีการแข่งขันสูง ผู้ผลิตจะมีแรงจูงใจในการเพิ่มผลิตภาพของตนเองผ่านการลงทุนและการทำวิจัยและพัฒนา เพื่อรักษาส่วนแบ่งตลาดและเพิ่มโอกาสในการ อยู่รอดและเติบโต นอกจากนี้ การแข่งขันยังบีบให้ผู้ผลิตที่มีผลิตภาพต่ำต้องออกจากตลาดไป และเปิดโอกาสให้ผู้ผลิตรายใหม่ที่มีผลิตภาพสูงกว่าเข้ามาเริ่มต้นทำธุรกิจ ในทางกลับกัน ในตลาดที่มีการแข่งขันต่ำ ผู้ผลิตที่มีอำนาจตลาดมากอาจสามารถอยู่รอดได้ถึงแม้ว่าจะมีผลิตภาพต่ำ ทำให้ขาดแรงจูงใจในการลงทุน และยังเป็นการตัดโอกาสของผู้ผลิตรายใหม่ ๆ ในการเข้าสู่ตลาดอีกด้วย ดังนั้น ระดับการแข่งขันที่ลดลงในประเทศใดประเทศหนึ่ง จึงเป็นตัวฉุดรั้งการเติบโตของผลิตภาพ และความสามารถในการแข่งขันของประเทศนั้น ๆ ในตลาดโลก
ในช่วง 1 - 2 ปีที่ผ่านมา นักเศรษฐศาสตร์และผู้ดำเนินนโยบายในหลาย ๆ ประเทศมีความกังวลเกี่ยวกับสภาวะการแข่งขันภายในประเทศมากขึ้น เนื่องจากพบว่า (1) พลวัตธุรกิจ (business dynamism) ซึ่งวัดจากอัตราการเข้าและออกจากตลาดของบริษัท และการเคลื่อนย้ายปัจจัยการผลิต เช่น แรงงานระหว่างบริษัทมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง (2) การกระจุกตัวของตลาด (market concentration) ซึ่งมักถูกใช้เป็นตัวชี้วัดระดับการแข่งขัน มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น และ (3) อำนาจตลาดของบริษัท (market power) ซึ่งวัดจากสัดส่วนของราคาขายต่อต้นทุนหน่วยสุดท้าย (marginal cost) มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ข้อเท็จจริงเหล่านี้ ชี้ให้เห็นว่าหลาย ๆ ประเทศมีระดับการแข่งขันที่ต่ำลง นอกจากนี้ ยังมีงานวิจัยที่ชี้ว่า ระดับการแข่งขันที่ลดลงสามารถอธิบายการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำมาเป็นเวลานาน หรืออัตราการเติบโตของผลิตภาพรวมของประเทศที่ลดลงอีกด้วย
สำหรับในประเทศไทย ผู้เขียนทำการวิจัยโดยใช้ข้อมูลงบการเงินรายบริษัท จากกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ พบว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2549–2556 อัตราการเข้าและออกจากตลาดของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลง นอกจากนี้ ยังพบว่าอายุเฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนมีค่าเพิ่มขึ้น และส่วนแบ่งตลาดของบริษัทเกิดใหม่มีขนาดลดลง ข้อเท็จจริงทั้งหมดนี้ชี้ว่า พลวัตของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และเมื่อพิจารณาการกระจุกตัวของรายได้ โดยวัดจากส่วนแบ่งตลาดของบริษัทที่ใหญ่ที่สุด 4 บริษัทแรกในแต่ละอุตสาหกรรม พบว่า ในช่วงทศวรรษที่ผ่านมา รายได้ของบริษัทจดทะเบียนมีการกระจุกตัวมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคค้าส่งและค้าปลีก จากข้อค้นพบดังกล่าว เกิดคำถามที่สำคัญตามมาว่า การแข่งขันในประเทศไทยลดลงจริงหรือไม่ และการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจไทยอย่างไร
งานวิจัยชิ้นนี้ ต้องการตอบคำถามดังกล่าว โดยเริ่มจากศึกษาการเปลี่ยนแปลงของอำนาจตลาดของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย ผลการศึกษาชี้ว่า อำนาจตลาดของธุรกิจไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ภายหลังปี พ.ศ. 2554 เป็นต้นมา โดยการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวเกิดขึ้นในหลาย ๆ อุตสาหกรรม และไม่ได้จำกัดอยู่ในภาคการผลิตใดภาคการผลิตหนึ่ง นอกจากนี้ ผู้เขียนยังได้ขยายขอบเขตของการวิเคราะห์จากอำนาจตลาดของบริษัทโดยลำพัง ไปสู่อำนาจตลาดของเครือข่ายกลุ่มบริษัทที่เชื่อมโยงกันผ่านการถือครองหุ้น โดยพบว่า ความสัมพันธ์ของกลุ่มบริษัทที่อยู่ในธุรกิจที่แตกต่างกันถือเป็นการสร้างอำนาจตลาดในอีกรูปแบบหนึ่ง ซึ่งเป็นมุมมองใหม่สำหรับการวิเคราะห์ในกรณีของไทย โดยสรุป งานวิจัยชิ้นนี้พบว่า การแข่งขันในประเทศไทยมีแนวโน้มลดลงในหลาย ๆ อุตสาหกรรม
นอกจากนี้ เมื่อศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจตลาดและการตัดสินใจของบริษัท ผลการศึกษาชี้ว่า อำนาจตลาดและการอยู่ในเครือข่ายกลุ่มบริษัทสามารถอธิบายพฤติกรรมหรือลักษณะหลาย ๆ อย่างของบริษัทได้ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุน พลวัตของธุรกิจ รวมไปถึงการเติบโตของผลิตภาพ และการส่งออก งานวิจัยนี้ยังมีข้อค้นพบที่น่าสนใจอีกหลายประการที่ได้จากการประมวลผลข้อมูลขนาดใหญ่ ที่จะช่วยให้เราเข้าใจเกี่ยวกับธุรกิจและการแข่งขันมากขึ้น และนำไปสู่การออกแบบนโยบายที่เหมาะสม
คงไม่ใช่เรื่องแปลกมากนักหากเราจะเปรียบธุรกิจหรือผู้ประกอบการเสมือนนักกีฬาซึ่งล้วนมีเป้าหมายอยู่ที่ชัยชนะในเกมการแข่งขัน หนทางเดียวที่จะสร้างนักกีฬาที่มีศักยภาพที่พร้อมรับความท้าทายใหม่ ๆ และก้าวไปแข่งขันในระดับโลกได้ คือการสร้างสภาวะแวดล้อมของการแข่งขันที่เหมาะสม ให้โอกาสผู้เล่นใหม่ที่มีศักยภาพเข้าสู่สนามและให้ผู้เล่นเก่ามีแรงจูงใจที่จะฝึกฝนปรับปรุงตัวอยู่ตลอดเวลา การปฏิเสธการแข่งขันอาจสร้างผู้ชนะเพียงหนึ่งรายแต่หมายถึงความพ่ายแพ้ของทั้งระบบ ดังนั้น การส่งเสริมแข่งขันจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ประเทศไทยจะไปถึงจุดนั้นได้อย่างไร ผู้เขียนขอเชิญชวนทุกท่านเข้ารับฟังการนำเสนอผลงานวิจัยฉบับเต็มเรื่อง “ไม่แข่ง ยิ่งแพ้: อำนาจตลาดกับการยกระดับศักยภาพของธุรกิจ” ในงานสัมมนาวิชาการประจำปี 2562 ของธนาคารแห่งประเทศไทย ในหัวข้อ “พลิกโฉมเศรษฐกิจ พิชิตการแข่งขัน” ระหว่างวันที่ 30 กันยายน–1 ตุลาคม 2562 ณ โรงแรม Centara Grand at Central World (รายละเอียดที่ www.bot.or.th/BOTSymposium2019)
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย