นับตั้งแต่เกิดการแพร่ระบาดของ COVID-19 ภาคธุรกิจล้วนได้รับผลกระทบอย่างไม่อาจหลีกเลี่ยง หลายธุรกิจไปต่อไม่ไหว ขณะที่ธุรกิจส่วนหนึ่งยังสามารถประคับประคองให้ธุรกิจยังดำเนินการต่อได้ แต่ต้องใช้เวลาอีกระยะหนึ่งในการฟื้นตัวสู่ระดับเดิม รวมถึงต้องใช้เงินทุนจำนวนมาก โดยเฉพาะธุรกิจ SMEs ที่นอกจากสายป่านสั้น ยังเข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ยาก
ที่ผ่านมา ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มองเห็นถึงปัญหาดังกล่าวที่หากไม่รีบช่วยเหลือเติมเงินให้ธุรกิจได้ทันท่วงที ธุรกิจ SMEs ที่เป็นแหล่งจ้างงานสำคัญอาจล้มหายตายจาก และกระทบเศรษฐกิจไทยเป็นวงกว้าง ระยะแรก ธปท. จึงออกมาตรการสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (Soft loan) เพื่อช่วยเหลือเยียวยาผู้ประกอบการในระยะสั้น โดยสามารถช่วยเหลือ SMEs ได้ถึง 7.7 หมื่นราย วงเงินรวม 1.4 แสนล้านบาท แต่ด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดที่ยาวนานกว่าที่คาดไว้ ธปท. และกระทรวงการคลังจึงเห็นความจำเป็นในการออก พ.ร.ก. ฟื้นฟูฯ เมื่อวันที่ 19 เมษายน 2564 เพื่อแก้ไขข้อจำกัดของสินเชื่อ soft loan เดิม ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไป ประกอบด้วย (1) มาตรการสินเชื่อฟื้นฟู และ (2) มาตรการพักทรัพย์พักหนี้ ซึ่งภายหลังได้มีการปรับปรุงหลักเกณฑ์ ให้ธุรกิจสามารถเข้าถึงมาตรการได้มากขึ้นและฟื้นตัวได้ต่อเนื่อง จนถึงปัจจุบันมีลูกหนี้ที่ได้รับการช่วยเหลือผ่านสินเชื่อฟื้นฟูกว่า 5.6 หมื่นราย คิดเป็นยอดอนุมัติสินเชื่อ 1.9 แสนล้านบาท และผ่านโครงการพักทรัพย์พักหนี้ จำนวน 387 ราย คิดเป็นมูลค่าสินทรัพย์ที่รับโอนราว 5 หมื่นล้านบาท
เมื่อการแพร่ระบาดเริ่มคลี่คลาย และกิจกรรมทางเศรษฐกิจทยอยกลับมาได้มากขึ้นเป็นลำดับ แต่อนาคตข้างหน้ายังมีความท้าทายอีกมากจากพฤติกรรมผู้บริโภคและทิศทางตลาดที่เปลี่ยนแปลงไป อันเนื่องจากการแพร่ระบาดของโควิดที่ยาวนานจนเป็นปัจจัยเร่งให้เกิดบริบทโลกใหม่ (New normal) ทั้งกระแสดิจิทัล และ ESG (Environmental, Social, Governance) นำไปสู่การปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตหรือบริการ เพื่อให้สอดรับกับพฤติกรรมผู้บริโภค ซึ่งเทรนด์ดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นในต่างประเทศเท่านั้น จากการสัมภาษณ์ผู้ประกอบการไทยพบว่าธุรกิจรายใหญ่เริ่มให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านนี้มากขึ้น โดยมีการลงทุนด้านเทคโนโลยีเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตหรือบริการ และลดต้นทุน การลงทุนด้านสิ่งแวดล้อมเพื่อลดของเสียจากการทำงานและใช้พลังงานทดแทน เช่น ติดตั้ง Solar roof เพื่อประหยัดค่าไฟท่ามกลางราคาพลังงานที่สูงขึ้น รวมถึงมีใบรับรองมาตรฐานด้านสิ่งแวดล้อมและพลังงานที่เป็นหนึ่งในข้อตกลงซื้อขายกับคู่ค้าบางประเทศ ขณะที่ธุรกิจ SMEs ยังปรับตัวได้ค่อนข้างช้า เนื่องจากเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เงินสูงและใช้เวลานานในการคืนทุน ธปท. เห็นถึงความสำคัญต่อการปรับตัวเพื่อตอบรับเทรนด์เหล่านี้ จึงได้ออกมาตรการสินเชื่อใหม่ต่อยอดจากสินเชื่อฟื้นฟู หรือที่เรียกกันว่า “สินเชื่อเพื่อการปรับตัว” ที่จะช่วยให้ธุรกิจ SMEs ของไทยที่อยู่ในช่วงเปลี่ยนผ่านพร้อมปรับตัวให้สามารถแข่งขันในตลาดโลกและเติบโตได้อย่างไม่สะดุด
สินเชื่อเพื่อการปรับตัวคืออะไร
สินเชื่อเพื่อการปรับตัว (Transformation Loan) เริ่มมีผลบังคับใช้เมื่อ ก.ย. 65 ที่ผ่านมา เป็นสินเชื่อที่มีกำหนดระยะเวลา (Term loan) เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบธุรกิจ SMEs ที่ได้รับผลกระทบจากสถานการณ์โควิด และได้ประคับประคองกิจการผ่านช่วงที่รุนแรงของสถานการณ์ ให้สามารถเข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีต้นทุนต่ำในวงเงินที่เหมาะสมกับความต้องการเงินลงทุนในการปรับปรุง หรือพัฒนาเครื่องจักร อุปกรณ์ ตลอดจนระบบหรือกระบวนการต่าง ๆ เพื่อเสริมศักยภาพธุรกิจให้สอดรับกับ New normal ซึ่งแตกต่างจากสินเชื่อฟื้นฟูที่เน้นเสริมสภาพคล่อง โดยตัวอย่างกิจกรรมที่เข้าข่ายได้รับการสนับสนุนสามารถแบ่งออกเป็น 3 รูปแบบ ได้แก่
(1) กระแสดิจิทัลเทคโนโลยี (Digital technology) เป็นการลงทุนเพื่อพัฒนาประสิทธิภาพการบริหารจัดการธุรกิจ เช่น ติดตั้งระบบซื้อขาย Online ระบบงาน Smart warehouse รวมถึงลงทุน Automation ใช้ในการปรับกระบวนการผลิตหรือบริการ
(2) การดำเนินธุรกิจที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Green) เป็นการลงทุนระบบประหยัดพลังงาน เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น ติดตั้งระบบจัดการน้ำ ดักจับคาร์บอน หรือพลังงานแสงอาทิตย์ รวมถึงการลงทุนรองรับธุรกิจพลังงานสะอาด เช่น ศูนย์ซ่อมบำรุง และสถานีชาร์จ EV
(3) นวัตกรรมแห่งอนาคต (Innovation) เป็นการลงทุนเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เสริมความสามารถในการแข่งขัน ตอบโจทย์การใช้ชีวิตใหม่ เช่น Smart farming และ Plant-based food รวมถึงการลงทุนที่นำไปสู่ธุรกิจ High-value service ที่ทันสมัยและปลอดภัย เช่น ปรับสถานประกอบการเป็นธุรกิจ Wellness หรือรองรับการทำงานในยุคใหม่ (Work from anywhere)
สำหรับหลักเกณฑ์ในการให้สินเชื่อยังคงสอดคล้องกับสินเชื่อฟื้นฟูที่ครอบคลุมทั้งลูกหนี้เดิมที่มีวงเงินไม่เกิน 500 ลบ. และลูกหนี้ใหม่ (ณ 28 ก.พ. 64 และไม่เป็น NPL ณ 31 ธ.ค. 62) โดยวงเงินสินเชื่อเพื่อการปรับตัวกำหนดไว้ไม่เกิน 150 ลบ. (รวมวงเงิน Soft loan และสินเชื่อฟื้นฟูทั้งหมด) ภายใต้ข้อกำหนดเกี่ยวกับการค้ำประกันที่ยืดหยุ่นมากขึ้น อัตราดอกเบี้ยเฉลี่ย 5 ปีแรกไม่เกิน 5% ต่อปี และ 2 ปีแรกอัตราดอกเบี้ยไม่เกิน 2% ต่อปี โดยภาครัฐชดเชยดอกเบี้ย 6 เดือนแรก ซึ่งภาคธุรกิจที่สนใจสามารถศึกษารายละเอียดรูปแบบการปรับตัวเพิ่มเติมที่นี่ หรือติดต่อสอบถามที่สถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการได้ตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไปถึง เม.ย. 66
ผู้เขียนหวังว่ามาตรการดังกล่าวจะช่วยสนับสนุนการฟื้นตัวของธุรกิจไทยให้เติบโตพร้อมรับ New normal และสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้อย่างยั่งยืน
ผู้เขียน :
ดร. กิ่งกาญจน์ เกษศิริ
ชุติกา เกียรติเรืองไกร
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ
คอลัมน์ “ร่วมด้วยช่วยคิด” นสพ.ประชาชาติธุรกิจ
ฉบับวันที่ 24-26 ตุลาคม 2565
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย