​ข้อเสนอแนวทางการแก้ไข ปัญหาหนี้ค้างชำระของ กยศ.

​ส่วนที่ 1 สาเหตุของปัญหาหนี้ กยศ.

1. สำหรับผู้ที่สนใจในปัญหาหนี้สิน หนี้ กยศ. ถือเป็นหนึ่งในเรื่องที่น่าสนใจ เพราะนอกจากจะเป็นปัญหาที่เกี่ยวข้องกับประชาชนจำนวนมากนับล้านคนแล้ว ถ้ามองย้อนกลับไปในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา หนี้ กยศ. เป็นหนี้ที่มีอัตราหนี้เสียสูงสุด (NPLs) ในประวัติศาสตร์เศรษฐกิจของไทย สูงกว่าช่วงต้มยำกุ้งที่ NPLs สูงสุดที่ 47% สะท้อนความไม่ปกติและปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้ที่ต้องปฏิรูปแก้ไขอย่างเร่งด่วน และทำให้เกิดข้อสงสัยว่าอะไรเป็นสาเหตุของการที่ประชาชนจำนวนมากที่กู้ กยศ. ไม่สามารถที่จะจ่ายหนี้คืนได้ ปัจจุบันประชาชนที่อยู่ระหว่างชำระหนี้ของ กยศ. ประมาณ 3.6 ล้านราย พบว่ามีจำนวนประชาชนที่ผิดนัดชำระหนี้สูงกว่า 2.3 ล้านราย



2. ปัญหาหนี้ กยศ. เหมือนภูเขาน้ำแข็ง มองจากภายนอกอาจจะเห็นว่าสาเหตุของการผิดชำระหนี้ของประชาชนกว่า 2 ล้านคนตามที่ กยศ. ระบุไว้ จะมาจากความยากจน การขาดวินัยทางการเงิน และทัศนคติที่ว่าหนี้ กยศ. ไม่จำเป็นที่จะต้องชำระคืน แต่อย่างไรก็ดี ถ้าไปสอบถามประชาชนถึงสาเหตุที่ทำให้ไม่สามารถจะชำระหนี้ได้ คำตอบที่ได้รับอาจจะต่างกันชนิดที่เรียกว่าหนังคนละม้วน เพราะแท้จริงแล้วต้นเหตุ คือ ปัญหาเชิงโครงสร้างของเงินกู้นี้ในหลายมิติ


3. ในการชำระหนี้คืน กยศ. กำหนดให้ผู้กู้จ่ายชำระคืนหนี้เป็น “รายปี” (yearly installment) ภายในวันที่ 5 กรกฎาคม ของทุกปี โดยจะต้องชำระหนี้ให้เสร็จสิ้นภายใน 15 ปี นับตั้งแต่วันที่ต้องเริ่มจ่ายชำระคืนเป็นรายปี ทั้งนี้ เมื่อเรียนจบ กยศ. จะให้ระยะเวลาปลอดการชำระหนี้เป็นเวลา 2 ปี และเมื่อต้องเริ่มจ่ายหนี้คืน กยศ. กำหนด ค่างวดที่ต้องชำระในปีแรกเพียง 1.5% ของเงินที่กู้ยืม แต่จะทยอยปรับขึ้น (progressive) อย่างต่อเนื่องจนปีสุดท้ายจะต้องชำระคืน 13% ของเงินที่กู้ยืมไปทั้งหมด


4. แม้จะมีประชาชนมากู้เงินจาก กยศ. มากกว่า 5 ล้านคนทั่วประเทศ แต่ กยศ. มีรูปแบบการชำระคืนหนี้เพียงรูปแบบเดียว (one size fits all) ตามที่ได้กล่าวข้างต้น ซึ่งการกำหนดให้ต้องชำระหนี้คืนเป็นรายปี (yearly installment) แม้จะง่ายสำหรับ กยศ. ในการบริหารจัดการ แต่สำหรับประชาชนที่กู้ซึ่งส่วนใหญ่ฐานะครอบครัวไม่ค่อยดีและเงินเก็บไม่ค่อยมี ถือเป็นเรื่องที่ท้าทายอย่างยิ่ง เพราะการที่จะสามารถผ่อนชำระหนี้รายปีได้ จะต้องมีการเก็บหอมรอมริบเป็นอย่างดีทุกเดือนไม่ให้ขาด ความท้าทายชัดเจนขึ้นในช่วงปีที่ 6-7 เป็นต้นไป ที่เริ่มจะเห็นการผิดนัดชำระหนี้มากขึ้นตามลำดับ ตามค่างวดรายปีที่ต้องจ่ายสูงขึ้นทุกปี จากตัวอย่างการกู้เงิน 1 แสนบาท ในปีที่ 6 จะต้องใช้คืนมากกว่า 5 พันบาท



5. อีกสองปัจจัยสำคัญที่กลายเป็นอุปสรรคที่ทำให้ผู้กู้ชำระหนี้ไม่ได้ คือ 1) อัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่กำหนดไว้ในอัตราที่สูงถึง 1.5% ต่อเดือนหรือ 18% ต่อปี (ปัจจุบัน 7.5% ต่อปี ซึ่งนับว่ายังสูงมากเมื่อเทียบกับดอกเบี้ยกู้ 1%) และ 2) ลำดับการตัดชำระที่กำหนดไว้ว่า เมื่อผู้กู้จ่ายหนี้เข้ามาให้นำไปตัด (1) ค่าธรรมเนียม (2) ดอกเบี้ย (3) เงินต้น (เป็นลำดับสุดท้าย) กล่าวคือ เมื่อผู้กู้เกิดผิดนัดชำระหนี้ ดอกเบี้ยที่เดิมเคยชำระอยู่ที่เพียง 1%ต่อปีจะปรับสูงขึ้นเป็น 18% ต่อปี ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่สูงลิ่ว ประกอบกับลำดับการตัดชำระหนี้ที่ผู้กู้ชำระหนี้เข้ามาจะนำไปตัดค่าธรรมเนียม ตามด้วยดอกเบี้ย ทั้งส่วนที่เป็นดอกเบี้ยตามสัญญาและดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ก่อน แล้วถึงจะตัดถึงส่วนของเงินต้น หากผู้กู้มีการค้างชำระหลายงวด ปัญหาจะยิ่งรุนแรงขึ้นเพราะจ่ายเท่าไร ตัดไม่ถึงเงินต้นสักที



6. การกำหนดอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ไว้อย่างสูงลิ่ว และการกำหนดลำดับการตัดชำระหนี้เช่นนี้ ทำให้แม้ผู้กู้ กยศ. จะมีความพยายามจ่ายหนี้เข้ามา แต่ถ้าไม่เพียงพอที่จะตัดถึงส่วนของเงินต้นตามที่กำหนด ก็จะยังถือว่าผิดนัดชำระหนี้อย่างต่อเนื่อง จนผู้กู้จำนวนไม่น้อยเกิดความท้อแท้และหยุดจ่ายหนี้ในที่สุด ดังตัวอย่างเคสที่แสดงในรูปเป็นหนี้รวม 705,914 บาทแบ่งเป็นส่วนเงินต้น 322,635 บาท ดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ 356,531 บาท ในกรณีนี้ผู้กู้จำเป็นต้องจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ที่ค้างทั้งหมดก่อน เงินที่ชำระหนี้ถึงจะสามารถนำไปตัดเงินต้นได้ ซึ่งยากมากที่ผู้กู้จะหาเงินก้อนมาจ่ายดอกเบี้ยผิดนัดได้ เมื่อจ่ายเท่าไร เงินต้นไม่ลดลง และยังผิดนัดชำระหนี้ต่อเนื่อง จึงเลิกจ่ายหนี้ในที่สุด ดังนั้นอาจจะกล่าวได้ว่ารูปแบบของการผ่อนชำระหนี้ ตลอดจนอัตราดอกเบี้ยผิดนัดชำระหนี้ รวมทั้งลำดับการตัดชำระหนี้ที่ทาง กยศ. กำหนดก็มีส่วนเช่นกันที่ทำให้ลูกหนี้จ่ายหนี้ไม่ได้

article_210623_13.png