​5 ความจริงยางพาราไทย : อดีตที่หายไป ความท้าทายใหม่ที่เข้ามา

​นายณรงค์ฤทธิ์ อดุลย์ฐานานุศักดิ์
นางสาวนราพร สังสะนา

ส่วนเศรษฐกิจภาคใต้ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) เปิดเผยว่า ยางพาราเป็นพืชที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจ และชีวิตของคนภาคใต้มานาน แต่ท่ามกลางบริบทที่เปลี่ยนไป ความจริงหลายอย่างได้กลายเป็นเพียงอดีต การเข้าใจและยอมรับการเปลี่ยนแปลงจะช่วยให้ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องปรับตัวได้อย่างเหมาะสม


1. ยางไทยยิ่งแข่งขัน ยิ่งลำบาก

ไทยเป็นผู้ผลิตยางอันดับ 1 ที่กำลังลำบากในการแข่งขันกับต่างประเทศ มาเลเซียได้ลดเนื้อที่ปลูกกว่า 18% เพื่อให้สอดคล้องกับต้นทุนแรงงานที่สูง ขณะที่เวียดนามมีต้นทุนที่ต่ำกว่าไทย ได้ขยายเนื้อที่ปลูกกว่า 1.2 เท่า ส่วนไทยมีต้นทุนแรงงานสูงกว่าเวียดนามกว่า 1.1 เท่า แต่กลับมีการขยายเนื้อที่ปลูกเพิ่มขึ้นมากกว่า 0.7 เท่า และยังมีสัดส่วนสินค้าปลายน้ำต่ำกว่าคู่แข่ง ในปัจจุบัน ราคายางไทยแพงสุดในโลก อาจทำให้ผู้ผลิตบางส่วนหันไปนำเข้าจากประเทศอื่นทดแทน


2. จีนคุมยาง หาทางคุมเกมส์

จีนไม่ใช่เพียงผู้ซื้อ แต่ยังมีส่วนเป็นเจ้าของโรงงานยางในไทยด้วย ส่งผลต่ออำนาจต่อรองของไทย โดยจีนกลายเป็นผู้ซื้อรายใหญ่ประมาณ 1 ใน 3 ของโลก มีไทยส่งออกยางสูงสุดคิดเป็นสัดส่วนเฉลี่ย (2556-61) 65% นอกจากนี้ ราคายางไทยยังถูกกำหนดมาจากตลาดล่วงหน้าในจีนหากเศรษฐกิจจีนและคู่ค้ามีปัญหาก็จะส่งผลกระทบต่อไทยตามไปด้วย



3. นโยบายภาครัฐช่วยให้ราคาเพิ่มขึ้นเพียงส่วนหนึ่ง

ภาครัฐได้ออกนโยบายช่วยเหลือ แต่เพราะราคาถูกกำหนดจากตลาดโลกเป็นหลักและมีปัจจัยอื่นๆ เกี่ยวข้องทำให้ราคาเพิ่มขึ้นได้ไม่มาก เช่น มาตรการโค่นยาง : เนื้อที่รวมยังเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง และยังมี 85 ปลูกใหม่เพิ่มขึ้นทุกปี มาตรการส่งเสริมการใช้ยางในประเทศ : สัดส่วนการใช้ค่อนข้างต่ำอยู่ที่ 15% ของผลผลิตไทย ขณะที่มาเลเซียมีสัดส่วนอยู่ที่ 85% และเวียดนาม 20% การใช้ยางในประเทศจึงช่วยลดผลผลิตส่วนเกินได้เพียงบางส่วน มาตรการจำกัดการส่งออก : ทำให้ผู้ประกอบการมีสต็อกยางเพิ่มขึ้น และเทขายทันทีเมื่อหมดมาตรการ นอกจากนี้ ยังมีการส่งออกเกินโควตา โดยประเทศที่ไม่อยู่ในกลุ่มคณะกรรมการบริษัทร่วมทุนยางพาราระหว่างประเทศ (IRco) ไม่มีภาระผูกผันต้องปฏิบัติตามได้ประโยชน์จากราคาที่เพิ่มขึ้นชั่วคราว เช่น เวียดนาม



4. ราคายางสัมพันธ์กับราคาน้ำมันลดลง

ราคายางสังเคราะห์สัมพันธ์กับน้ำมันดิบลดลง จากเดิมน้ำมันเป็นวัตถุดิบหลักในการผลิตยางสังเคราะห์ แต่ปัจจุบันสามารถผลิตได้จากวัตถุดิบอื่น (ก๊าซธรรมชาติ/เชลออลย์) ประกอบกับเทคโนโลยีการผลิตที่ดีขึ้น และคุณสมบัติเฉพาะและความหลากหลายในการใช้งานที่มากกว่า ทำให้การพึ่งพาน้ำมันน้อยลง ความสัมพันธ์ระหว่างราคาน้ำมันดิบกับยางธรรมชาติจึงลดลง



5. หวังให้ราคาขึ้นทั้งที่บริบทเปลี่ยนไป

ในอดีตราคายางพาราเคยสูงขึ้นกว่าปกติ 2 ครั้ง จากความต้องการใช้ที่สูง ครั้งแรก : ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 1 จากความต้องการใช้ทางทหาร และครั้งที่ 2 : ในช่วงปี 2553-54 จากการเติบโตของอุตสาหกรรมยานยนต์ในจีน แต่บริบทที่เปลี่ยนไปในปัจจุบัน ผลผลิตที่เพิ่มขึ้นเป็น 16 ล้านตัน ในอีก 6 ปีข้างหน้า (ปัจจุบัน 14 ล้านตัน) ผลผลิตส่วนเกินที่ยังเพิ่มขึ้นทุกปี และการทดแทนจากยางสังเคราะห์ทำให้ราคายางธรรมชาติในอนาคตอาจไม่สูงเหมือนในอดีต


ความจริงเหล่านี้เป็นปัญหาที่เกิดขึ้นกับห่วงโซ่การผลิตยางพาราไทย โดยการแก้ปัญหาที่เหมาะสมคือ การแก้ปัญหาโครงสร้างในระยะยาว เช่น การลดเนื้อที่ปลูกที่ไม่เหมาะสม การเพิ่มผลิตภาพ และการสร้างความเข้มแข็งให้เกษตรกร

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย