​นวัตกรรมการเกษตร: ทางออกปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทย ตอน 2

ดร.เสาวณี จันทะพงษ์
นางสาวพรชนก เทพขาม
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

ระดับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรของไทยไม่น้อยหน้าใคร โดยมีความ หนาแน่นการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรต่อพื้นที่การเกษตรของไทยจัดอยู่ในกลุ่มสูงสุด 40 อันดับแรกของโลก แต่การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมยังกระจุกตัวในบางกลุ่ม เช่น คนรุ่นใหม่ ธุรกิจด้านการเกษตรขนาดใหญ่ และกลุ่มเกษตรกรภายใต้ เกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming)

ความท้าทายข้างหน้าของการพัฒนาภาคเกษตรของไทย คือ การเร่งพัฒนาแบบมีส่วนร่วม ไม่ทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลังโดยใช้หลัก 3 ต. “ต่อ เติม แต่ง” คือ หลักการ “ต่อ” ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมที่มีคุณค่าและความรู้ใหม่ หลักการ “เติม” ความรู้จากงานวิจัยหรือการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จากหน่วยงานรัฐ และสถาบันการศึกษาถ่ายทอดเชื่อมโยงจากภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติจริงของเกษตรกรรายย่อยและหลักการ “แต่ง” ทัศนคติและค่านิยมใหม่ว่า เกษตรกรคือผู้ประกอบการฐานรากที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ เป็นอาชีพที่มีคุณค่าด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมรวมทั้งได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติและมี อิสระการกำหนดแนวทางเกษตรทางเลือก รวมทั้งภาครัฐควรส่งเสริมภาคเกษตรให้เป็นลักษณะเกษตรเชิงท่องเที่ยวให้มากขึ้น เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

จากบทความตอนที่ 1 ได้พูดถึงสถานการณ์ความเหลื่อมล้ำของไทยว่า แม้โน้มลดลงบ้างแต่ปัญหายังมีอยู่ โดยเฉพาะในครัวเรือนที่มีอาชีพเกษตรกรรม 5.9 ล้านครัวเรือน ซึ่งเป็นเศรษฐกิจฐานรากกลุ่มใหญ่ของประเทศยังมีรายได้เฉลี่ยต่ำกว่าอาชีพอื่นๆ และต้องเผชิญกับความยากลำบากในการเพาะปลูกต้องต่อสู้กับธรรมชาติและการเปลี่ยนแปลงสภาพที่ดิน ความผันผวนของราคาพืชผล ความไม่เพียงพอของน้ำ รวมทั้งแรงงานสูงอายุมากขึ้น ส่งผลให้ผลิตภาพการผลิตอยู่ในระดับต่ำเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ดังนั้น ทำอย่างไรที่จะเพิ่มรายได้ของเกษตรกรให้สูงขึ้น ช่วยลดช่องว่างในการพัฒนาและความเหลื่อมล้ำ ทางออกหนึ่ง คือ การนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาใช้ในการผลิตให้มากขึ้น ในฉบับนี้จะนำเสนอผู้อ่านถึงระดับการใช้นวัตกรรมการเกษตรของไทยในปัจจุบัน และความท้าทายข้างหน้าของการพัฒนาภาคเกษตรของไทย


1. ระดับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตร ของไทยอยู่ที่ไหน

หากพิจารณาจากข้อมูลความหนาแน่นการใช้เครื่องจักรการเกษตรหนึ่งหน่วยต่อพื้นที่การเกษตร ในที่นี้ใช้เทียบเครื่องจักรกลการเกษตรกับรถแทรกเตอร์หนึ่งหน่วย จัดทำโดย USDA1 (รูป 1) พบว่า ตั้งแต่ปี 2547-2557 ค่าเฉลี่ยดังกล่าวของไทยจัดอยู่ในกลุ่มสูงสุด 40 อันดับแรก โดยมีความหนาแน่นการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรต่อพื้นที่การเกษตรอยู่ที่ 1:192 ไร่ และประเทศที่ใช้เครื่องจักรกลการเกษตรอยู่ในระดับสูงคือ ญี่ปุ่น อยู่ที่ 1:20 ไร่ (ค่าเฉลี่ยทั่วโลกอยู่ที่ 13,626 ไร่) ถือว่าระดับการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมการเกษตรของไทยไม่น้อยหน้าใคร


เนื่องจากร้อยละ 56 ของพื้นที่การเกษตรของไทยใช้ในการปลูกข้าว ปัจจัยการผลิตส่วนใหญ่จึงเน้นการทำนา ภายใต้แนวโน้มที่เกษตรกรมีอายุเฉลี่ยเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆ และเกษตรกรหนุ่มสาวน้อยลง ดังนั้นการใช้เครื่องจักรกลการเกษตรเพื่อช่วยทุ่นแรงจึงมีความสำคัญมากขึ้น ปัจจุบันเกษตรกรส่วนใหญ่นิยมใช้ เครื่องจักรกลการเกษตรและอุปกรณ์ต่างๆ เพื่อการเตรียมดินเพาะปลูกแทนการใช้แรงงานสัตว์ในเขตพื้นที่ชลประทาน ซึ่งปลูกข้าวทั้งนาปีและนาปรัง เกษตรกรนิยมใช้แทรกเตอร์สองล้อ (รถไถเดินตาม) หรือแทรกเตอร์สี่ล้อขนาดเล็ก (รถไถนา) พ่วงจานไถ หรือ จอบหมุน เป็นต้น และในช่วงเก็บเกี่ยวเกษตรกรนิยมใช้รถเกี่ยวนวดข้าวเพื่อให้ทันเวลา ส่งผลให้ความต้องการเครื่องจักรกลการเกษตรเพิ่มสูงขึ้นมาก จากรายงานของสำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรมชี้ว่า ในช่วงปี พ.ศ. 2550-2553 การนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรหลัก 4 ประเภท คือ รถแทรกเตอร์ เครื่องสูบน้ำ รถเกี่ยวนวด ข้าว และรถไถเดินตาม ซึ่งมีสัดส่วนประมาณร้อยละ 60 ของมูลค่าการนำเข้าเครื่องจักรกลการเกษตรทั้งหมดที่เฉลี่ยปีละประมาณ 2 หมื่นล้านบาท โดยเติบโตเฉลี่ย ร้อยละ 6.4 ส่วนใหญ่นำเข้าจากญี่ปุ่น จีน สหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกา โดยไทยขาดดุลการค้าเครื่องจักรกล การเกษตรเพิ่มขึ้น คือนำเข้ามากกว่าส่งออก และมีแนวโน้มนำเข้าเครื่องจักรกลที่มีเทคโนโลยีสูงและมีราคา แพงเพิ่มขึ้น(2)

ถึงแม้ไทยจะใช้เทคโนโลยีที่เป็นเครื่องจักรกลการเกษตรในระดับสูง แต่ผลิตภาพการผลิตภาคเกษตรของไทยยังค่อนข้างต่ำ ดังที่กล่าวแล้วในตอน 1 ซึ่งหากนำหลักการแบ่งเทคโนโลยีด้านการเกษตรจากรายงานของ World Bank (3) ปี 2017 เป็น 2 กลุ่มใหญ่ คือ กลุ่มแรกเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มผลผลิต (Yield Technologies) อาทิ การพัฒนาเมล็ดพันธุ์และผลผลิตการเกษตรผ่านเทคโนโลยีชีวภาพ แทรกเตอร์ ปุ๋ย ยา กำจัดศัตรูพืชและสัตว์ และระบบชลประทาน กลุ่มสอง เทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศ อาทิ ระบบสารสนเทศภูมิศาสตร์ (GIS) ระบบเครือข่ายเซ็นเซอร์ไร้สาย โปรแกรมฐานข้อมูลกลาง และการส่งข้อความสั้น มาพิจารณาประกอบ อาจอธิบายได้ว่าการที่ภาคการเกษตรของไทยมีผลิตภาพค่อนข้างต่ำ ส่วนหนึ่งมาจากมีการนำเอาเทคโนโลยีการสื่อสารและสารสนเทศมาใช้ในการจัดการและการตลาดดิจิทัลไม่กว้างขวางนัก และยังไม่เชื่อมโยงเทคโนโลยีไปสู่เกษตรรายย่อยรากหญ้าได้ สอดคล้องกับผลการศึกษารายงาน Enabling the Business of Agriculture 2017 ของ World Bank (4) (รูป 2) ซึ่งจัดอันดับของระบบนิเวศธุรกิจการเกษตร (กฎหมายและระเบียบข้อบังคับ) ใน 8 ด้าน ได้แก่ เมล็ดพันธุ์ ปุ๋ย เครื่องจักรกลการเกษตร สินเชื่อ การตลาด การขนส่ง ระบบน้ำ และ ICT ของ 62 ประเทศทั่วโลก ที่พบว่าไทยมีระบบนิเวศธุรกิจการเกษตรด้านเมล็ดพันธุ์ เครื่องจักรกลการเกษตร สินเชื่อ และ ICT ในระดับกลางๆ ด้านปุ๋ยในระดับค่อนข้างน่าพอใจ แต่ได้อันดับแย่ในด้านการตลาด การขนส่ง และระบบน้ำ จะเห็นได้ว่าประเทศในแถบยุโรป เช่น เนเธอร์แลนด์ สเปน อิตาลี และในเอเชียคือเกาหลี เป็นประเทศที่มีอันดับของระบบนิเวศธุรกิจการเกษตรในอันดับต้นๆ ในแต่ละด้าน ส่งผลให้เกษตรกรในยุโรปเป็นอาชีพที่มีรายได้สูง มีที่ดิน และใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการผลิต และสินค้าเกษตรในยุโรปยังได้มาตรฐานด้านความปลอดภัยของอาหาร สิ่งแวดล้อมและแรงงานด้วย (5)


2. การปรับนวัตกรรมภาคเกษตรไทยสู่การเป็น “เกษตรอัจฉริยะ”: ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่

2.1 เกษตรอัจฉริยะคืออะไร?

นิยามเกษตรอัจฉริยะ (Smart Farming) ของ FAO กำหนดไว้คือ การบริหารจัดการการเกษตรโดยใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เพื่อเพิ่มผลิตภาพทั้งด้านปริมาณและคุณภาพของผลผลิตทางการเกษตร ขณะที่กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้คุณสมบัติ “เกษตรอัจฉริยะ” ไว้ว่าเป็นเกษตรกรที่มีรายได้รวมทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 180,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และคุณสมบัติพื้นฐานอื่นๆ (6) เช่น มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องการเกษตรอย่างถ่องแท้ (Knowledge) มีข้อมูลทันสมัยประกอบการตัดสินใจ (Data) และตระหนักถึงคุณภาพสินค้า/ความปลอดภัยของผู้บริโภค (Quality) เป็นต้น ในปี 2560 ทั่วประเทศมีเกษตรกรที่ผ่านคุณสมบัติเป็น “เกษตรกรอัจฉริยะ” เพียง 5 หมื่นราย จากจำนวนเกษตรกรที่ลงทะเบียนพัฒนาเป็นเกษตรกรอัจฉริยะทั้งหมด 12 ล้านคน

2.2 ข้อเท็จจริงจากการลงพื้นที่ภาคสนาม

จากการลงพื้นที่ภาคสนามพบปะพูดคุยกับทั้งเกษตรกร นักวิชาการ และผู้ที่เกี่ยวข้องด้านการเกษตรในภาคเหนือซึ่งส่วนใหญ่เป็นเกษตรที่สูง พบว่า ปัจจุบันเริ่มเห็นแนวโน้มการนำเทคโนโลยีมาใช้ในภาคเกษตรเพิ่มขึ้นแต่ยังกระจุกตัวในบางกลุ่ม เช่น คนรุ่นใหม่ ธุรกิจด้านการเกษตรขนาดใหญ่ และกลุ่มเกษตรกรภายใต้เกษตรพันธะสัญญา (Contract Farming) ตัวอย่างเทคโนโลยีที่นำมาใช้ เช่น การใช้อุปกรณ์ตรวจวัดความชื้น วัดอุณหภูมิ และควบคุมอัตโนมัติผ่าน Application บนโทรศัพท์มือถือ การใช้อากาศยานไร้คนขับ (โดรน) มาช่วยในการพ่นสารเคมี การใช้หุ่นยนต์ในอุตสาหกรรมอาหารแปรรูปในการจัดเรียงสินค้า การใช้ QR Code เพื่อตรวจสอบย้อนกลับว่าผลผลิตนั้นมาจากแหล่งปลูกใด และการทำการตลาดผ่านระบบออนไลน์มากขึ้น โดยยังมีข้อจำกัดการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมโดยเฉพาะในกลุ่มเกษตรกรผู้สูงอายุ เนื่องจากยังไม่ปรับเปลี่ยนทัศนคติและความเชื่อในการทำเกษตรแบบดั้งเดิม และการถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านเทคโนโลยีการเกษตรให้แก่เกษตรกรยังมีน้อย รวมถึงยังขาดเงินทุนในการลงทุนเครื่องจักรและเทคโนโลยีมาใช้ แม้เกษตรกรบางส่วนที่นำเทคโนโลยีมาใช้บ้างแล้ว ก็ยังต้องลองถูกลองผิดและปรับปรุงพัฒนาเทคโนโลยีด้วยตนเอง เพราะยังไม่มีเทคโนโลยีสำเร็จรูปที่สามารถนำมาใช้ได้ทันที และยังต้องการระบบพี่เลี้ยง (Mentoring System)


3. ความท้าทายข้างหน้าภาคเกษตรของไทย: หลักการ “ต่อ เติม แต่ง”

การพัฒนาภาคเกษตรไทยยุคใหม่ที่ใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในยุค Digital Economy จะสร้างความเข้มแข็งให้แก่เศรษฐกิจฐานรากของประเทศ ช่วยลดความเหลื่อมล้ำในด้านรายได้ เป็นการพัฒนาแบบมีส่วนร่วมไม่ทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง ควรพัฒนาโดยให้ความสำคัญกับหลัก 3 ต. “ต่อ เติม แต่ง” ดังนี้
1. หลักการ “ต่อ” ความรู้และภูมิปัญญาชาวบ้านดั้งเดิมที่มีคุณค่าและความรู้ใหม่ เป็นการส่ง “ต่อ” ความรู้ระหว่างเกษตรกรด้วยกันเอง และความโปร่งใสภายในชุมชน ส่งเสริมการรวมกลุ่มของเกษตรกรรายย่อย และส่งเสริมความเข้มแข็งของสหกรณ์การเกษตรอย่างจริงจังและต่อเนื่อง เพื่อลดต้นทุนโดยการสร้างระบบเช่าเครื่องจักรกลทางการเกษตรในกลุ่มสมาชิก และเป็นข้อต่อเชื่อมโยงข้อมูลระหว่างภาครัฐและเกษตรกร
2. หลักการ “เติม” ความรู้จากงานวิจัยหรือการคิดค้นเทคโนโลยีและนวัตกรรมใหม่ๆ จากหน่วยงานรัฐและสถาบันการศึกษาถ่ายทอดเชื่อมโยงจากภาคทฤษฎีสู่ภาคปฏิบัติจริงของเกษตรกรรายย่อยให้ได้ และพร้อมที่จะให้ค้าปรึกษาแก่เกษตรกร (Smart Officer) รวมทั้งภาครัฐควรรับฟังความคิดเห็นของเกษตรกรและให้เกษตรกรเป็นผู้ขับเคลื่อนนโยบายให้เป็นผลในทางปฏิบัติจริง
3. หลักการ “แต่ง” ทัศนคติและค่านิยมใหม่ว่าเกษตรกรคือ “ผู้ประกอบการฐานรากที่ใหญ่ที่สุดของประเทศ” เป็นอาชีพที่มีคุณค่าด้านเศรษฐกิจและวัฒนธรรมรวมทั้งได้ใกล้ชิดกับธรรมชาติและมีอิสระ การกำหนดแนวทางเกษตรทางเลือก เช่น เกษตรอินทรีย์และส่งเสริมค่านิยมผู้บริโภครับผิดชอบต่อสังคมช่วยซื้อสินค้าเกษตรอินทรีย์จากเกษตรกรโดยตรงในราคาที่สูง รวมทั้งภาครัฐควรส่งเสริมภาคเกษตรให้เป็นลักษณะเกษตรเชิงท่องเที่ยวให้มากขึ้นเพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้เกษตรกรอีกทางหนึ่ง

-------------------------------------------------------------

Endnotes:
1 หลักการคำนวณของเครื่องจักรกลการเกษตรของ USDA โดยเทียบเครื่องจักรกลการเกษตรกับรถแทรกเตอร์ 1 หน่วยขนาด 40 แรงม้า โดยมีข้อสมมติดังนี้ แทรกเตอร์ 4 ล้อ เทียบเป็น 40 แรงม้า แทรกเตอร์ 2 ล้อ เทียบเป็น 20 แรงม้า เครื่องจักรเก็บเกี่ยว เทียบเป็น 20 แรงม้า และเครื่องรีดนม เทียบเป็น 1 แรงม้า
2 เจษฎา อุดมกิจมงคล (2554), รายงานการศึกษาอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลการเกษตร (Agricultural Machinery), สำนักนโยบายอุตสาหกรรมรายสาขา 1, สำนักงานเศรษฐกิจอุตสาหกรรม, กระทรวงอุตสาหกรรม, กุมภาพันธ์
3 World Bank (2017), ICT in Agriculture Connecting Smallholders to Knowledge, Networks, and Institutions
4 World Bank (2017), Enabling the Business of Agriculture 2017
5 ดร. อาจารี ถาวรมาศ บทความพัฒนาเกษตรไทยสู่ยุคใหม่ หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ วันที่ 3 ตุลาคม 2559
6 กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้ให้คุณสมบัติ “เกษตรอัจฉริยะ” ไว้ว่าเป็นเกษตรกรที่มีรายได้รวมทางการเกษตรไม่ต่ำกว่า 180,000 บาทต่อครัวเรือนต่อปี และคุณสมบัติพื้นฐานอื่นๆ อีก 6 ข้อ คือ 1. มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องที่ทำอย่างถ่องแท้ (Knowledge) 2. มีข้อมูลทันสมัยประกอบการตัดสินใจ (Data) 3. ตระหนักถึงคุณภาพสินค้า/ความปลอดภัยของผู้บริโภค (Quality) 4. รับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม/สังคม (Environment) 5. ภูมิใจในความเป็นเกษตรกร 6. วางแผนการผลิตเพื่อตอบสนองต่อความต้องการของตลาด (Demanding)

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย