​การปฏิวัติเงินดิจิทัล...เกิดแน่ แค่ช้าหรือเร็ว

ในช่วงเดือนตุลาคม 2564 กูรูการเงินระดับโลกเริ่มคุยถึงอนาคตของเงินดิจิทัลไว้ได้น่าสนใจ ทั้งจากงานเสวนา “การปฏิวัติเงินดิจิทัล (The Digital Money Revolution)” ของไอเอ็มเอฟ1 และมุมมองการอยู่ร่วมกันในอนาคตของสกุลเงินดิจิทัลโดยบริษัท McKinsey2 บางขุนพรหมชวนคิดขอจับประเด็นมาให้ผู้อ่านพอเข้าใจกันค่ะว่า การปฏิวัติเงินดิจิทัลอาจเกิดขึ้นในรูปแบบใด และควรพร้อมรับการเปลี่ยนแปลงของเงินในอนาคตอย่างไร

digital code number abstract background, represent  coding technology and programming languages.


การปฏิวัติเงินดิจิทัลจะเกิดขึ้นในรูปแบบใด?

“การปฏิวัติเงินดิจิทัล” ที่อาจได้เห็นคือการเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัล 2 รูปแบบ ซึ่งจะเร่งให้เงินสดมีบทบาทลดลงเร็วขึ้น

รูปแบบที่หนึ่ง คือ การเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชน (private digital currencies) โดยเฉพาะ “สเตเบิลคอยน์” ที่มีกลไกตรึงราคาให้คงที่ ไม่ผันผวนเหมือนคริปโทเคอร์เรนซีทั่วไป จะเป็นประตูเปิดทางให้ภาคเอกชนหน้าใหม่ที่ไม่ใช่ธนาคารก้าวเข้ามาเป็นผู้เล่นในระบบการเงินสามารถใช้ช่องทางในการพัฒนาบริการการเงินบนสกุลเงินดิจิทัลเอกชนนี้ โดยอาศัยเทคโนโลยีบล็อกเชนทำงานแบบกระจายศูนย์ไม่ต้องผ่านตัวกลางธุรกิจธนาคารแบบเดิม จึงเข้ามาแข่งขันตอบสนองผู้บริโภคที่อยากใช้บริการชำระเงินดิจิทัลภายในประเทศและระหว่างประเทศที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เพราะเป็นทางเลือกที่ช่วยให้ต้นทุนธุรกรรมต่ำลง โอนสะดวกขึ้น ไม่ต้องทำผ่านตัวกลาง แต่เรื่องใหม่นี้ก็อาจสร้างความเสี่ยงที่ไม่เคยเกิดมาก่อนต่อผู้ถือสกุลเงินนี้เพราะขาดผู้กำกับดูแล รวมถึงความเสี่ยงต่อเสถียรภาพระบบการเงินโดยรวมได้

รูปแบบที่สอง คือ การเข้ามาของสกุลเงินดิจิทัลของธนาคารกลาง (central bank digital currency: CBDC) โดยอาศัยเทคโนโลยีหลังบ้านแบบใหม่คล้ายกับที่ภาคเอกชนใช้ มาเปลี่ยนให้เงินสดกลายเป็นเงินสดดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพสูงขึ้น เป็นทางเลือกสกุลเงินดิจิทัลที่ปลอดภัยกว่ามาก ที่สำคัญคือ คนทั่วไปจะเข้าถึงได้เท่าเทียมทั่วถึงขึ้น (financial inclusion) แม้ไม่มีสัญญาณอินเทอร์เน็ตหรือมือถือรุ่นไฮเทคใช้ก็ตาม การปรับบทบาทเข้ามาในเกมนี้จะช่วยรักษาความเชื่อมั่นของประชาชนต่อสกุลเงินของประเทศไว้ ซึ่งจะเอื้อให้สามารถทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพการเงินและเสถียรภาพระบบการเงินตามพันธกิจได้อยู่ แม้โลกดิจิทัลจะเปลี่ยนแปลงไปเร็วแค่ไหนก็ตาม

อย่างไรก็ดี ปัจจัยสู่ความสำเร็จของการออกใช้ CBDC อยู่บนพื้นฐานความเชื่อมั่นในสกุลเงินของภาครัฐ ความเชื่อมโยงของแพลตฟอร์ม CBDC กับโครงสร้างพื้นฐานเดิมที่เปิดกว้างให้มีการแข่งขันต่อยอดนวัตกรรม สร้างบริการการเงินดิจิทัลตอบโจทย์ผู้ใช้ในอนาคตได้ แต่ประเด็นความเป็นส่วนตัวของข้อมูลเป็นสิ่งสำคัญที่ผู้คนสนใจกันมาก เพราะความเป็นส่วนตัวอาจหายไปไม่เหมือนใช้เงินสด ภาครัฐต้องหาจุดสมดุลของระดับการติดตามข้อมูลธุรกรรมเงินสดดิจิทัลและการป้องกันไม่ให้ CBDC ถูกเอาไปใช้ทำธุรกรรมการเงินผิดกฎหมาย การฟอกเงิน หรือคอร์รัปชัน

นอกจาก “การปฏิวัติเงินดิจิทัล” แล้วจะได้เห็น “การปฏิวัติการชำระเงินดิจิทัล” ภายในประเทศและระหว่างประเทศจะเกิดขึ้นตามมา การเติบโตของผู้เล่นใหม่ที่มีสกุลเงินดิจิทัลเอกชนและผลิตภัณฑ์การเงินการลงทุนหลากหลาย ทำงานในระบบการเงินไร้ตัวกลาง (Decentralized Finance: DeFi) อาจทำให้ระบบการเงินแยกส่วนจากแบบรวมศูนย์ดั้งเดิม ระบบธนาคารต้องเผชิญความท้าทายและปรับตัว เพื่อรักษาบทบาทตัวกลางผู้ให้บริการสินเชื่อและบริการการเงินดิจิทัลไว้

ไอเอ็มเอฟมองว่าเส้นทางข้างหน้าของการปฏิวัติเงินดิจิทัล 2 รูปแบบนี้จะมีจุดเน้นต่างกันเพื่อให้เกิดประโยชน์ได้เต็มที่ สำหรับสกุลเงินดิจิทัลภาคเอกชนควรเน้นเรื่อง “การกำกับดูแลความเสี่ยง (regulation)” และดูแลไม่ให้บริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่กินรวบตลาด โดยเฉพาะการผูกขาดข้อมูลผู้ใช้แพลตฟอร์มตัวเองและกีดกันการแข่งขันจากรายเล็ก สำหรับ CBDC ควรเน้นเรื่อง “การเชื่อมโยงกันในโลก (integration)” เพราะธนาคารกลางส่วนใหญ่สนใจพัฒนา CBDC ตอบโจทย์ภายในประเทศเป็นหลัก CBDC จึงไม่น่าจะมีรูปแบบเดียวในโลก แต่สุดท้ายก็อาจเชื่อมโยงกันยากและไม่เกิดประโยชน์สูงสุดต่อระบบการชำระเงินระหว่างประเทศ


สกุลเงินดิจิทัลจะอยู่ร่วมกันอย่างไรในอนาคต?

ตอนนี้อาจเร็วไปที่จะคาดการณ์ว่ากระแสตอบรับของสกุลเงินดิจิทัลจะเร็วเพียงใด และมี end game แบบใด เพราะธนาคารกลางอยู่ระหว่างการออกแบบ CBDC ทั้งระดับธุรกรรมรายย่อยของประชาชน (retail CBDC) และระดับธุรกรรมของสถาบันการเงิน (wholesale CBDC) รวมถึงการพิจารณาออกแบบให้ใช้แค่ภายในประเทศหรือใช้เชื่อมโยงการชำระเงินข้ามพรมแดนได้ด้วย ซึ่งจะช่วยสนับสนุนกระแสการค้าการลงทุนโลกในระยะยาว นอกจากนี้ เรื่องนี้ยังขึ้นกับท่าทีของภาครัฐในการกำกับดูแลสกุลเงินดิจิทัลเอกชน โดยเฉพาะ “สเตเบิลคอยน์” ที่เริ่มได้รับความนิยมมีการพัฒนา solutions ใหม่ๆ จนเป็นที่จับตาของผู้กำกับดูแลทั่วโลกว่ามีกลไกตรึงราคาไม่ให้ผันผวนได้จริงเพียงใดและไม่สร้างความเสี่ยงต่อผู้บริโภค/ระบบการเงินโดยรวม

แต่จะเห็นได้ว่าปัจจัยกำหนดกระแสการยอมรับใช้สกุลเงินดิจิทัลของแต่ละประเทศขึ้นกับ 2 เรื่องสำคัญ คือ

1. ความน่าเชื่อถือของสกุลเงินภาครัฐ ประเทศที่สกุลเงินภาครัฐขาดเสถียรภาพ จนประชาชนต้องใช้คริปโทเคอร์เรนซีเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยนแทนเพราะมีความเสี่ยงต่ำกว่าทางเลือกที่รัฐบาลมีให้ กรณีแบบนี้อาจเกิดการเปิดรับสกุลเงินดิจิทัลเอกชนอย่างก้าวกระโดดได้ เช่น เอลซัลวาดอร์ จึงเหมือนว่ารัฐบาลประเทศเหล่านี้ต้องพึ่งพาเทคโนโลยีของสกุลเงินดิจิทัลเอกชนมาช่วยสร้าง financial inclusion ให้ประชาชนที่ยังเข้าไม่ถึงระบบธนาคารทำให้ก่อนหน้าไม่สามารถใช้บริการดิจิทัลที่ทันสมัยได้

2. โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินของประเทศ ประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินเดิมยังพัฒนาไม่มาก อาจเปิดรับสกุลเงินดิจิทัลอย่างก้าวกระโดดได้ เพราะประชาชนเล็งเห็นถึงประโยชน์ที่จะได้รับเพิ่มขึ้นจากเดิมมาก ส่วนประเทศที่โครงสร้างพื้นฐานทางการเงินพัฒนาไปมากแล้ว เช่น มีระบบชำระเงินที่มีผลทันที (real-time settlements) และมีต้นทุนต่ำ ประโยชน์เพิ่มเติมจาก CBDC ที่จะมาช่วยลดระยะเวลาลดต้นทุนการชำระเงินอาจไม่มากเท่าประเทศกลุ่มแรก นอกจากนี้ ความสำเร็จของการออกใช้ CBDC ยังต้องอาศัยความร่วมมือจากสถาบันการเงินและผู้ให้บริการการเงินต่าง ๆ ในการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อเชื่อมโยง (interoperability) ระบบโครงสร้างพื้นฐานเดิมกับระบบ CBDC ใหม่อีกด้วย

ในอนาคตอาจเป็นไปได้ที่จะเห็นการอยู่ร่วมกันของสกุลเงินดิจิทัล 2 รูปแบบ คือ (1) สเตเบิลคอยน์เน้นบริการตอบโจทย์เฉพาะกลุ่ม เช่น กลุ่มคนที่ชอบใช้บริการการเงินและ liquidity provisioning ในโลกการเงินไร้ตัวกลาง (DeFi services) สำหรับภาคธุรกิจรายใหญ่เจ้าของแพลตฟอร์มอีคอมเมิร์ซหรือโซเชียลมีเดียจะพยายามดึงฐานลูกค้าให้ทำธุรกรรมผ่านสเตเบิลคอยน์ที่ตัวเองสร้างหรือสนับสนุน มูลค่าธุรกรรมสเตเบิลคอยน์จะเติบโตต่อเนื่องตามการเติบโตของตลาดคริปโทเคอร์เรนซี เพราะถูกใช้เป็นแหล่งพักการลงทุนในคริปโทเคอร์เรนซี นอกจากนี้ สเตเบิลคอยน์ยังถูกใช้เป็นแหล่งสภาพคล่องและการชำระราคาในตลาดแลกเปลี่ยนสินทรัพย์ดิจิทัลไร้ตัวกลาง (DeFi exchange) และต่อยอดกับ smart contracts ได้หลากหลาย (2) CBDC เน้นช่องทางให้ประชาชนเข้าถึงเงินสดดิจิทัลที่ออกโดยธนาคารกลางได้โดยตรง รวมถึงการเพิ่มประสิทธิภาพของเงินและระบบชำระเงินของประเทศในระยะยาว การเปิดตัวลงสนามก่อนของสเตเบิลคอยน์จะเป็นตัวอย่างให้ธนาคารกลางได้เห็นถึง solutions ที่ปลอดภัยยั่งยืนในการสร้างคุณค่าระยะยาวให้ CBDC และออกใช้ถูกจังหวะเวลา

การใช้สกุลเงินดิจิทัลจะแพร่หลายเพียงใด คงขึ้นกับนวัตกรรมการเงินที่จะก้าวล้ำไปในวันข้างหน้า การหาจุดสมดุลของภาครัฐในการกำกับดูแลความเสี่ยงเชิงระบบ/คุ้มครองผู้บริโภค และรูปแบบ CBDC ที่จะออกใช้ ผู้เขียนมองว่าการปฏิวัติเงินดิจิทัลคงเกิดขึ้นแน่ แค่ว่าไม่ช้าก็เร็ว ซึ่งจะช่วยให้ประชาชนและธุรกิจมีเงินดิจิทัลที่มีประสิทธิภาพมากขึ้นตอบโจทย์โลกที่เปลี่ยนไปเร็ว ผู้วางนโยบายควรจับมือภาคเอกชนให้เกิดการแข่งขันพัฒนาบริการดิจิทัลต่อยอด CBDC และเปิดใจรับวัฒนธรรมล้มเร็ว-ฟื้นเร็ว-เรียนรู้ พร้อมรับมือกับผลกระทบที่อาจเกิดขึ้นในรูปแบบที่ไม่เคยเจอกันมาก่อนค่ะ


อ้างอิง

1 ร่วมเสวนาโดย Kristalina Georgieva (กรรมการผู้จัดการ, IMF), Benoît Cœuré (Head of the BIS Innovation Hub, Bank for International Settlements), Eswar Prasad (ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยคอร์เนล และผู้เขียนหนังสือ The Future of Money)

2 “CBDC and stablecoins: Early coexistence on an uncertain road” โดย Ian De Bode, Matt Higginson, and Marc Niederkorn



ผู้เขียน :
ดร.ฐิติมา ชูเชิด
ฝ่ายนโยบายการเงิน

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 23 ตุลาคม 2564





บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย