​ ธุรกิจแบบดิจิทัล: แนวทางเพิ่มศักยภาพของธุรกิจไทย

นางสาวทัชชา ตรีเนตร

ในโลกธุรกิจที่มีการแข่งขันและเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ธุรกิจต้องปรับตัวและพัฒนาความสามารถในการแข่งขันอย่างต่อเนื่องจึงจะอยู่รอดได้ หลักการพื้นฐานในการเพิ่มศักยภาพการแข่งขันด้านการผลิต ส่วนใหญ่หมายถึงการผลิตในจำนวนมาก ๆ เพื่อให้ต้นทุนการผลิตเฉลี่ยต่อหน่วยสินค้าต่ำลง ช่วยให้ธุรกิจมีความสามารถในการแข่งขันจากต้นทุนสินค้าที่ต่ำกว่าคู่แข่ง หรือที่เรียกว่าการประหยัดจากขนาด (Economy of scale) ต่อมาทิศทางการยกระดับศักยภาพด้วยการทำธุรกิจหลายประเภทที่มีความเชื่อมโยงกัน (Supply chain) เพื่อให้ใช้ทรัพยากรหรือปัจจัยการผลิตร่วมกันได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หรือที่เรียกว่าการประหยัดจากขอบเขต (Economy of scope) ก็เป็นอีกแนวทางหนึ่งที่สามารถยกระดับการแข่งขันของธุรกิจได้

ในยุคเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างทุกวันนี้ การทำธุรกิจต้องเผชิญความท้าทายจากหลายด้าน ไม่ว่าจะเป็นเศรษฐกิจและเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงรวดเร็ว การแข่งขันที่สูงขึ้นทั้งจากภายในและภายนอกประเทศ และพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป การปรับตัวแบบเดิมๆ อาจไม่เพียงพอ ธุรกิจคงต้องมองไปถึงการเพิ่มศักยภาพของธุรกิจด้วยความเร็ว หรือที่เรียกว่า Economy of speed ซึ่งเป็นการใช้นวัตกรรมและเทคโนโลยีมาเพิ่มศักยภาพของธุรกิจในด้านต่างๆ เช่น การลดเวลาและต้นทุนในการผลิต การพัฒนาสินค้าได้รวดเร็วขึ้น ให้บริการได้รวดเร็วทันใจตรงความต้องการลูกค้ามากขึ้น เป็นต้น การเพิ่มศักยภาพธุรกิจด้วยความเร็วนั้น ธุรกิจจาเป็นต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการภายในธุรกิจ จากเดิมที่ใช้เอกสารกระดาษและใช้พนักงานจำนวนมาก ให้เป็นกระบวนทางอิเล็กทรอนิกส์ที่ส่งข้อมูลระหว่างฝ่ายงานได้รวดเร็วและทางานได้โดยอัตโนมัติ (Straight-Through Processing) ซึ่งเป็นแนวทางที่หลายประเทศใช้และประสบความสำเร็จมาแล้ว เช่น เกาหลี จีน

การประยุกต์ใช้เครื่องมือหรือเทคโนโลยีทางอิเล็กทรอนิกส์หรือดิจิทัลเข้ามาในกระบวนการทำธุรกิจ (ที่เรียกว่า Digital business transformation) อาจฟังดูเหมือนเป็นเรื่องใหญ่และเป็นยาขมของทุกองค์กร แต่ความจริงแล้ว ธุรกิจสามารถเลือกได้ว่าจะปรับกระบวนการในส่วนไหนของห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) ตั้งแต่การผลิต การจัดการสินค้าคงคลัง การพัฒนาผลิตภัณฑ์ การบริหารทรัพยากรบุคคล การจัดการบัญชี และการเงิน ไปจนถึงการชำระเงิน โดยอาจจะปรับหลายส่วนพร้อมกันเพื่อให้เชื่อมโยงกันได้อย่างครบวงจร หรือเลือกปรับใช้เฉพาะบางกระบวนการตามความจำเป็นและเหมาะสมก็เป็นได้ เช่น

ภาคธุรกิจหลายรายปรับใช้เทคโนโลยีให้กระบวนการวางกลยุทธ์/การวางแผนในการผลิตให้เป็นรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ โดยเชื่อมโยงข้อมูลสถิติจากระบบการขาย เพื่อประมวลผลและวิเคราะห์การวางแผนการผลิต และเชื่อมโยงไปถึงการคำนวณปริมาณความต้องการจัดซื้อวัตถุดิบ ทำให้ธุรกิจสามารถจัดสรรทรัพยากรในการผลิตได้อย่างเหมาะสม สอดคล้องกับปริมาณความต้องการสินค้าและเวลาที่ลูกค้าต้องการได้ ซึ่งแน่นอนว่าจะช่วยลดต้นทุน ลดเวลา สร้างความต่อเนื่องให้กับสายการผลิต และป้องกันข้อผิดพลาดในแต่ละขั้นตอนการผลิต

ธุรกิจอาจพิจารณาปรับ กระบวนการสั่งซื้อ ให้เป็นอิเล็กทรอนิกส์ โดยในปัจจุบันธุรกิจขนาดใหญ่หลายแห่งได้มีการแลกเปลี่ยนข้อมูลคำสั่งซื้อ (e-Purchase Order) กับคู่ค้าผ่านระบบที่เรียกว่า EDI (Electronic Data Interchange) และเชื่อมโยงเข้าระบบการจัดซื้อจัดจ้างอิเล็กทรอนิกส์ (e-Procurement) ทำให้กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างและการอนุมัติคำสั่งซื้อ มีความสะดวกรวดเร็ว สามารถประหยัดต้นทุนและระยะเวลาได้มากขึ้น

การจัดจำหน่ายและการขนส่ง (Logistics) เป็นอีกกระบวนการหนึ่งที่ภาคธุรกิจปรับเปลี่ยนไป สู่ความเป็นอิเล็กทรอนิกส์ได้ โดยใช้เทคโนโลยีเชื่อมโยงข้อมูลในการกระจายสินค้าและการจัดการคลังสินค้า เพื่อตอบสนองคำสั่งซื้อของลูกค้าได้อย่างมีประสิทธิภาพ ตัวอย่างเช่น Walmart บริษัทค้าปลีกยักษ์ใหญ่ของอเมริกาที่มีสาขากระจายอยู่ทั่วโลก ได้นำเทคโนโลยี RFID (Radio frequency identification) ซึ่งอาศัยคลื่นวิทยุในการระบุสินค้าต่างๆ มาใช้ในกระบวนการจัดส่งสินค้า ทำให้ประหยัดค่าใช้จ่ายแรงงานได้ประมาณ 2 แสนล้านบาทต่อปี สินค้าสูญหายลดลงประมาณ 6 หมื่นล้านบาท และค่าใช้จ่ายในการจัดเก็บสินค้าลดลง ราว 25% นอกจากนี้ Walmart ยังได้นาระบบ GPS (Global Positioning System) หรือระบบบอกตำแหน่ง มาช่วยในการจัดการขนส่งเพื่อช่วยในการระบุตำแหน่งและติดตามสินค้าได้แบบทันที (Real time e-tracking)

การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในกระบวนการทำธุรกิจ ยังรวมไปถึงกระบวนการในส่วนหน้าร้านที่ต้องติดต่อกับลูกค้า ไม่ว่าจะเป็นด้านการขายและการตลาด โดยธุรกิจสามารถพัฒนาการขายสินค้าและบริการผ่านช่องทางพาณิชย์ทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce/m-Commerce) รวมถึงการใช้สื่อสังคมออนไลน์ (Social media) ที่เป็นที่นิยมและกาลังเป็นกระแสอยู่ในปัจจุบันนี้ ในการสร้างโอกาสทางธุรกิจ เพิ่มช่องทางการค้า ขยายตลาดและฐานลูกค้าทั้งในและต่างประเทศได้อีกทางหนึ่งด้วย

นอกจากนี้แล้ว ธุรกิจอาจเลือกใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์ (e-Invoice) แทนการใช้เอกสารกระดาษ ซึ่งนอกจากจะช่วยลดภาระในการจัดการข้อมูลและเอกสารต่างๆ เช่น การกรอกข้อมูล การส่งเอกสาร และการอนุมัติรายการแล้ว ยังสามารถเชื่อมโยงข้อมูลการทำการค้ากับหน่วยงานอื่นๆ เช่น บริษัทคู่ค้า หรือหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ได้ด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดความผิดพลาดและตรวจสอบข้อมูลได้ง่าย โดยสถิติ ของกลุ่มประเทศยุโรป 16 ประเทศพบว่า ต้นทุนของการใช้ใบแจ้งหนี้กระดาษ 1 ใบอยู่ที่ประมาณ 1.13-1.65 ยูโร หรือราว 42-62 บาท ซึ่งถ้าธุรกิจเปลี่ยนมาใช้ใบแจ้งหนี้อิเล็กทรอนิกส์จะทาให้ต้นทุนลดลงไปได้ถึง 70-75% เลยทีเดียว

เรื่องสำคัญอีกเรื่องหนึ่งที่ขาดไม่ได้ คือ เรื่องการชำระเงิน ซึ่งจะมาเกี่ยวข้องอยู่ในเกือบทุกขั้นตอน ของกระบวนการทำธุรกิจ ตั้งแต่การชำระเงินให้กับซัพพลายเออร์ การจ่ายค่าใช้จ่ายดำเนินงานต่างๆ ของบริษัท การจ่ายเงินเดือนพนักงาน รวมถึงการรับชำระเงินค่าขายสินค้าจากตัวแทนจาหน่ายและลูกค้า การปรับใช้ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (e-Payment) เช่น การโอนเงิน การใช้บัตรเดบิต บัตรเครดิต หรือเงินอิเล็กทรอนิกส์ แทนการใช้เช็คและเงินสด จะช่วยเพิ่มความสะดวก ลดความผิดพลาด และลดค่าใช้จ่ายต่างๆ เช่น ค่าใช้จ่ายในการรับส่งเช็คและนำฝากเช็คและเงินสด ค่าเอกสารต่างๆ ที่ใช้ในขั้นตอนการขออนุมัติ ค่าจัดเก็บเอกสาร เป็นต้น ที่สำคัญ ยังทำให้ธุรกิจได้รับเงินหมุนเวียนเร็วขึ้น ไม่ต้องเสียเวลานาฝากเช็คหรือ รอเช็คเรียกเก็บ ช่วยให้บริหารเงินได้สะดวก คล่องตัว และต่อยอดธุรกิจได้ดีขึ้น

การปรับตัวไปสู่การทำธุรกิจแบบดิจิทัลที่กล่าวมาแล้ว เป็นอีกหนึ่งกลยุทธ์สำคัญที่ท้าทายภาคธุรกิจในยุคนี้ ด้วยการผสมผสานการใช้เทคโนโลยีในการปรับปรุงกระบวนการทำธุรกิจได้ในหลายขั้นตอน ซึ่งหากทำได้ก็ถือว่าเป็นการยิงกระสุนนัดเดียวได้นกถึง 2 ตัว เพราะนอกจากจะช่วยลดต้นทุนในการดำเนินธุรกิจแล้ว ยังช่วยเพิ่มโอกาสทางธุรกิจผ่านการเพิ่มช่องทางการค้าและการตลาดให้กับธุรกิจด้วย ซึ่งจะช่วยเพิ่มศักยภาพให้ธุรกิจไทยสามารถแข่งขันในโลกธุรกิจในยุคดิจิทัลได้อย่างเข้มแข็ง หากภาคธุรกิจยังไม่ตระหนักถึงความจำเป็นในการยกระดับศักยภาพการแข่งขันด้วยหลัก Economy of speed แล้ว ก็อาจพลาดโอกาสให้กับคู่แข่งไปอย่างน่าเสียดาย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย