​การบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน

นางสาวกัญญมน ไทยถานันดร

ในการประกอบธุรกิจหนึ่ง ๆ ผู้ประกอบการย่อมต้องการให้ “ต้นทุน” หรือ “กำไร” มีความแน่นอนเพื่อที่จะสามารถวางแผนให้ธุรกิจเติบโตต่อไปได้ หากธุรกิจของเราเกี่ยวข้องกับการซื้อขายเฉพาะภายในประเทศ โดยมีรายรับและรายจ่ายทั้งหมดเป็นสกุลเงินบาทแล้ว อัตราแลกเปลี่ยนหรือ “ค่าเงินบาท” จะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรก็ดูจะไม่มีผลกระทบโดยตรงต่อต้นทุนหรือกำไรของเรา แต่ในสภาวะเศรษฐกิจปัจจุบันที่สังคมมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีรวมถึงการเปิดเสรีของเขตเศรษฐกิจต่าง ๆ ทำให้การค้าขายไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต รายรับและรายจ่ายของหลายบริษัทโดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำเข้าและผู้ส่งออกอยู่ในรูปของเงินตราต่างประเทศทำให้ผลประกอบการมีมูลค่าขึ้นอยู่กับอัตราแลกเปลี่ยนโดยตรง ซึ่งถ้าหากจะเปรียบเทียบแล้วในมุมมองของผู้เล่นในตลาด อัตราแลกเปลี่ยนก็เหมือนสภาพอากาศที่เปลี่ยนแปลงบ่อยและคาดเดาได้ยาก เนื่องจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้นอ่อนไหวต่อปัจจัยต่าง ๆ ที่มากระทบทั้งจากภายในประเทศและจากภายนอกประเทศ ดังนั้น ย่อมมีโอกาสที่จะเกิดผลขาดทุนในผลประกอบการอันเนื่องมาจากความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งเราเรียกความเสี่ยงนี้ว่า “ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน” (Foreign exchange risk)

ยกตัวอย่างเช่น ถ้าเราเป็นผู้ส่งออกซึ่งจะได้รับค่าสินค้าในอีก 1 เดือนข้างหน้าเป็นเงิน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐ โดยมีอัตราแลกเปลี่ยน ณ วันตกลงซื้อขาย (Spot rate) เท่ากับ 30 บาท แต่ปรากฏว่าในอีก 1 เดือนถัดมา เงินบาทเกิดแข็งค่าขึ้นและมีอัตราแลกเปลี่ยนเท่ากับ 29 บาท นั่นเท่ากับว่าสินค้าซึ่งเคยมีมูลค่า ณ วันตกลงซื้อขายเท่ากับ 900,000 บาท (US$30,000 x 30) เมื่อเวลาผ่านไป 1 เดือน มูลค่าของสินค้าชิ้นเดิมลดลงเหลือเพียง 870,000 บาท (US$30,000 x 29) เท่านั้น เกิดผลขาดทุนจำนวน 30,000 บาท โดยที่เราไม่ได้ทำอะไรเลย…หรือพูดอีกอย่างคือเราขาดทุนเพราะเราไม่ยอม “ทำอะไรเลย” นั่นเอง

การเปิดรับความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนแบบ 100% หรือการที่เรากำลังจะมีรายรับหรือรายจ่ายในรูปของเงินตราต่างประเทศในอนาคต แล้วเอาแต่นั่งลุ้นให้อัตราแลกเปลี่ยนปรับไปในทิศทางที่เราจะได้กำไรจากอัตราแลกเปลี่ยนนั้น เปรียบเสมือนการเล่นการพนันค่ะ ด้านหนึ่งก็ตื่นเต้น มีรสชาติดี อีกด้านหนึ่งก็เหมือนการเล่นกับไฟ อาจเกิดผลขาดทุนตามตัวอย่างได้…ซึ่งถ้าหากธุรกิจหลักของเราไม่ใช่การค้าเงินตราต่างประเทศแล้ว เราควรใช้เวลาส่วนใหญ่เพื่อการประกอบธุรกิจหลักมากกว่าที่จะมุ่งเก็งกำไรจากอัตราแลกเปลี่ยน เพราะผลขาดทุนที่เกิดขึ้นอาจล้างกำไร (Profit margin) ของธุรกิจจนหมดได้...แล้วเราจะปรับลดความเสี่ยงนี้อย่างไรดี ?

การปรับลดความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนทำได้ 2 แบบ คือ แบบไม่ใช้ตัวช่วย และแบบใช้ตัวช่วยสำหรับแบบแรก “ไม่ใช้ตัวช่วย” หมายถึง การบริหารความเสี่ยงด้วยการลดจำนวนรายรับหรือรายจ่ายในสกุลเงินต่างประเทศให้เหลือน้อยที่สุด โดยหลัก ๆ มี 3 วิธี ได้แก่

1. ซื้อขายในสกุลเงินบาทเท่านั้น : หากค่าสินค้าหรือค่าบริการมีการรับและจ่ายในรูปสกุลเงินบาท เราก็จะไม่มีความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยน วิธีการนี้ถือเป็นการผลักภาระความเสี่ยงใหกั้บคู่สัญญาเต็ม ๆ เลยก็ว่าได้
2. การจับคู่ (Natural hedging) : หากเรามีทั้งรายรับและรายจ่ายอยู่ในรูปสกุลเงินตราต่างประเทศสกุลเดียวกัน เราสามารถใช้ประโยชน์จากบัญชีเงินฝากเงินตราต่างประเทศ (Foreign currency deposit: FCD) โดยการนำรายรับในรูปเงินตราต่างประเทศ ไปชำระค่าสินค้าในสกุลเงินเดียวกัน โดยไม่ต้องแปลงค่าเงินกลับมาเป็นสกุลเงินบาทแต่อย่างใด ซึ่งวิธีการนี้ถือเป็นวิธีการหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่ง่ายที่สุด
3. การหักกลบลบหนี้ (Netting) : หากเรามีคู่สัญญาในต่างประเทศที่เป็นทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ของเราในเวลาเดียวกัน การทำสัญญาเพื่อหักกลบลบหนี้ระหว่างกัน โดยกำหนดให้แต่ละฝ่ายชำระค่าสินค้าหรือค่าบริการเฉพาะส่วนต่างที่เหลื่อมกันอยู่เท่านั้น จะช่วยลดจำนวนเงินที่ต้องแปลงกลับมาเป็นสกุลเงินบาท

อนุพันธ์ ในภาษาอังกฤษใช้คำว่า “derivatives” มาจาก “derive” ที่มีความหมายว่า “สืบเนื่องจาก” สาเหตุเพราะอนุพันธ์นั้นไม่มีมูลค่าในตัวเอง แต่จะมีมูลค่าสืบเนื่องมาจากสินค้าอ้างอิง (Underlying) โดยสินค้าอ้างอิงอาจเป็นสินค้าที่มีตัวตน จับต้องได้ (Tangible assets) เช่น ข้าว อ้อย น้ำตาล เป็นต้น หรืออาจเป็นสินค้าไม่มีตัวตน ไม่อาจจับต้องได้ (Intangible assets) เช่น อัตราดอกเบี้ย ดัชนีราคาหุ้นหรืออัตราแลกเปลี่ยนก็ได้

อนุพันธ์ที่มีสินค้าอ้างอิงเป็นอัตราแลกเปลี่ยนที่ทำความเข้าใจลักษณะธุรกรรมได้ง่ายและมีโครงสร้างไม่ซับซ้อนประเภทหนึ่ง มีชื่อว่า “FX forward” ค่ะ FX forward เป็นสัญญาที่ทำขึ้นระหว่างคู่สัญญา 2 ฝ่าย (Bilateral agreement) เพื่อซื้อหรือขายเงินตราต่างประเทศล่วงหน้า ที่มีการกำหนดอัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้า (Forward exchange) และจำนวนเงินที่ต้องการซื้อ หรือขาย ไว้คงที่ตั้งแต่วันเข้าทำสัญญา แต่จะมีการส่งมอบและชำระราคากันในอนาคต (มากกว่า 2 วันทำการขึ้นไป)

ยกตัวอย่างเช่น สมมติว่าเราเป็นผู้ส่งออกสินค้าไปต่างประเทศซึ่งจะได้รับค่าสินค้าจำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐในอีก 1 เดือนข้างหน้าเหมือนในตัวอย่างแรก แต่คราวนี้เราไปทำสัญญา FX forward หรือสัญญาขายดอลลาร์สหรัฐล่วงหน้ากับธนาคาร ที่อัตราแลกเปลี่ยนล่วงหน้าเท่ากับ 30.10 บาท หมายความว่าเราสามารถรู้ได้ทันทีว่ารายได้จากการขายสินค้าในครั้งนี้จะมีมูลค่าเท่ากับ 903,000 บาท (US$30,000 x 30.10) ไม่ว่าอัตราแลกเปลี่ยนในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ซึ่งวิธีนี้จะช่วยลดความไม่แน่นอนของผลประกอบการอันเกิดจากความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนได้นั่นเอง

สิ่งสำคัญที่ต้องเน้นย้ำคือ FX forward เป็นสัญญาซึ่งเป็นภาระผูกพัน (Obligation) ระหว่างคู่สัญญาทั้งสองฝ่าย ที่จะต้องปฏิบัติตามเงื่อนไขที่กำหนดไว้ในสัญญา หมายความว่าในอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าเมื่อเราได้รับค่าสินค้าจำนวน 30,000 ดอลลาร์สหรัฐจากคู่ค้าในต่างประเทศ เรามีภาระที่จะต้องขายดอลลาร์สหรัฐ จำนวนดังกล่าวให้กับธนาคารที่ราคา 30.10 บาท และธนาคารเองก็มีภาระที่จะต้องรับซื้อดอลลาร์สหรัฐจากเราที่ราคาดังกล่าวด้วยเช่นกัน เมื่ออ่านถึงตรงนี้ผู้อ่านหลายท่านอาจมีคำถามว่า ถ้ายอดสั่งซื้อสินค้าจากคู่ค้าในต่างประเทศของเราไม่แน่นอนล่ะ ?

ความไม่แน่นอนของกระแสรายรับหรือรายจ่ายเป็นเรื่องที่อาจเกิดขึ้นได้ในการทำธุรกิจโดยเฉพาะธุรกิจนำเข้าและส่งออก เช่น ยอดสั่งซื้อถูกปรับเปลี่ยน วันที่ในการเรียกเก็บค่าสินค้าก็ไม่แน่นอน แล้วอย่างนี้จะบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนอย่างไร ?... “Prorata forward” อาจเป็นทางเลือกที่น่าพิจารณา เนื่องจาก Prorata forward เป็นธุรกรรมที่คล้ายกับ FX forward ที่ได้อธิบายไปข้างต้นมาก แต่มีข้อแตกต่างที่เราสามารถทยอยขายหรือทยอยซื้อเงินตราต่างประเทศจำนวนเท่าไหร่ก็ได้ (แต่ต้องไม่เกินจำนวนสูงสุดที่กำหนดไว้ตามสัญญา) ในวันใดก็ได้ภายในวันสิ้นสุดสัญญา ทำให้ถือว่าเป็นอนุพันธ์เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนที่เอื้อประโยชน์ต่อภาคธุรกิจที่มีความไม่แน่นอนของกระแสรายรับรายจ่ายเงินตราต่างประเทศเป็นอย่างมาก

บทความนี้เป็นเพียงบทความแนะนำวิธีการบริหารความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนในเบื้องต้นเท่านั้น ผู้อ่านสามารถหาข้อมูลเพิ่มเติมได้จากจุลสาร “เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับการบริหารความเสี่ยงจากอัตราแลกเปลี่ยน(1)” รวมถึงสามารถขอคำแนะนำในการทำธุรกรรมอนุพันธ์ได้จากเจ้าหน้าที่ของธนาคารที่ท่านใช้บริการอยู่ เนื่องจากปัจจุบันธนาคารหลายแห่งมีการจัดโครงสร้างอนุพันธ์ให้ตรงตามความต้องการและรูปแบบธุรกิจของลูกค้ามากยิ่งขึ้นกว่าในอดีต แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราซึ่งเป็นผู้ใช้บริการก็ต้องศึกษาธุรกรรมให้เข้าใจอย่างแท้จริงเสียก่อนที่จะเข้าทำธุรกรรมใด ๆ เพราะการปิดตาบริหารความเสี่ยงนอกจากจะไม่สามารถลดความเสี่ยงได้แล้วยังจะเพิ่มความเสี่ยงให้มากขึ้นอีกด้วย
ความเสี่ยงด้านอัตราแลกเปลี่ยนหรือความไม่แน่นอนของผลประกอบการอันเกิดจากความไม่แน่นอนของอัตราแลกเปลี่ยนนั้นสามารถบริหารจัดการได้ เพียงแค่เราต้องใช้เวลาศึกษาทำความเข้าใจว่าวิธีการและเครื่องมือทางการเงินอะไรที่สามารถช่วยเราได้ แล้วเลือกใช้สิ่งที่เหมาะสมและเป็นประโยชน์กับเรามากที่สุดค่ะ นอกจากนี้ ต้องไม่ลืมว่าเครื่องมือทางการเงินอาจก่อประโยชน์หรือก่อโทษได้ทั้งนั้น เราควรศึกษาข้อดีข้อเสียของเครื่องมือแต่ละชนิดให้ดีก่อนการตัดสินใจทุกครั้งค่ะ

-------------------------

1) สามารถดาวน์โหลดจุลสารได้ที่ http://www.bot.or.th/Thai/FinancialMarkets/Documents/FX_RiskMngt.pdf โดยจุลสารดังกล่าวเป็นการร่วมกันจัดทำระหว่างธนาคารแห่งประเทศไทยและชมรม เอซีไอ ประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย