​เงินบาทแข็งเพราะอะไร แก้อย่างไรบอกที

​นายรัชชพล ศุภวิวรรธน์
นางสาวนลิน หนูขวัญ
นายจิรายุ จันทรสาขา
ฝ่ายนโยบายการเงิน


หนึ่งในปัญหาสำคัญทางเศรษฐกิจที่คนพูดถึงมากในปีนี้คงหนีไม่พ้นเรื่องเงินบาทที่แข็งค่าต่อเนื่อง บทความนี้ขอตั้งคำถามว่า เงินบาทแข็งเพราะอะไร และเสนอแนวทางที่ภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันปรับตัวเพื่อรับมือกับความท้าทายนี้

บาทแข็งเพราะเหตุใด? ถ้าดูจากที่มาของเงินตราต่างประเทศจากรายการสำคัญในดุลการชำระเงินซึ่งมักสะท้อนความสมดุลของความต้องการแลกเงินบาทกับเงินสกุลต่างประเทศในช่วงเวลาต่าง ๆ จะพบว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีนี้ ดุลบัญชีเดินสะพัด1 (CA) เกินดุล 29,300 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ส่วนเงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ2 (FDI) ไหลเข้า 9,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขณะที่เงินลงทุนโดยตรงของคนไทยในต่างประเทศ3 (TDI) เงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิของทั้งคนไทย4 (TPI) และนักลงทุนต่างชาติ5 (FPI) ไหลออกถึง 12,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ 7,600 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ และ 100 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตามลำดับ ตัวเลขนี้จึงสะท้อนว่า เงินบาทแข็งค่าตามเงินไหลเข้าสุทธิจากดุลบัญชีเดินสะพัดและ FDI เป็นหลักและไม่ใช่เงินไหลเข้ามาเพื่อซื้อหลักทรัพย์ไทยของนักลงทุนต่างชาติ

บาทแข็งแบบนี้บอกอะไร? หลายท่านอาจสงสัยต่อว่า ทั้งที่เศรษฐกิจและการค้าโลกชะลอตัวจากพิษของสงครามการค้าแต่ทำไมมูลค่าการส่งออกของไทยยังสูงกว่าการนำเข้า สาเหตุข้อหนึ่งเพราะไทยมีการนำเข้าสินค้าทุนน้อยตามการลงทุนที่อยู่ในระดับต่ำกว่าอดีต และต่ำกว่าประเทศคู่แข่งอย่างอินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย และเวียดนาม ซึ่งทำให้การผลิตของประเทศไม่ได้รับประโยชน์จากการลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์ที่ทันสมัยในการแข่งขันกับเพื่อนบ้าน จึงอาจกล่าวได้ว่า แม้เงินบาทจะแข็งค่าจากภาพลักษณ์สถานะด้านต่างประเทศที่แข็งแกร่ง แต่ที่จริงแล้วกลับสะท้อนความไม่สมดุลและไม่ยั่งยืนของประเทศ เพราะไทยเก็บออมรายได้มากกว่านำไปใช้จ่ายเพื่อการลงทุนในเครื่องจักรหรือลงทุนพัฒนาค้นคว้าวิจัยเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับสินค้าและบริการ ซึ่งจะช่วยยกระดับศักยภาพการสร้างรายได้ของประเทศในอนาคต

เมื่อดูบริบทด้านอื่นประกอบด้วยจะเห็นว่า แม้เศรษฐกิจไทยมีแนวโน้มขยายตัวได้ในระยะต่อไป แต่การขยายตัวต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้เมื่อตอนต้นปี รวมถึงการส่งออกอาจฟื้นตัวได้ช้าทั้งจากการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในภาคการผลิตที่มีผลต่อความสามารถในการแข่งขันของภาคการส่งออก ทั้งการเข้าสู่สังคมสูงวัย และปัญหาทักษะแรงงานไม่ตรงความต้องการของนายจ้าง ขณะที่ต้นทุนค่าจ้างแรงงานไทยก็สูงกว่าประเทศคู่แข่ง จึงพอสรุปได้ว่า “การแข็งค่าของเงินบาทในช่วงที่ผ่านมาไม่สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานด้านความสามารถในการแข่งขันของประเทศ”

แล้วจะแก้ไขเงินบาทแข็งค่าได้อย่างไร? โดยทั่วไปแล้ว ค่าเงินที่แข็งกว่าปัจจัยพื้นฐานมักปรับตัวอ่อนค่ากลับมาได้ในเวลาต่อมา โดยเฉพาะหากมีการปรับตัวให้เงินไหลเข้าและออกสมดุลกันมากขึ้น โดยต้องอาศัยการปรับโครงสร้างการออมและการลงทุนในประเทศจากความร่วมมือของทั้งภาครัฐและเอกชน ซึ่งจะช่วยปรับสมดุลความต้องการแลกเงินบาทและปรับมุมมองของนักลงทุนในตลาดการเงินต่อแนวโน้มค่าเงินได้ สำหรับกรณีของไทย หลายภาคส่วนรวมทั้ง ธปท. ดำเนินการเพื่อปรับสมดุลดังกล่าวบ้างแล้ว ดังนี้

(1) ส่งเสริมการลงทุนและการเพิ่มศักยภาพในการสร้างรายได้ของประเทศ โดยเฉพาะการเร่งดำเนินการโครงการลงทุนขนาดใหญ่และการลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลของภาครัฐและภาคเอกชนที่จะต้องนำเข้าสินค้าทุน เช่น เครื่องจักร อุปกรณ์ก่อสร้าง อุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเทคโนโลยี ในภาวะที่อัตราดอกเบี้ยต่ำมากในปัจจุบันซึ่งเอื้อต่อการลงทุน นอกจากจะช่วยยกระดับคุณภาพและเพิ่มมูลค่าให้สินค้าและบริการของไทยแล้ว ยังช่วยให้ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลน้อยลงต่อเนื่องจากที่ได้ปรับลดลงมาบ้างแล้วในปีนี้

(2) ธปท. ได้ออกมาตรการเฝ้าระวังเงินทุนเคลื่อนย้ายระยะสั้น โดย (1) ลดช่องทางในการพักเงินและเก็งกำไรค่าเงินบาทของนักลงทุนต่างชาติ โดยลดยอดคงค้างบัญชีเงินฝากสกุลบาท ณ สิ้นวันของผู้มีถิ่นที่อยู่นอกประเทศ สำหรับบัญชี Non-resident Baht Account(NRBA) และ Non-resident Baht Account for Securities(NRBS) (2) เพิ่มความเข้มงวดในการรายงานข้อมูลการถือครองตราสารหนี้ไทยของนักลงทุนต่างชาติโดยให้ระบุชื่อผู้ได้รับผลประโยชน์ที่แท้จริงเพื่อติดตามพฤติกรรมอย่างใกล้ชิด ซึ่งการออกมาตรการดังกล่าวบวกกับการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายของไทย 0.50% ในปีนี้ ช่วยลดปริมาณเงินทุนไหลเข้าเพื่อการเก็งกำไรในช่วงที่ผ่านมาได้ระดับหนึ่ง ในระยะหลังนักลงทุนต่างชาติเริ่มขายหลักทรัพย์ในไทยอย่างต่อเนื่อง ขณะที่ยังสนใจซื้อหลักทรัพย์ของประเทศอื่นในภูมิภาคอยู่

(3) ธปท. ได้ทยอยผ่อนคลายเกณฑ์กำกับดูแลเงินทุนเคลื่อนย้าย โดย (1) ให้ผู้ส่งออกสามารถเก็บรายได้ที่เป็นเงินตราต่างประเทศไว้ในบัญชีในต่างประเทศได้โดยไม่ต้องนำเงินกลับมาในไทย (2) ให้ผู้ส่งออกสามารถรับจ่ายเงินในบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (FCD)ได้สะดวกขึ้น โดยไม่ต้องแยกบัญชี FCD ตามแหล่งที่มาของเงินตราต่างประเทศตามเกณฑ์เดิมแล้ว (3) ให้คนไทยสามารถนำเงินออกไปลงทุนในหลักทรัพย์ต่างประเทศได้สะดวกขึ้นโดยไม่ต้องผ่านตัวกลางในประเทศ และสามารถโอนเงินออกนอกประเทศได้โดยเสรี โดยไม่ต้องแสดงเอกสารประกอบการโอนเงินอีกต่อไป การผ่อนคลายกฎเกณฑ์ดังกล่าวน่าจะช่วยให้ผู้ส่งออกพักเงินรายได้จากการส่งออกในต่างประเทศเพื่อทำธุรกรรมในภายหลังได้ โดยไม่ต้องนำเงินกลับประเทศเพื่อแลกเป็นเงินบาท และเปิดทางให้เงินออมของคนไทยไหลออกไปลงทุนซื้อสินทรัพย์ในต่างประเทศได้มากขึ้น เมื่อเงินทุนเคลื่อนย้ายไหลออกมากขึ้นจะช่วยลดแรงกดดันให้เงินบาทแข็งค่าที่มาจากการเกินดุลบัญชีเดินสะพัดได้อีกทางหนึ่ง

จะเห็นได้ว่าการปรับตัวเพื่อลดแรงกดดันค่าเงินบาทของภาคส่วนต่างๆ และให้เงินทุนไหลเข้าออกมีความสมดุลมากขึ้นได้เริ่มเกิดขึ้นบ้างแล้ว และยังต้องอาศัยความร่วมมือในการปรับตัวจากทุกภาคส่วนมากขึ้นอีกเพราะกระบวนการปรับตัวบางส่วนต้องใช้เวลา ถ้าผู้เล่นในตลาดการเงินมองว่าการปรับตัวของทุกฝ่ายจะทำให้เงินบาทไม่แข็งค่าต่อเนื่องอีกหลังจากที่แข็งค่ามาพอสมควรแล้ว ค่าเงินบาทก็อาจเคลื่อนไหวได้สองทิศทางมากขึ้นเหมือนที่เกิดขึ้นในระยะหลังๆ รวมทั้งจะส่งผลดีต่อการยกระดับศักยภาพของประเทศไทยในระยะยาวได้อีกด้วย


-------------------------------------
[1] ดุลบัญชีเดินสะพัด (Current Account: CA)
[2] เงินลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI)
[3] เงินลงทุนโดยตรงของคนไทยในต่างประเทศ (Thailand Direct Investment: TDI)
[4] เงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิของคนไทย (Thailand Portfolio Investment: TPI)
[5] เงินลงทุนในหลักทรัพย์สุทธิของนักลงทุนต่างชาติ (Foreign Portfolio Investment: FPI)
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย