ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน
เศรษฐกิจไทยเจอมรสุมหลายลูกพัดผ่านเข้ามา ปีที่แล้วก็โดนหางเลขจากสงครามการค้าสหรัฐฯ และจีนทำให้ส่งออกไทยหดตัว ปีนี้มาเจอภัยแล้งที่ส่อเค้าว่าจะรุนแรงนานถึงกลางปี การผ่านร่าง พ.ร.บ. งบประมาณปี 2563 ที่ล่าช้ากว่าปกติเพราะเกิดสะดุดในช่วงต้นปีทำให้รัฐบาลใช้จ่ายได้ไม่เต็มที่ ล่าสุดมาเจอไวรัส COVID-19 ที่แพร่ระบาดจากจีนไปทั่วโลกทำให้การท่องเที่ยวไทยซบเซา โยงไปถึงการผลิต การลงทุน และการบริโภค กระทบต่อรายได้ธุรกิจและแรงงานเป็นวงกว้างขึ้น ตั้งแต่ต้นปีมานี้ภาครัฐได้เร่งออกมาตรการช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์นี้อย่างต่อเนื่อง วันนี้จึงอยากชวนทุกท่านลองดูว่า ภาครัฐร่วมมือกันทำอะไรไปบ้างแล้ว เพื่อให้เท่าทันสถานการณ์และรับประโยชน์จากมาตรการที่ออกมาได้ ซึ่งพอจะสรุปได้ดังนี้
1. มาตรการการเงินช่วยเสริมสภาพคล่องและแบ่งเบาภาระ รัฐบาลออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ได้รับผลกระทบทางตรงและทางอ้อมจาก COVID-19 ผ่านธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจ (Soft Loan) คิดอัตราดอกเบี้ย 2% ระยะเวลา 2 ปี รายละไม่เกิน 20 ล้านบาท วงเงินสินเชื่อรวม 150,000 ล้านบาท มาตรการพักต้น ลดดอกเบี้ย และขยายเวลาชำระหนี้ให้ลูกหนี้ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 รวมถึงให้สินเชื่อใหม่ช่วยเสริมสภาพคล่อง มาตรการสินเชื่อเพื่อส่งเสริมการจ้างงานต่อของสำนักงานประกันสังคม (สปส.) คิดอัตราดอกเบี้ยเริ่มต้น 3% ระยะเวลา 3 ปี สำหรับผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคม วงเงินสินเชื่อรวม 30,000 ล้านบาท มาตรการค้ำประกันสินเชื่อผ่านบรรษัทประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) ภายใต้โครงการ “บสย. SMEs สร้างไทย ต่อเติม เสริมทุน” สำหรับลูกค้า SMEs รายปัจจุบันและรายใหม่ที่ได้รับผลกระทบ โดยให้วงเงินค้ำประกันเต็มจำนวนเงินกู้ใหม่ไม่เกิน 30 ล้านบาทต่อราย ระยะเวลา 10 ปี ฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน 2 ปีแรก วงเงินค้ำประกันสินเชื่อรวม 60,000 ล้านบาท และให้ขยายระยะเวลาโครงการค้ำประกันสินเชื่อ Portfolio Guarantee Scheme (PGS) ระยะ 5-7 ที่มีอยู่เดิมไปอีก 5 ปี และฟรีค่าธรรมเนียมค้ำประกัน
ด้านแบงก์ชาติออกมาตรการให้ความช่วยเหลือลูกหนี้ของสถาบันการเงินที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์เศรษฐกิจ ระยะเวลา 2 ปี ช่วยเหลือลูกหนี้ทุกประเภท เช่น (1) ลูกหนี้บัตรเครดิตและสินเชื่อส่วนบุคคล สามารถขอผ่อนบัตรเครดิตขั้นต่ำน้อยกว่า 10% ของยอดที่ค้าง ขอเปลี่ยนหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาวที่ดอกเบี้ยถูกลง (2) ลูกหนี้สินเชื่ออื่นๆ สามารถเจรจาประนอมหนี้ เช่น ขอขยายเวลาชำระหนี้ ขอต่ออายุวงเงิน ขอเปลี่ยนหนี้เป็นสินเชื่อระยะยาว ขอชำระหนี้แบบปลอดเงินต้น ขอลดดอกเบี้ย/เบี้ยปรับ/ค่าธรรมเนียม โดยแบงก์ชาติลดความเข้มงวดของเกณฑ์กำกับดูแลการจัดชั้นลูกหนี้ของสถาบันการเงินลง เพื่อลดผลกระทบความเสี่ยงด้านเครดิตของลูกหนี้ที่จะเกิดขึ้นกับสถาบันการเงินในช่วง 2 ปีนี้
2. มาตรการภาษีช่วยบรรเทาผลกระทบให้ผู้ประกอบการ รัฐบาลออกมาตรการคืนสภาพคล่อง ลดอัตราภาษี ณ ที่จ่ายจาก 3% เหลือ 1.5% ของเงินได้พึงประเมินช่วง เม.ย. - ก.ย. 63 มาตรการลดภาระดอกเบี้ยให้ SMEs ที่เข้าร่วมโครงการ Soft Loan หักลดหย่อนภาษีจากรายจ่ายดอกเบี้ยช่วง เม.ย. - ธ.ค. 63 ได้ 1.5 เท่า มาตรการส่งเสริมเสถียรภาพการจ้างงาน SMEs หักลดหย่อนภาษีจากรายจ่ายค่าจ้างให้ลูกจ้างที่เป็นผู้ประกันตนได้ถึง 3 เท่า
3. มาตรการอื่นๆ ช่วยลดภาระผู้ประกอบการและประชาชนทั่วไป เช่น มาตรการขยายเวลายื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาปี 2562 ออกไป 3 เดือนเป็นภายใน มิ.ย. 63 มาตรการบรรเทาภาระค่าน้ำค่าไฟฟ้า ขยายเวลาชำระ และคืนค่าประกันการใช้น้ำใช้ไฟฟ้า ลดค่าน้ำและค่าไฟ 3% เป็นเวลา 3 เดือน (เม.ย. - มิ.ย. 63) ขยายเวลาชำระค่าน้ำและค่าไฟสำหรับธุรกิจโรงแรมและกิจการให้เช่าพักอาศัย โดยให้ผ่อนผันได้ไม่เกิน 6 เดือนของแต่ละรอบบิล ไม่คิดดอกเบี้ย สำหรับใบแจ้งค่าน้ำค่าไฟรอบเดือน เม.ย. - พ.ค. 63 มาตรการลดเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคมจาก 5% เหลือ 4% เป็นเวลา 6 เดือนในช่วง มี.ค. - ส.ค. 63
แม้เศรษฐกิจไทยอาจโชคไม่ดีที่พึ่งพาการท่องเที่ยวจากจีนเยอะ และเหลือ policy space ของนโยบายการเงินผ่านเครื่องมืออัตราดอกเบี้ยนโยบายไม่มาก แต่ยังโชคดีที่ policy space ของนโยบายการคลังยังพอมี และภาครัฐยังสามารถออกชุดมาตรการการเงินการคลังช่วยเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบเป็นระยะเราจึงควรติดตามการผนึกพลังเครื่องมือการเงินการคลังของภาครัฐอย่างใกล้ชิด เพื่อจะได้ใช้ประโยชน์จากชุดมาตรการช่วยผ่อนหนักให้เป็นเบา และช่วยกันสะท้อนให้ภาครัฐรู้ว่ายังต้องเร่งทำอะไรเพิ่มอีก เพื่อบรรเทาสถานการณ์ให้ได้ผลจริงและตรงจุดมากขึ้น