นางจันทวรรณ สุจริตกุล
บริษัทข้อมูลเครดิตฯหรือเครดิตบูโร (Credit Bureau) เกิดจากการผลักดันของกระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย เพื่อให้เป็นองค์กรกลางในการเก็บรวบรวมข้อมูลสถานะการผ่อนชำระหนี้เพื่อประโยชน์ในการพิจารณาสินเชื่อของสถาบันการเงิน บริษัทบัตรเครดิต บริษัทเช่าซื้อ/ลีสซิ่งที่เป็นสมาชิกการมีประวัติการชำระหนี้ที่ถูกต้องและเป็นปัจจุบันย่อมทำให้การพิจารณาสินเชื่อเป็นไปได้อย่างรวดเร็วและด้วยต้นทุนที่ต่ำ ส่งผลดีต่อผู้กู้และผู้ให้กู้ และลดโอกาสที่สินเชื่อที่ปล่อยไปจะกลายเป็นหนี้มีปัญหา นับเป็นประโยชน์ต่อธุรกิจ ระบบการเงินและเศรษฐกิจโดยรวมของประเทศอย่างมาก
ปัจจุบันบริษัทข้อมูลเครดิตฯ ที่ได้รับอนุญาตให้ประกอบธุรกิจจากตามพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิต พ.ศ. 2545 คือ บริษัท ข้อมูลเครดิตแห่งชาติ จำกัด (National Credit Bureau - NCB) ข้อมูลที่เครดิตบูโรจัดเก็บได้แก่ ชื่อ ที่อยู่ วันเดือนปีเกิด อาชีพ เลขที่บัตรประจำตัว เป็นต้น รวมถึงประวัติการขอ/การได้รับอนุมัติสินเชื่อประวัติการชำระราคาสินค้า/บริการบัตรเครดิต ซึ่งมีทั้งบัญชีที่ยังเดินอยู่และบัญชีที่มีปัญหาการผ่อนชำระ รวมทั้งบัญชีการกู้เงินส่วนบุคคลและของกิจการ โดยเฉพาะรายขนาดกลางและขนาดเล็ก (SME) โดยไม่มีการจัดชั้นลูกหนี้และไม่มีการขึ้นทะเบียนดำ (Black list)
ทั้งนี้ สมาชิกจะใช้ข้อมูลที่ได้จาก NCB มาเป็นเพียงปัจจัยหนึ่งในการพิจารณาสินเชื่อ กรณีลูกค้าที่มีประวัติการค้างชำระหนี้ ก็อาจจะยังได้รับอนุมัติสินเชื่อ ขึ้นอยู่กับปัจจัยอื่น ๆ ด้วย เช่น แบบจำลองประกอบการพิจารณาสินเชื่อที่สถาบันการเงินพัฒนาขึ้นเอง (Internal Credit Scoring) กระแสเงินสดหรือรายได้ที่จะนำมาชำระหนี้หลักประกันคุ้มกับมูลหนี้ เป็นต้น ซึ่งเป็นไปตามนโยบายการอนุมัติสินเชื่อของสถาบันการเงินแต่ละแห่ง
แม้ผู้ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อจะได้ใช้ข้อมูลจาก NCB เพื่อประโยชน์ในการประกอบธุรกิจ แต่กฎหมายก็ได้มีบทบัญญัติที่คุ้มครองสิทธิของเจ้าของข้อมูล เพื่อให้ระบบข้อมูลเครดิตยังประโยชน์แก่ผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายและสังคมโดยรวม โดยกฎหมายกำหนดให้มีคณะกรรมการคุ้มครองข้อมูลเครดิต (กคค.) ซึ่งมีผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทยเป็นประธาน ปลัดกระทรวงการคลังเป็นรองประธาน ปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ปลัดกระทรวงยุติธรรม เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา และผู้บริหารระดับสูงจากหน่วยงานราชการอีกหลายท่านรวมทั้งมีกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิด้านคุ้มครองผู้บริโภคด้านการเงินการธนาคารและผู้แทนผู้ประกอบการธุรกิจภาคเอกชน กคค. ทำหน้าที่ในการกำกับดูแลการประกอบธุรกิจข้อมูลเครดิตเพื่อให้สมาชิกนำส่งข้อมูลเครดิตที่ถูกต้อง NCB ประมวลผลข้อมูลตามที่กฎหมายกำหนด และเปิดเผยข้อมูลแก่สมาชิกตามความยินยอมของเจ้าของข้อมูล และให้ถือว่าเป็นข้อมูลลับ เนื่องจากเป็นข้อมูลส่วนบุคคลที่มิพึงนำไปเปิดเผย
นอกจากนี้ หากเจ้าของข้อมูลเห็นว่าข้อมูลของตนเองไม่ถูกต้องก็สามารถใช้สิทธิตรวจสอบและแก้ไขข้อมูลได้ตามกฎหมาย อีกทั้ง เมื่อสถาบันการเงินปฏิเสธการให้สินเชื่อด้วยเหตุเครดิตบูโร จะต้องแจ้งเหตุผลเป็นลายลักษณ์อักษรแก่เจ้าของข้อมูลผู้ขอสินเชื่อนั้นทราบด้วย เพื่อที่เจ้าของข้อมูลจะได้ไปตรวจสอบที่ NCB โดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใดๆในอีกด้านหนึ่งที่เกี่ยวข้องกับสถาบันการเงินกฎหมายก็ดูแลให้มีการเก็บข้อมูลภาระหนี้ถูกต้องครบถ้วนเพื่อประโยชน์ในการวิเคราะห์สินเชื่อของสถาบันการเงินเช่นกัน
ล่าสุด กคค. ได้ออกประกาศใหม่ 2 ฉบับ เพื่อให้สอดคล้องกับวิธีปฏิบัติในต่างประเทศรวมทั้งเพื่อให้เป็นคุณกับเจ้าของข้อมูลมากขึ้น เช่น กรณีลูกหนี้ปลดจากบุคคลล้มละลายแล้ว ประกาศกำหนดให้สมาชิกจะส่งข้อมูลต่อไปได้อีกไม่เกิน 2 ปี นับแต่วันที่ได้รับการปลดล้มละลาย และ NCB จะประมวลผลต่อไปได้อีกไม่เกิน 3 ปี และกรณีหมดระยะเวลาบังคับคดีก็ให้หยุดรายงานทันทีจากเดิมที่ยังคงต้องรายงานต่อไปเรื่อยๆ
นอกจากนี้ ก็ให้มีการเก็บข้อมูลภาระหนี้ทั้งเงินต้นและดอกเบี้ยตามที่สมาชิกมีสิทธิเรียกร้องตามกฎหมายเพื่อให้เกิดความชัดเจนในแนวทางปฏิบัติซึ่งเป็นการยึดหลักความเป็นธรรมแก่เจ้าของข้อมูลและสมาชิกผู้ประกอบธุรกิจการให้สินเชื่อแม้ข้อมูลในเครดิตบูโรจะแสดงประวัติการชำระสินเชื่อ ซึ่งอาจจะเคยมีกรณีที่ลูกหนี้ไม่ได้ชำระหนี้ตามกำหนดหรืออาจลืมชำระหนี้บัตรเครดิตบ้างในอดีต แต่หากลูกหนี้เป็นผู้ที่มีวินัยทางการเงินดี และสามารถแสดงให้สถาบันการเงินเชื่อมั่นว่ามีศักยภาพในการชำระหนี้ได้ก็มีโอกาสได้รับอนุมัติสินเชื่อจากสถาบันการเงินสำหรับลูกหนี้ที่มีประวัติการชำระหนี้ดีมาโดยตลอด ก็จะได้ประโยชน์จากมีระบบข้อมูลเครดิต เช่น ได้รับความสะดวกจากสถาบันการเงิน เพราะสามารถพิจารณาสินเชื่อได้เร็วขึ้น หรืออัตราดอกเบี้ยซึ่งสะท้อนความเสี่ยงที่ต่ำลง
อย่างไรก็ดี สำหรับลูกหนี้ที่เริ่มเห็นสัญญาณของปัญหาว่าจะไม่สามารถปฏิบัติตามเงื่อนไขการกู้ยืมเงิน ขอแนะนำให้ติดต่อกับสถาบันการเงินแต่เนิ่นๆเพื่อเตรียมหาทางออกไว้ เช่น อาจขอปรับเงื่อนไขการผ่อนชำระเงิน เพื่อที่จะได้ไม่ถูกบันทึกประวัติการผิดนัดชำระหนี้ซึ่งจะเป็นประโยชน์แก่การทำธุรกรรมทางการเงินหรือประกอบธุรกิจต่อไป
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย