​กลยุทธ์ฟื้นตลาดแรงงานไทย ตอนที่ 2 : จุดแข็งจุดอ่อนจากบทเรียนการพ้นวิกฤตในอดีต

การเร่งสูงขึ้นของจำนวนผู้ติดเชื้อโควิด-19 ทำให้ภาครัฐต้องกลับมาดำเนินมาตรการล็อกดาวน์เพื่อควบคุมการแพร่ระบาด เศรษฐกิจไทยและตลาดแรงงานจึงได้รับผลกระทบทางตรงอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ คำถามสำคัญระหว่างที่เรากำลังรอให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับมาเดินหน้า คือ ตลาดแรงงานจะฟื้นตัวได้อย่างไร จะมีธุรกิจไหนมาสร้างงานรองรับแรงงานที่มีความเสี่ยงจะตกงาน ในวันนี้จึงขอเชิญชวนทุกท่านมาร่วมทบทวนพัฒนาการตลาดแรงงานในหลายห้วงวิกฤตที่ผ่านมา เพื่อประเมินจุดอ่อนจุดแข็งตลาดแรงงานไทย


ในช่วงสองรอบนักษัตรก่อนหน้า ประเทศไทยเผชิญกับวิกฤตการณ์การเงินเอเชีย หรือวิกฤตต้มยำกุ้ง ทำให้การจ้างงานหดตัวในปี 2541 ถึงเกือบร้อยละ 5 ก่อนที่จะใช้เวลาอีกสามปี การจ้างงานจึงจะกลับไปอยู่ในระดับก่อนวิกฤต หลังจากนั้น ตลาดแรงงานไทยได้รับอานิสงส์จากการขยายตัวของภาคอุตสาหกรรม การก่อสร้างและการค้า ที่เติบโตตามการเชื่อมโยงเศรษฐกิจไทยเข้ากับเศรษฐกิจโลกหลังค่าเงินบาทอ่อนค่าลงมากทำให้สินค้าไทยมีความได้เปรียบในด้านราคา โดยในช่วงปี 2543 ถึง 2548 การจ้างงานเติบโตร้อยละ 2.4 ต่อปี ขณะที่การจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมและภาคการค้าโตเกือบร้อยละ 5 และ การจ้างงานขยายตัวกว่าร้อยละ 7 ต่อปีในภาคก่อสร้าง

ต่อมา วิกฤตการณ์การเงินโลกในปี 2552 อาจไม่ได้ส่งผลต่อตลาดแรงงานไทยในภาพรวม แต่ยุติแนวโน้มการเร่งขยายการจ้างงานในภาคอุตสาหกรรมถึงร้อยละ 3 ต่อปีหลังวิกฤตต้มยำกุ้งลง และหลังจากนั้นภาคอุตสาหกรรมไทยก็ไม่เคยมีการจ้างงานเติบโตในระดับดังกล่าวได้อีกเลยจนถึงปัจจุบัน ปัจจัยสำคัญที่ช่วยรักษาการจ้างงานไว้ในห้วงเวลาหลังจากนั้น คือ การที่แรงงานไทยไหลเข้าสู่ภาคเกษตรโดยมีการจ้างงานขยายตัวร้อยละ 3 ต่อปี ในปี 2554-55 ซึ่งเป็นช่วงเดียวกันกับที่ราคาสินค้าเกษตรปรับสูงขึ้นเฉลี่ยถึงร้อยละ 11 ต่อปีในช่วงปี 2551-55 อันเป็นผลจากทั้งราคาสินค้าเกษตรที่ปรับสูงขึ้นหลังวิกฤตราคาอาหารโลกในปี 2550 และมาตรการสนับสนุนราคาสินค้าเกษตรในไทย

กิจกรรมทางเศรษฐกิจที่มารับไม้ต่อในการรักษาการจ้างงานหลังผลบวกของมาตรการสนับสนุนด้านราคาสินค้าเกษตรหมดลง คือ ภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติขยายตัวถึงร้อยละ 10 ต่อปีในช่วง 2558-2562 ส่งผลให้ภาคการโรงแรม ภัตตาคาร และการขนส่ง มีการจ้างงานขยายตัวร้อยละ 2 ต่อปีในช่วงนั้น จนกระทั่ง วิกฤตการณ์โควิดรอบล่าสุดทำให้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลดลงจากเกือบ 40 ล้านคนในปี 2562 มาเหลืออยู่เพียงประมาณ 7 ล้านคน ซึ่งเป็นระดับเดียวกันกับจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติก่อนปี 2540

พัฒนาการตลาดแรงงานไทยสะท้อนข้อสังเกตประการสำคัญ คือ ตลาดแรงงานไทยมีความยืดหยุ่นสูง คนไทยสามารถเคลื่อนย้ายไปยังสาขาเศรษฐกิจที่มีความต้องการแรงงานเพิ่มขึ้นตามปัจจัยเฉพาะในแต่ละช่วงเวลาเป็นอย่างดี จึงเป็นจุดแข็งสำคัญในการพาคนไทยฝ่าวิกฤตมาได้ครั้งแล้วครั้งเล่า และสร้างงานสร้างอาชีพให้กับแรงงานไทยมาโดยตลอด แต่นี่ก็อาจเป็นห้วงเวลาทดสอบสำคัญในประวัติศาสตร์ เมื่อกระแสเศรษฐกิจต้องหยุดชะงักจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 แล้วจะมีสาขาเศรษฐกิจใดมารับช่วงต่อจากภาคการท่องเที่ยวในการชักจูงตลาดแรงงานไทยให้พ้นวิกฤตได้

ตลาดแรงงานที่มีลักษณะเปลี่ยนแปลงไปตามกระแสของกิจกรรมในภาพรวม ได้เผยจุดอ่อนสำคัญ คือ แรงงานไทยไม่ได้ถูกความจำเป็นบีบคั้นให้ต้องปรับตัวในด้านการยกระดับ/ปรับทักษะนักเพราะในช่วงกว่าสองทศวรรษที่ผ่านมาจะมีกิจกรรมหัวรถจักรมาเสนอโอกาสในการจ้างงานได้โดยตลอด จึงน่ากังวลเป็นอย่างยิ่งว่าตลาดแรงงานไทยจะเป็นอย่างไรในโลกหลังโควิดที่อาจไม่เหมือนเดิม และยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงว่าจะมีกิจกรรมใดมาสร้างงานจำนวนมากรองรับคนที่สูญเสียงานไปในช่วงโควิดนี้ได้หรือไม่ ในตอนหน้าจะขอขมวดทั้งโอกาส ความท้าทาย จุดอ่อน และจุดแข็งของตลาดแรงงานไทย เพื่อเสนอกลยุทธ์ฟื้นฟูตลาดแรงงานไทย


ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 24 กรกฎาคม 2564




บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย