นายพิทวัส พูนผลกุล
ในช่วงกลางเดือนพฤศจิกายนที่ผ่านมา บทวิเคราะห์ทางเศรษฐกิจและหนังสือพิมพ์ทั้งไทยและต่างประเทศกล่าวถึงการประชุม 3rd Plenum ซึ่งเป็นการประชุมของคณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนที่ถูกมองว่าเป็นเสมือนเวทีประกาศทิศทางการดำเนินนโยบายทางเศรษฐกิจที่สำคัญที่สุด โดยนักวิเคราะห์คาดว่าผลของการประชุมในครั้งนี้ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งที่ 18 จะเป็นจุดเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีนอย่างก้าวกระโดดอีกครั้ง ดังเช่น การประชุมครั้งที่ 11 ในปี 2521 ซึ่งเป็นจุดเริ่มต้นของการปฏิรูปเป็นเศรษฐกิจทุนนิยมแบบจีน และการประชุมครั้งที่ 15 ในปี 2541 ที่เป็นจุดเปลี่ยนสำคัญที่นำจีนเข้าสู่เวทีการค้าโลกในปี 2544 ส่งผลให้จีนกลายเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจ การค้า และการลงทุนของโลก สำหรับการประชุม 3rd Plenum ในครั้งนี้ คณะกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์จีนได้แสดงถึงความตั้งใจที่จะปฏิรูปเศรษฐกิจจีนในเชิงลึกเพื่อให้สามารถก้าวข้ามกับดักของกลุ่มประเทศรายได้ปานกลาง (Middle Income Trap) ไปสู่การเป็นประเทศในกลุ่มรายได้สูงภายในปี 2573 และเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพในระยะยาว โดยแผนแม่บทปฏิรูปดังกล่าวครอบคลุมการปฏิรูปรอบด้าน ซึ่งรวมถึง เศรษฐกิจ สังคม และความมั่นคง
นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่คาดว่าการปฏิรูปในครั้งนี้จะทำให้เศรษฐกิจจีนหลุดพ้นจากกับดักรายได้ปานกลางได้สำเร็จ จากการปลดล๊อคข้อจำกัดด้านปัจจัยการผลิตที่สำคัญ 3 ประการ ได้แก่ (1) ลดภาวะขาดแคลนแรงงานและแก้ไขปัญหาสังคมผู้สูงอายุ ซึ่งเป็นหนึ่งในแผนปฏิรูปทางด้านสังคมของจีน โดยในระยะสั้นนั้น การผ่อนเกณฑ์เกี่ยวกับระบบทะเบียนราษฎร์จะทำให้แรงงานสามารถเคลื่อนย้ายไปทำงานในมณฑลต่างๆ ที่ขาดแคลนแรงงานได้เพิ่มขึ้น สำหรับระยะยาว การผ่อนเกณฑ์นโยบายบุตรคนเดียวจะช่วยให้แรงงานของจีนเพิ่มขึ้นอีกจำนวนหนึ่ง (2) จัดสรรปัจจัยการผลิตให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยการปฏิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจให้กลไกตลาดมีบทบาทในการกำหนดราคาปัจจัยที่ใช้ในการผลิตมากขึ้นและการปฏิรูปโครงสร้างรัฐวิสาหกิจให้มีประสิทธิภาพโดยสนับสนุนให้มีการแข่งขันในตลาดด้วยการเปิดโอกาสให้เอกชนและบริษัทต่างชาติเข้ามาดำเนินการในธุรกิจประเภทเดียวกับที่รัฐวิสาหกิจดำเนินการอยู่ได้มากขึ้น โดยเฉพาะ ภาคบริการ (3) ส่งเสริมการลงทุนในการสร้างนวัตกรรม การวิจัยและพัฒนาทั้งในภาคเอกชนและภาครัฐ รวมถึงปกป้องสินทรัพย์ทางปัญญาซึ่งจะช่วยให้ภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์จากการสร้างนวัตกรรมใหม่ๆ ได้เต็มที่
นอกจากนี้ การปฏิรูปจะทำให้จีนสามารถเติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ ผ่านการ (1) สร้างเสถียรภาพในภาคการคลัง โดยการปฏิรูปด้านการคลังเพื่อแก้ปัญหาการขาดดุลการคลังของรัฐบาลท้องถิ่นที่สะสมเรื้อรังมานานกว่า 50 ปี โดยให้มีการทบทวนและปรับสัดส่วนการจัดสรรรายได้จากภาษีระหว่างรัฐบาลกลางและรัฐบาลท้องถิ่นใหม่ให้มีความเหมาะสมและเพียงพอต่อภาระรายจ่าย และปรับปรุงประสิทธิภาพในการจัดเก็บภาษีให้ดีขึ้น และ (2) สร้างเสถียรภาพในภาคการเงิน โดยการปฏิรูปด้านการเงินเพื่อแก้ปัญหาความบิดเบือนซึ่งเกิดขึ้นจากการเข้ามาแทรกแซงของทางการโดยเฉพาะ ปัญหาธนาคารเงาหรือ Shadow banking ทั้งนี้ ตลาดคาดว่ารัฐบาลจะทยอยดำเนินการผ่อนผันเกณฑ์และมาตรการควบคุมด้านการเงินต่างๆ อาทิ เกณฑ์การควบคุมอัตราแลกเปลี่ยน การเคลื่อนย้ายเงินทุน และการกำหนดเพดานอัตราดอกเบี้ยให้เคลื่อนไหวตามกลไกตลาดมากขึ้น พร้อมกับขยายช่องทางการเข้าถึงตลาดทุนให้หลากหลาย ซึ่งในต้นเดือนธันวาคมที่ผ่านมา ทางการเริ่มเดินหน้าปฏิรูปโดยอนุญาตให้สถาบันรับฝากเงินสามารถออกบัตรเงินฝาก (Negotiable Certificate of Deposits) ที่มีอัตราดอกเบี้ยเป็นไปตามกลไกตลาดแล้ว
หากถามว่าประเทศในภูมิภาคอาเซียนและไทยจะได้อะไรจาก 3rd Plenum ของจีนครั้งนี้ผู้เขียนเห็นถึงประโยชน์โดยตรง 3 ด้านคือ (1) ด้านการส่งออกไปจีนที่เพิ่มขึ้น โดยการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจของจีนที่เน้นพึ่งพาการบริโภคแทนการลงทุน และการยกระดับรายได้ของประชากรที่ทำให้อุปสงค์ของชนชั้นกลางสูงขึ้น จะส่งผลดีให้มีการนำเข้าสินค้าจากไทยและอาเซียนมากขึ้นเนื่องจากสินค้าของอาเซียนมีความได้เปรียบด้านต้นทุนและราคา (2) ด้านเงินลงทุนโดยตรงจากจีนที่เพิ่มขึ้น (Foreign Direct Investment) โดยการผ่อนผันเกณฑ์และมาตรการควบคุมด้านการเงินและด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายจะช่วยให้ผู้ประกอบการจีนหันมาลงทุนในไทยและอาเซียนมากขึ้น โดยเฉพาะการลงทุนที่เกี่ยวเนื่องกับห่วงโซ่การผลิตของจีน ซึ่งจะช่วยยกระดับการพัฒนาประเทศและรายได้ของประชากรในภูมิภาคอาเซียน และ (3) ด้านเสถียรภาพของเศรษฐกิจภายในภูมิภาคที่เพิ่มขึ้นเนื่องจากไทยและอาเซียนมีความเชื่อมโยงกับเศรษฐกิจจีนมากขึ้นเรื่อยๆ ดังนั้น หากเศรษฐกิจจีนเติบโตอย่างมีเสถียรภาพก็จะส่งผลดีต่อเสถียรภาพของเศรษฐกิจภูมิภาคเช่นกัน
สำหรับประเทศไทยน่าจะฉกฉวยโอกาสนี้เก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการปฎิรูปโครงสร้างเศรษฐกิจจีนให้มากที่สุด โดยการเข้าไปเจาะตลาดและพัฒนาสินค้าเพื่อตอบสนองอุปสงค์ภายในของจีนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น โดยเฉพาะสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งไทยมีความได้เปรียบทางด้านคุณภาพอยู่แล้วควบคู่ไปกับการส่งเสริมธุรกิจในภาคบริการเพื่อรองรับกำลังซื้อจากชนชั้นกลางของจีนที่เพิ่มขึ้นโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยวซึ่งไทยเป็นแหล่งท่องเที่ยวที่สำคัญของชาวจีน นอกจากนี้ ภาครัฐควรสร้างบรรยากาศการลงทุนเพื่อดึงดูดเงินลงทุนจากจีน ประกอบกับลักษณะทางภูมิศาสตร์ของไทยเองที่มีความได้เปรียบในการเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งสินค้าจากจีนมาสู่ภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทั้งหมดนี้จะช่วยให้ไทยสามารถเกาะขบวนรถไฟไปกับการเปลี่ยนแปลงทางเศรษฐกิจของจีนที่กำลังจะมาถึง
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย