ในยุคของเทคโนโลยีสมัยใหม่ ข้อมูลถือเป็นหนึ่งใน “ทรัพย์สินที่มีมูลค่ามหาศาล” ที่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มทางธุรกิจได้อย่างไร้ขีดจำกัด ปัญหาในปัจจุบัน คือ ข้อมูลจำนวนมากถูกจัดเก็บอย่างกระจัดกระจาย ไม่มีการเชื่อมโยง ยังไม่ได้ถูกนำมาใช้ให้ประโยชน์แก่ประชาชนเจ้าของข้อมูลได้ดีเท่าที่ควร
Open Data ทำให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบใหม่ๆ
หลาย ๆ ประเทศมีแนวคิดปลดล็อกการบริหารจัดการ เชื่อมโยง และใช้ประโยชน์จากข้อมูลที่มีมากมายมหาศาล โดยสร้างกลไกให้เจ้าของข้อมูลมีสิทธิอนุญาตให้องค์กรต่าง ๆ เปิดเผยหรือแลกเปลี่ยนข้อมูลตนเองให้แก่ผู้ให้บริการบุคคลที่สาม (Third-party service provider) เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และนำเสนอบริการที่สามารถตอบโจทย์ความต้องการและสร้างประโยชน์แก่ตนเองซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลได้ ภายใต้การมีธรรมาภิบาลข้อมูลที่ดีและการรักษาความลับของข้อมูลอย่างเคร่งครัด ซึ่งนโยบายลักษณะนี้เรียกว่า “Open Data” ที่หลายประเทศได้ทำเช่น สิงคโปร์ เกาหลีใต้ และออสเตรเลีย กำหนดให้มีการเปิดเผยข้อมูลที่ถูกจัดเก็บอยู่ในหน่วยงานภาครัฐ เช่น ข้อมูลกองทุนบำเหน็จบำนาญ ข้อมูลการถือครองอสังหาริมทรัพย์ หรือข้อมูลที่ถูกเก็บอยู่ในภาคการเงิน เช่น ข้อมูลบัญชีเงินฝาก ข้อมูลการถือครองตราสารหนี้และหลักทรัพย์ในบัญชีการลงทุน เป็นต้น
หากมองถึงข้อมูลที่มีอยู่ในภาคการเงินที่มีหลากหลาย เช่น ข้อมูลการออมเงิน การใช้จ่ายเงิน การกู้ยืมเงิน การลงทุน ซึ่งสามารถนำมาใช้พัฒนาให้เกิดนวัตกรรมทางการเงินในรูปแบบต่าง ๆ ที่จะเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้ใช้บริการโดยตรง และเป็นการสร้างโอกาสของธุรกิจใหม่ ๆ จากการเข้าใจความต้องการทางการเงินของลูกค้าแต่ละราย อีกทั้งช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้ดียิ่งขึ้น เช่น การมีแอปพลิเคชันที่รวมข้อมูลทางการเงินได้ครบในที่เดียว ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลบัญชีเงินฝากจากทุกธนาคาร ข้อมูลการใช้จ่ายบัตรเครดิตทุกใบ ข้อมูลการลงทุนกองทุนรวมทุกกอง ซึ่งจะช่วยให้เจ้าของข้อมูลสามารถเห็นภาพที่ครบถ้วน บริหารจัดการและวางแผนทางการเงินของตนเองได้ง่ายขึ้น
Open Data ช่วยลดต้นทุนทางการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจได้
ประชาชนและภาคธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจคนตัวเล็กที่ยังไม่มีข้อมูลทางการเงินมากพอ สามารถใช้ประโยชน์จากการเชื่อมโยงข้อมูลประเภทอื่น (alternative data) ที่ตนเองมีอยู่กับหน่วยงานทั้งภาครัฐและเอกชน เช่น ข้อมูลการใช้ไฟฟ้าและน้ำประปา ข้อมูลการค้าขายสินค้าบนแพลตฟอร์มต่าง ๆ มาใช้ประกอบการขอสินเชื่อได้ง่ายและสะดวกขึ้น ในทางกลับกัน สถาบันการเงินหรือผู้ให้บริการทางการเงินจะมีข้อมูลเพียงพอที่จะประเมินความเสี่ยงของลูกค้าให้สอดคล้องกับความเป็นจริง สามารถพิจารณาอัตราดอกเบี้ยได้เหมาะสมกับผู้กู้ และอนุมัติสินเชื่อได้รวดเร็วยิ่งขึ้น อันจะช่วยลดต้นทุนทางการเงินของประชาชนและภาคธุรกิจได้ จากผลการศึกษาของ McKinsey Global Institute ชี้ว่า การปลดล็อกการนำข้อมูลทางการเงินไปใช้ประโยชน์ได้อย่างมีประสิทธิภาพ จะช่วยสร้างมูลค่าเพิ่มทางเศรษฐกิจถึงประมาณร้อยละ 1 - 5 ของ GDP
ภายใต้แนวความคิดของ Open Data ปลดล็อกให้ข้อมูลที่มีอยู่ในหน่วยงานต่าง ๆ สามารถไหลเวียน เชื่อมโยง และแลกเปลี่ยนกันได้ จะช่วยให้ประชาชนซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลสามารถควบคุมการใช้ข้อมูลของตนเองได้อย่างแท้จริง และเอื้อให้ภาคธุรกิจสามารถออกแบบผลิตภัณฑ์และบริการทางการเงินที่ตอบโจทย์และยึดลูกค้าหรือประชาชนเป็นที่ตั้ง (customer centric) มากขึ้นจะเป็นกลยุทธ์สำคัญในการสร้างความสำเร็จให้กับธุรกิจในโลกยุคดิจิทัล ได้มาทดแทนแนวคิดแบบเดิม ๆ ที่มุ่งเน้นตัวสินค้าและบริการเป็นหลัก (product centric) และสิ่งสำคัญที่สุดคือ การยกระดับการรักษาความเป็นส่วนตัวและความมั่นคงปลอดภัยของข้อมูลที่รัดกุมขึ้นถือเป็นหัวใจสำคัญในการดำเนินธุรกิจในอนาคต ซึ่งในทุกประเทศที่กล่าวมาข้างต้นได้ให้ความสำคัญและกำหนดมาตรการที่เข้มงวดในการรักษาความมั่นคงปลอดภัยด้านข้อมูล นอกจากนี้ การรับส่งข้อมูลจะทำได้เฉพาะเมื่อได้รับคำสั่งหรือความยินยอมจากเจ้าของข้อมูลก่อนเท่านั้น และจะนำข้อมูลไปใช้ จะใช้ประโยชน์จากข้อมูลนอกเหนือไปจากขอบเขตที่ได้รับอนุญาตจากเจ้าของข้อมูลไม่ได้
dStatement ช่วยสร้างระบบนิเวศการแบ่งปันข้อมูลในภาคการเงินเริ่ม 24 ม.ค.65
กรณีของไทย ภาคการเงินเริ่มนำร่องในการผลักดัน Open Data ให้เกิดขึ้นอย่างเป็นรูปธรรม เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลทางการเงินของผู้ใช้บริการจากสถาบันการเงินต่าง ๆ บนช่องทางดิจิทัล โดย ธปท. ร่วมกับสมาคมธนาคารไทย และสมาคมสถาบันการเงินของรัฐ ริเริ่มบริการเรียกขอและรับส่งข้อมูลรายการเคลื่อนไหวบัญชีเงินฝาก ในรูปแบบข้อมูลดิจิทัลระหว่างธนาคาร หรือ “บริการ dStatement” ซึ่งจะเริ่มให้บริการในวันที่ 24 มกราคม 2565 เป็นต้นไป โดยบริการ dStatement นี้จะช่วยให้ผู้ใช้บริการทางการเงินซึ่งเป็นเจ้าของข้อมูลสามารถเรียกข้อมูล bank statement ของบัญชีตนเองจากธนาคารหนึ่ง เพื่อนำไปใช้เป็นหลักฐานประกอบการขอสินเชื่อกับอีกธนาคารหนึ่ง ผ่านช่องทางดิจิทัลได้ด้วยตนเองอย่างสะดวกและรวดเร็ว
บริการ dStatement นับเป็นก้าวแรกที่สำคัญของการสร้างระบบนิเวศการแบ่งปันข้อมูล (open data ecosystem) บนความร่วมมือในภาคธนาคาร ระยะต่อไปยังมีความท้าทายหลาย ๆ ด้าน ทั้งด้านกฎหมายและข้อบังคับ การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล การกำหนดมาตรฐานข้อมูล และวิธีการเชื่อมต่อข้อมูลให้รองรับ โดยปัจจัยสำคัญ คือ ความร่วมมือจากทั้งภาครัฐและเอกชน รวมไปถึงนโยบายภาครัฐที่จะช่วยส่งเสริม สร้างแรงจูงใจให้เกิดความร่วมมือในวงกว้าง ผู้เขียนจึงหวังเป็นอย่างยิ่งว่า การผลักดันให้เกิด Open Data ในประเทศไทย จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งประชาชนและภาคธุรกิจให้สามารถเข้าถึงบริการต่าง ๆ ผ่านช่องทางดิจิทัลทั้งในและนอกภาคการเงินได้ดีขึ้น บริการมีความหลากหลาย มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ช่วยนำพาให้ประเทศไทยปรับตัวเข้าสู่เศรษฐกิจดิจิทัลได้อย่างยั่งยืน
ผู้เขียน :
ดร. ชัยวัฒน์ สถาวรวิจิตร
กลุ่มงานยุทธศาสตร์องค์กร
ภูมิใจ ตั้งสวัสดิรัตน์
ภัทราพร อุ่มตระกูล
ชัยศิริ ตุ้มทอง
ฝ่ายกลยุทธ์สถาบันการเงิน
คอลัมน์ "แจงสี่เบี้ย" นสพ. กรุงเทพธุรกิจ
ฉบับวันที่ 23 พ.ย. 2564
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย