​ท่องเที่ยวไทย...ครึ่งหลังหวังพลิกเกม ?

นายวศิน โรจยารุณ

กว่า 10 ปีที่ผ่านมา ภาคการท่องเที่ยวไทยขยายตัวอย่างก้าวกระโดด จากเดิมนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาไทยเดือนละไม่ถึง 1 ล้านคน เป็นเดือนละกว่า 2 ล้านคนในปัจจุบัน แม้แต่ในปี 2556 ที่เศรษฐกิจโลกชะลอจนทำให้การส่งออกสินค้าไทยหดตัว แต่นักท่องเที่ยวต่างชาติยังเข้ามาไทยเพิ่มขึ้นต่อเนื่องจนทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 26.5 ล้านคน สร้างรายได้ไม่ต่ำกว่า 10.8 % ของ GDP กล่าวได้ว่าภาคการท่องเที่ยวเป็นเครื่องยนต์สำรองที่ช่วยประคับประคองเศรษฐกิจไทยให้ก้าวข้ามผ่านมรสุมมาได้

แต่สถานการณ์การท่องเที่ยวไทยพลิกกลับจากหน้ามือเป็นหลังมือนับตั้งแต่ต้นปี 2557 จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติกลับหดตัวอย่างต่อเนื่องอันเป็นผลมาจากเหตุการณ์ความไม่สงบทางการเมืองที่ลากยาวมาตั้งแต่ปลายปี 2556 โดยมีพัฒนาการเสื่อมถอยมาเป็นลำดับ นับตั้งแต่การชุมนุมและปิดการจราจรในกรุงเทพฯ การประกาศ พ.ร.ก. ฉุกเฉิน แม้สถานการณ์จะดีขึ้นภายหลังการยกเลิก พ.ร.ก. ทาให้นักท่องเที่ยวกลับมาใกล้เคียงปกติ แต่เป็นเพียงช่วงสั้นๆ ก่อนที่จะกลับไปหดตัวอีกครั้งหลังเทศกาลสงกรานต์ จนกระทั่งการประกาศกฏอัยการศึกและการรัฐประหารในเดือนพฤษภาคม แม้การทำรัฐประหารจะทำให้สถานการณ์การเมืองมีความชัดเจนขึ้นและส่งผลดีต่อภาคเศรษฐกิจโดยรวม โดยเฉพาะความชัดเจนภาครัฐที่สร้างความเชื่อมั่นต่อผู้บริโภคและนักลงทุน แต่ต้องยอมรับว่าภาคการท่องเที่ยวกลับเป็นภาคเดียวที่ได้รับผลกระทบทางลบและรุนแรงกว่าใคร เนื่องจากต่างชาติไม่เข้าใจและไม่เชื่อมั่นในสถานการณ์ทางการเมืองไทย นับเป็นเรื่องน่าเสียดายที่ภาคการท่องเที่ยวของไทยต้องมาสะดุดในช่วงที่แนวโน้มการท่องเที่ยวของโลกอยู่ในช่วงขาขึ้น โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่ขยายตัวสูงในประเทศอื่นๆ แต่กลับหดตัวในประเทศไทย เปรียบเสมือนมีโอกาสผ่านมาแต่ไทยไม่สามารถคว้าไว้ได้

หลายฝ่ายอาจคิดว่าภาคการท่องเที่ยวไทยน่าจะฟื้นตัวได้รวดเร็วโดยเปรียบเทียบกับการทำรัฐประหารในปี 2549 ที่พบว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชะลอตัวลงไปบ้างและใช้เวลาเพียง 1-2 เดือนก็สามารถกลับมาขยายตัวได้ในระดับใกล้เคียงกับก่อนเกิดรัฐประหาร แต่มีความเป็นไปได้ว่าครั้งนี้ผลกระทบอาจมีความรุนแรงและยาวนานกว่า เนื่องจากสถานการณ์ทางการเมืองที่รุนแรงและยืดเยื้อมาตั้งแต่ช่วงปลายปี 2556 บั่นทอนบรรยากาศการท่องเที่ยวมาอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประเทศต่างๆ ทยอยประกาศแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ โดย ณ วันที่ 17 มิถุนายน 2557 มีประเทศที่ประกาศแจ้งเตือนนักท่องเที่ยวแล้ว 66 ประเทศ ต่างจากปี 2549 ที่ไม่มีประเทศใดเลยที่ประกาศแจ้งเตือนนักท่องเที่ยว ซึ่งการประกาศเตือนภัยนี้ส่งผลกระทบต่อความครอบคลุมการทำประกันของนักท่องเที่ยว ทั้งยังพบว่าแม้ไทยจะยกเลิกเคอร์ฟิวทั่วไประเทศแล้วกลับพบว่าไม่มีประเทศที่ยกเลิกการประกาศเตือนภัยแต่อย่างใด จึงเป็นอุปสรรคท้ายทายอย่างยิ่งของทั้งทางการและภาคเอกชนที่จะช่วยฟื้นฟูภาคท่องเที่ยวไทยในครั้งนี้

นอกจากนี้ โครงสร้างนักท่องเที่ยวไทยยังเปลี่ยนไปจากอดีตโดยมีนักท่องเที่ยวจากเอเชียตะวันออกในสัดส่วนที่สูงกว่าอดีตอยู่มาก ซึ่งนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เองเป็นกลุ่มที่อ่อนไหวสูงต่อเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง แต่ในวิกฤติย่อมมีโอกาสเสมอ เนื่องจากนักท่องเที่ยวเอเชียแม้จะอ่อนไหวสูงแต่ก็เป็นกลุ่มที่สามารถกลับมาพลิกฟื้นอย่างรวดเร็วเช่นกัน กล่าวได้ว่าเป็นนักท่องเที่ยวกลุ่มที่มีศักยภาพอย่างสำคัญในการช่วยดึงให้ ภาคการท่องเที่ยวไทยที่ล้มลงกลับมาลุกได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งภาคการท่องเที่ยวไทยจะลุกได้ไวแค่ไหนนั้นคง ขึ้นอยู่กับความร่วมมือของภาครัฐและเอกชนในการเร่งสร้างความเข้าใจกับนักท่องเที่ยวต่างชาติ รวมทั้งเร่ง ฟื้นฟูบรรยากาศภาคท่องเที่ยวโดยเฉพาะด้านความปลอดภัย ซึ่งปัจจุบันหลายฝ่ายกาลังเร่งดาเนินการกันอย่างเต็มที่

ภาคการท่องเที่ยวไทยนั้นมีจุดแข็งรอบด้านอยู่แล้ว โดยรายงานสำรวจภาคท่องเที่ยวของ World Economic Forum ปีล่าสุดเปิดเผยว่าอุตสาหกรรมท่องเที่ยวไทยยังมีจุดเด่นในด้านการคมนาคมทางอากาศ โรงแรมและที่พัก ราคาคุ้มค่า และความมีอัธยาศัยดี ปัจจัยการเมืองนั้นหากเปรียบเทียบก็เป็นเสมือนมรสุม ระยะสั้นๆ ที่ผ่านมาแล้วก็ผ่านไป ถ้าทุกฝ่ายร่วมมือกันอย่างจริงจังและหากสถานการณ์ทางการเมืองของไทย คลี่คลาย ก็ยังมีโอกาสที่นักท่องเที่ยวจะหลั่งไหลกลับเข้ามาเยือนไทยอีกครั้งด้วยศักยภาพแข็งแกร่งของตนเอง ที่มีอยู่ อย่างไรก็ดี ควรใช้วิกฤตครั้งนี้ให้เป็นโอกาสโดยทุกฝ่ายควรตระหนักถึงการพัฒนาภาคการท่องเที่ยวใน ระยะยาวด้วย โดยทั้งภาครัฐและเอกชนควรร่วมมือกันเตรียมความพร้อมในการลงทุนเพื่อรองรับการกลับเข้า มาของนักท่องเที่ยวระลอกใหม่ โดยเฉพาะการพัฒนาเส้นทางคมนาคม และสาธารณูปโภคพื้นฐาน รวมทั้งเน้น สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับภาคการท่องเที่ยวอีกด้วย เช่น การท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ หรือการจัดประชุมสัมนาที่มี ค่าใช้จ่ายต่อทริปสูง เพื่อผลักดันให้ภาคการท่องเที่ยวเปลี่ยนบทบาทจากเครื่องยนต์สารองให้กลายมาเป็น เครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยในระยะยาวได้อีกทางหนึ่ง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย