​ปัจจัยที่ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายผันผวนมากกว่าในอดีต

นางสาวธนภรณ์ หิรัญวงศ์

“ปรากฏการณ์เงินทุนเคลื่อนย้าย” ที่ผันผวนมากขึ้นในปัจจุบันคงสร้างความลำบากใจให้กับทางการของหลายประเทศไม่น้อย โดยเฉพาะประเทศตลาดเกิดใหม่ในแถบเอเชียและละตินอเมริกา ที่เห็นได้ชัดว่าเงินทุนเกิดการกลับทิศอย่างรวดเร็วจากที่เคยไหลเข้าในช่วงเดือนแรกๆ ของปีนี้มาเป็นไหลกลับออกไปอย่างรวดเร็วหลังจากที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ มีสัญญาณการฟื้นตัวดีขึ้น และทำให้ตลาดคาดการณ์ถึงความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ จะทยอยลดปริมาณการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่เศรษฐกิจ หรือ Quantitative Easing (QE) แต่เหตุการณ์ล่าสุดที่นายเบน เบอร์นันเก้ ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ได้ออกมายืนยันว่าเศรษฐกิจสหรัฐฯ ยังต้องการการกระตุ้นไปอีกระยะหนึ่ง ก็ทำให้เงินทุนเริ่มไหลกลับเข้ามายังประเทศตลาดเกิดใหม่อีกครั้ง

การที่เงินทุนไหลเข้าออกจากประเทศหนึ่งๆ อย่างรวดเร็วและรุนแรงขึ้น อาจส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจการเงินของประเทศนั้นๆ สั่นคลอนได้ และในระยะหลังมานี้ เงินทุนเคลื่อนย้ายและอัตราแลกเปลี่ยนในประเทศตลาดเกิดใหม่มักเคลื่อนไหวในทิศทางที่สอดคล้องกันมากขึ้น จึงอาจก่อให้เกิดความเสี่ยงเชิงระบบมากขึ้นด้วย กล่าวคือถ้าเศรษฐกิจของประเทศใดประเทศหนึ่งล่มก็จะทำให้ประเทศอื่นๆ ล่มตามไปด้วย หากจะพิจารณาถึงปัจจัยที่สามารถอธิบายปรากฏการณ์ของเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนและสอดคล้องกันมากขึ้นกว่าในอดีต อาจสามารถแบ่งได้ 4 ปัจจัยหลักๆ ซึ่งมีความเชื่อมโยงและส่งเสริมซึ่งกันและกัน ดังนี้

ปัจจัยแรก shocks ต่างๆ โดยเฉพาะ shocks จากภายนอกเกิดได้บ่อยขึ้น จากสภาพแวดล้อมที่เปลี่ยนแปลงไป ไม่ว่าจะเป็น (1) การเชื่อมโยงกันทางเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่ใกล้ชิดและซับซ้อนขึ้น (2) ความไม่สมดุลและความเปราะบางเชิงโครงสร้างของประเทศต่างๆ โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก และ (3) ความไม่แน่นอนที่มีมากขึ้นหลังวิกฤตเศรษฐกิจโลกเป็นต้นมา ซึ่งการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้ความเชื่อมั่นของนักลงทุนถูกบั่นทอนได้ง่ายจากปัจจัยลบต่างๆ และก่อให้เกิดผลกระทบต่อเศรษฐกิจในวงกว้างได้บ่อยขึ้น

ปัจจัยที่ 2 เงินทุนเคลื่อนย้ายมีปริมาณมากขึ้นเมื่อเทียบกับขนาดเศรษฐกิจ และเคลื่อนไหวในทิศทางที่ทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจของผู้รับเงินลงทุนแกว่งแรงขึ้น การเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายที่เพิ่มขึ้นในหลายๆ ประเทศ ประกอบกับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีการสื่อสารในปัจจุบัน เป็นปัจจัยที่ช่วยลดต้นทุนในการทำธุรกรรมต่างๆ และส่งเสริมให้มีการลงทุนระหว่างประเทศมากขึ้นกว่าในอดีต แต่การลงทุนที่ทำได้ง่ายขึ้นและข้อมูลข่าวสารที่กระจายได้รวดเร็วขึ้นก็ทำให้การลงทุนอ่อนไหวต่อปัจจัยทั้งด้านบวกและด้านลบมากขึ้นเช่นกัน ซึ่งการศึกษาที่ผ่านมาพบว่า เงินทุนเคลื่อนย้ายที่เข้ามายังตลาดเกิดใหม่มักเคลื่อนไหวตามวัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศนั้นๆ (procyclical) กล่าวคือ ในภาวะที่เศรษฐกิจเติบโตดีจะมีเงินทุนจากต่างประเทศไหลเข้ามาลงทุนมากขึ้น และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง เงินทุนก็จะไหลออก ซึ่งจะสร้างความผันผวนต่อเศรษฐกิจของประเทศผู้รับการลงทุนมากยิ่งขึ้น

ปัจจัยที่ 3 การส่งผ่านผลกระทบของ shocks ทวีความเข้มข้นขึ้น จากการที่เศรษฐกิจโลกมีการเชื่อมโยงกันมากขึ้นทั้งทางตรงและทางอ้อมผ่านช่องทางการค้า การลงทุน สถาบันการเงิน และการคาดการณ์ของนักลงทุน สำหรับการเชื่อมโยงด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศ ถึงจะมีมานานแล้ว แต่ก็เพิ่มความเข้มข้นขึ้นเป็นลำดับ โดยเฉพาะหลังจากที่เศรษฐกิจขนาดใหญ่อย่าง จีน รัสเซีย และอินเดีย เปิดเสรีด้านการค้าและการลงทุนมากขึ้น และการผลิตที่อยู่ในรูปแบบของเครือข่ายระหว่างประเทศ (global supply chains) ก็แพร่หลายมากขึ้น และอีกช่องทางหนึ่งที่เริ่มมีการพูดถึงกันมากก็คือ การเชื่อมโยงผ่านการคาดการณ์ของนักลงทุน โดย shock ที่เกิดขึ้น ณ จุดใดจุดหนึ่ง โดยเฉพาะในประเทศที่เชื่อมโยงกับประเทศอื่นสูง ก็จะทำให้การประเมินภาพเศรษฐกิจของประเทศอื่นๆ เปลี่ยนไปด้วย ซึ่งการคาดการณ์ของนักลงทุนนี้จะส่งผลต่อเงินทุนเคลื่อนย้ายได้เร็วกว่าช่องทางการค้าและการลงทุนตามปกติ ในลักษณะที่เรียกว่า self-fulfilling expectations หรือการคิดตามๆ กันและสุดท้ายสิ่งนั้นก็เกิดขึ้นจริง และสามารถเกิดขึ้นได้พร้อมๆ กันในหลายประเทศ โดยเฉพาะจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนต่อปัจจัยใหม่ๆ ที่ไม่ได้คาดไว้ล่วงหน้า เช่นในกรณีที่เพิ่งเกิดขึ้นที่ประธานธนาคารกลางสหรัฐฯ ออกมาให้สัญญาณว่าจะลดการทำ QE เร็วกว่าที่คาด

จากปัจจัยต่างๆ ข้างต้น ทำให้วัฏจักรเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ เป็นไปในทิศทางที่สอดคล้องกันมากขึ้น และมีความเสี่ยงที่ประเทศเหล่านั้นจะได้รับผลกระทบจาก shocks เหมือนๆ กัน

ปัจจัยสุดท้าย ข้อจำกัดของนโยบายการเงินและการคลังของประเทศต่างๆ มีมากขึ้น โดยเฉพาะประเทศเศรษฐกิจหลัก ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ศูนย์ และหนี้ภาครัฐอยู่ในระดับสูง ก็ยิ่งทำให้การคาดการณ์ข้างต้นส่งผลได้มากขึ้น เนื่องจากนักลงทุนมองว่าเศรษฐกิจของประเทศต่างๆ จะถูกกระทบจาก shocks รุนแรงขึ้นเพราะทางการมีขีดความสามารถจำกัดในการใช้เครื่องมือกระตุ้นเศรษฐกิจ

โดยสรุป ปัจจัยที่กล่าวมาข้างต้นทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายในประเทศตลาดเกิดใหม่รวมทั้งไทยมีแนวโน้มผันผวนมากขึ้นกว่าในอดีต ซึ่งจะเป็นผลจากปัจจัยภายนอกมากขึ้น โดยเฉพาะปัจจัยเชิงจิตวิทยาของนักลงทุนในช่วงที่เศรษฐกิจโลกยังมีความไม่แน่นอนสูง และในบางครั้งอาจอยู่เหนือความสามารถในการควบคุมของแต่ละประเทศ ดังนั้น ทุกภาคส่วนที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคธุรกิจควรให้ความสำคัญกับการปรับตัวเพื่อสร้างความแข็งแกร่งเชิงโครงสร้างของประเทศ และการมีระบบบริหารจัดการความเสี่ยงที่เหมาะสมเพื่อเตรียมพร้อมรับมือกับความผันผวนจากความเชื่อมโยงของเศรษฐกิจโลกที่สูงขึ้นนี้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย