สุพริศร์ สุวรรณิก
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค
เฟสบุ๊ค” โซเชียลมีเดียอันดับ 1 เพิ่งประกาศการสร้างสกุลเงินดิจิทัลใหม่ล่าสุดของโลกที่มีชื่อว่า “ลิบร้า (Libra)” ไปสดๆ ร้อนๆ เมื่อวันอังคารที่ผ่านมา (18 มิ.ย.) สร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับวงการการเงินโลกอีกครั้ง นับตั้งแต่การเปิดตัวของสกุลเงินดิจิทัลหรือคริปโทเคอร์เรนซีสกุลแรกของโลก คือ บิทคอยน์ (Bitcoin) ที่ราคายังผันผวนอย่างหนักมาถึงทุกวันนี้ อย่างไรก็ตาม มีคำถามสำคัญว่าลิบร้าจะสามารถบรรลุเป้าหมายความเป็น “เงิน” ดังที่หวังไว้ได้หรือไม่ บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จึงขอชวนทุกท่านมาทำความรู้จักลิบร้าและตอบคำถามนี้กัน
ตามเอกสารที่อธิบายหลักการและเหตุผลของการสร้างลิบร้า หรือที่เรียกว่า white paper ซึ่งมีความยาวทั้งหมด 12 หน้า (เทียบกับ white paper ของบิทคอยน์ที่มีความยาว 9 หน้า) สามารถสรุปได้โดยสังเขปว่า จุดประสงค์สำคัญของการสร้างและออกใช้ลิบร้าคือ “การเป็นสกุลเงินของโลก (global currency)” (ไม่แตกต่างจากจุดประสงค์ของการสร้างบิทคอยน์) โดยลิบร้าจะดำเนินงานอยู่บนระบบบล็อกเชนที่สามารถรองรับผู้ใช้งานที่ตั้งเป้าไว้ถึงระดับพันล้านคนได้ และหนุนหลังมูลค่าลิบร้าด้วยเงินสำรอง ซึ่งเป็นตะกร้าของสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ (ยังไม่ได้ประกาศในรายละเอียด แต่แตกต่างจากบิทคอยน์ที่ไม่มีเงินสำรอง) รวมทั้งกำกับดูแลโดยหน่วยงานอิสระที่มีชื่อเหมือนกับสกุลเงินตนเองว่า Libra Association ซึ่งประกอบด้วยสมาชิกถึง 28 หน่วยงานยักษ์ใหญ่ในหลายกลุ่มธุรกิจ (รวมเฟสบุ๊ค) อาทิ การชำระเงิน เทคโนโลยี และองค์กรไม่แสวงหากำไร
จะเห็นได้ว่า ลิบร้าถูกสร้างและออกใช้โดยหน่วยงานกลาง (ในที่นี้คือ Libra Association ซึ่งเปรียบเสมือนธนาคารกลางในประเทศต่างๆ ที่ออกใช้เงินแต่ละสกุลของตน) มีสินทรัพย์หนุนหลัง (ในที่นี้คือตะกร้าของสินทรัพย์ในสกุลเงินต่างๆ ที่มีความเสี่ยงต่ำ) เพื่อเพิ่มความน่าเชื่อถือ ซึ่งจะทำให้ลิบร้ามีมูลค่าในตัวเอง (intrinsic value) และมีจุดประสงค์ในการสร้างและออกใช้ที่ชัดเจนโดยเฉพาะ นั่นคือ การมุ่งเป็นสกุลเงินของโลก
อย่างไรก็ตาม การจะเข้าข่ายความเป็น “เงิน” ที่ใช้ได้อย่างแพร่หลายตามวัตถุประสงค์นั้น ลิบร้าจำเป็นต้องมีคุณสมบัติทั้งหมด 3 ประการ ได้แก่ 1) เป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน (medium of exchange) 2) เป็นที่เก็บรักษามูลค่า (store of value) หรือการมีมูลค่าไม่ผันผวน และ 3) มีหน่วยวัดทางบัญชี (unit of account) หรือพูดง่ายๆ คือ มีการคิดราคาสินค้าและบริการเป็นหน่วยสกุลลิบร้าหรือไม่ ดังนั้น คงจะเป็นการด่วนสรุปเกินไป หากจะตัดสินในตอนนี้ว่า ลิบร้ามีหรือไม่มีคุณสมบัติของความเป็นเงินอย่างครบถ้วน เพราะมองไปข้างหน้า ยังคงมีคำถามอีกมากมายที่ลิบร้าต้องตอบและรอการพิสูจน์ในประเด็นดังต่อไปนี้
1) การเป็นสื่อกลางในการแลกเปลี่ยน: ลิบร้าจะต้องเป็นที่ยอมรับในวงกว้างเพื่อเป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนสินค้าและบริการ และจะต้องสามารถใช้ชำระหนี้ได้จริงตามกฎหมาย คำถามสำคัญที่ตามมาคือ ภาครัฐในแต่ละประเทศจะยอมประกาศให้ลิบร้าสามารถชำระหนี้ได้ตามกฎหมายหรือไม่? (ล่าสุดเริ่มมีทางการจากหลายประเทศ รวมทั้งสมาชิกรัฐสภาสหรัฐฯ เริ่มแสดงท่าทีต่อต้านลิบร้า)
2) การเก็บรักษามูลค่า: ลิบร้าจะต้องมีมูลค่าไม่ผันผวนจนเกินไป จึงจะสามารถเก็บรักษามูลค่าหรือความมั่งคั่ง (wealth) ของผู้ถือลิบร้าได้ ทำให้มีคำถามว่า การมีสินทรัพย์หนุนหลังจะช่วยให้ลิบร้ามีความน่าเชื่อถือและทำให้มูลค่ามั่นคงมากน้อยเพียงใด? หน่วยงานที่กำกับดูแลจะมีการทำงานอย่างรัดกุมแค่ไหน?
3) การเป็นหน่วยวัดมูลค่า: การตั้งราคาสินค้าและบริการจะต้องใช้ลิบร้าเป็นหน่วยวัดมูลค่า เช่น ร้านอาหารพิมพ์เมนูโดยใช้หน่วยลิบร้าเป็นตัววัดมูลค่า (menu cost) คำถามที่ตามมาคือ ลิบร้าจะได้รับความไว้วางใจ (trust) จากร้านค้าและผู้บริโภคมากเพียงพอที่จะนำลิบร้ามาเป็นหน่วยวัดมูลค่าโดยตรงหรือไม่?
ดังนั้น จึงจำเป็นต้องติดตามพัฒนาการของลิบร้าต่อไปอย่างใกล้ชิด เพราะนอกจากเราจะ “ก้าวทัน” เทคโนโลยีในยุคที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วแล้ว เราจำเป็นต้อง “รู้ทัน” และทำความเข้าใจอย่างถูกต้องลึกซึ้งด้วยครับ!
บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด