นายพรชัย ฬิลหาเวสส
คงไม่มีใครปฏิเสธได้ว่า โทรศัพท์เคลื่อนที่กลายมาเป็นส่วนหนึ่งในการดำเนินชีวิตประจำวันของเราไปแล้ว และในปัจจุบันการเข้าถึงบริการทางการเงินก็สามารถทำได้ง่ายขึ้นด้วยโทรศัพท์เคลื่อนที่ จากผลการศึกษาขององค์กรระดับสากลหลายแห่งแสดงให้เห็นถึงข้อดีหลายประการของบริการทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือที่เรียกว่า Mobile Financial Service (MFS) อาทิเช่น ช่วยให้การชำระเงินสะดวก รวดเร็ว ปลอดภัย ตอบสนองพฤติกรรมและความต้องการของผู้ใช้บริการในเขตเมือง และมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการส่งเสริมการเข้าถึงบริการทางการเงิน (Financial Inclusion) โดยเฉพาะผู้ใช้บริการในเขตห่างไกลที่ไม่สามารถเข้าถึงสาขา หรือ เครื่องเอทีเอ็ม (ATM) ของสถาบันการเงินได้สะดวก ซึ่งเมื่อประชาชนเข้าถึงบริการทางการเงินได้สะดวกและรวดเร็วขึ้น เงินในระบบก็มีการเปลี่ยนมือมากขึ้น และจะช่วยส่งผลดีต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
อย่างไรก็ดี ความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับ MFS ยังเป็นเรื่องไกลตัวสำหรับบางคน จึงทำให้อาจเกิดความลังเลใจที่จะเริ่มใช้บริการดังกล่าว อีกทั้ง มีคนไทยจำนวนมากที่ยังไม่ทราบว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนเองสามารถทำธุรกรรมทางการเงินอะไรได้บ้าง ไม่เห็นความจำเป็นในการใช้บริการ Mobile banking หรือยังกังวลเรื่องความปลอดภัยในการทำธุรกรรม จากความกังวลดังกล่าวข้างต้น ผมจึงขอไขข้อข้องใจต่าง ๆ ดังนี้ครับ
“เราใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำธุรกรรมทางการเงินอะไรได้บ้าง” ปัจจุบันหลายคนยังไม่ทราบว่าสามารถทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้ เพราะเข้าใจว่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ของตนสามารถทำได้เพียงโทรออก รับสาย และส่งข้อความ SMS เท่านั้น
ผมขออธิบายเรื่องนี้อย่างละเอียดครับ..... ปัจจุบันเราสามารถใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่ทำธุรกรรมทางการเงินได้ 2 ลักษณะหลัก ประกอบด้วย
1) การใช้บริการของธนาคารพาณิชย์ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เรียกว่า Mobile banking หรือ M-banking ซึ่งเป็นการใช้โทรศัพท์เคลื่อนที่เพื่อเข้าถึงบัญชีเงินฝากธนาคาร โดยลูกค้าสามารถทำธุรกรรมได้หลากหลายประเภท เช่น โอนเงินระหว่างบัญชีธนาคาร (ภายในธนาคารเดียวกัน/ต่างธนาคาร) ตรวจสอบยอดเงินในบัญชี ซื้อขายตราสาร/กองทุน รวมถึงชำระค่าสินค้าและบริการกับร้านค้าออนไลน์ และชำระใบแจ้งหนี้ เป็นต้น
2) การชำระเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ ที่เรียกว่า Mobile payment หรือ M-payment ซึ่งเป็นบริการอีกลักษณะหนึ่งที่กำลังได้รับความนิยมเพิ่มขึ้น เพราะสามารถทำรายการชำระเงินได้หลากหลาย เช่น ชำระค่าสินค้าและบริการ เติมเงินค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ ชำระใบแจ้งหนี้ และโอนเงินในกระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ (Mobile wallet) ระหว่างผู้ใช้บริการด้วยกัน โดยลูกค้าเองก็สามารถเลือกแหล่งเงินที่ใช้ในการทำธุรกรรมได้หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นการหักเงินจากบัญชีเงินฝากธนาคาร บัตรเครดิต กระเป๋าอิเล็กทรอนิกส์ หรือการคิดค่าใช้จ่ายรวมกับบิลค่าโทรศัพท์เคลื่อนที่ (Mobile Carrier Billing) ก็สามารถทำได้เช่นกันครับ
“ปรกติใช้บริการ Internet banking อยู่แล้ว จึงไม่จำเป็นต้องใช้บริการผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่” สำหรับผู้ที่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมผ่าน Internet banking อยู่แล้ว อาจไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องใช้บริการ M-banking เพราะอาจเห็นว่าขนาดหน้าจอที่เล็กอาจทาให้ทำธุรกรรมผิดพลาด และข้อจำกัดเกี่ยวกับประเภทธุรกรรมที่สามารถทำได้ จึงทำให้ Internet banking ตอบโจทย์มากกว่า
เรื่องนี้ผมขออธิบายเพิ่มเติมดังนี้ครับ ..... ปัจจุบันธนาคารผู้ให้บริการ M-banking หลายรายได้เริ่มให้บริการผ่าน application ที่มีการกำหนดฟังก์ชันการใช้งานให้เหมาะสมกับขนาดหน้าจอที่เล็ก อีกทั้ง ยังมีการจัดหมวดหมู่และประเภทธุรกรรมเฉพาะที่สำคัญ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ลูกค้าในการทำธุรกรรมทางการเงินได้ทุกที่และทุกเวลา โดยไม่จำเป็นต้องทำธุรกรรมที่หน้าจอคอมพิวเตอร์เหมือนการใช้บริการ Internet banking นอกจากนี้ หากท่านใช้บริการ Internet banking อยู่แล้ว ธนาคารส่วนใหญ่ยังได้อำนวยความสะดวกให้ลูกค้าสามารถเปิดใช้บริการ M-banking ได้ทันที เพราะข้อมูลของทั้งสองบริการเชื่อมโยงกัน ในขณะที่ธนาคารบางแห่ง ลูกค้าจะต้องลงทะเบียนและแจ้งเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่ที่ต้องการใช้บริการ M-banking ด้วย เพื่อเพิ่มความปลอดภัยให้เฉพาะเบอร์โทรศัพท์เคลื่อนที่นี้เท่านั้นสามารถทำธุรกรรมได้
M-banking ลักษณะนี้จึงเหมาะกับผู้ที่คุ้นเคยกับการทำธุรกรรมผ่าน Internet banking และต้องการทำธุรกรรมได้สะดวก รวดเร็ว ทุกที่ ทุกเวลา โดยเฉพาะผู้ใช้บริการในเขตเมืองที่เข้าถึงบริการทางอินเทอร์เน็ตอยู่แล้ว
“การทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ปลอดภัยจริงไหม” หลายคนเชื่อว่าการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่มีความเสี่ยง เพราะอาจถูกโจรกรรมข้อมูลส่วนตัวได้ง่าย หากมีบุคคลอื่นนำโทรศัพท์เคลื่อนที่ไปใช้ทำธุรกรรมทางการเงิน อาจสูญเงินในบัญชีที่ผูกไว้ หรือใน mobile wallet ทั้งหมด
ผมเห็นว่าท่านไม่น่าจะกังวลในเรื่องนี้มากเกินไปครับ …. เนื่องจากผู้ให้บริการ M-banking ที่เป็นธนาคารและผู้ให้บริการ M-payment ที่ไม่ใช้ธนาคาร มีระบบรักษาความปลอดภัย เพื่อให้ประชาชนเชื่อมั่นในการทำธุรกรรมทางการเงินผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ถึง 3 ขั้นตอน เริ่มจากการลงทะเบียน ขั้นตอนการชำระเงิน และภายหลังการชำระเงินเสร็จสิ้น โดยมีรายละเอียดต่าง ๆ ดังนี้ครับ
หากเป็นลูกค้า M-banking ของธนาคารส่วนใหญ่ในไทย ลูกค้าไม่จำเป็นต้องลงทะเบียนใหม่ เพราะสามารถกรอก username และ password เช่นเดียวกับที่กำหนดไว้สาหรับการเข้าใช้บริการ Internet banking แต่สำหรับ ลูกค้า M-banking ของธนาคารบางรายและลูกค้า M-payment ของผู้ให้บริการที่ไม่ใช่ธนาคาร ลูกค้ากลุ่มดังกล่าวสามารถเลือกลงทะเบียนด้วยหมายเลขโทรศัพท์เคลื่อนที่ หรือ อีเมล์ จากนั้นจึงกำหนด password ก่อนเริ่มใช้งาน เมื่อถึงขั้นตอนการชำระเงิน ลูกค้าต้องยืนยันตัวตนของลูกค้าอีกครั้งด้วยรหัสผ่านที่ได้รับทางข้อความ SMS ซึ่งเป็นรหัสที่ใช้ครั้งเดียว (One Time Password) และจะเปลี่ยนไปทุกครั้งที่ทำรายการใหม่ ภายหลังจากขั้นตอนการชำระเงินเสร็จสิ้นแล้ว ผู้ให้บริการจะส่งข้อความ SMS หรือ อีเมล์ ให้ลูกค้าอีกครั้ง เพื่อเป็นหลักฐานการชำระเงิน
คำอธิบายข้างต้นน่าจะมีส่วนช่วยให้ท่านเลิกกังวล และสามารถเลือกใช้บริการทางการเงินลักษณะต่าง ๆ ผ่านโทรศัพท์เคลื่อนที่ได้เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์ของตนเอง ซึ่งจะช่วยให้การใช้ชีวิตของเราในโลกยุคดิจิตอล “สะดวกและรวดเร็วขึ้นอีกเยอะ”
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย