​เทคโนโลยีอวกาศกับการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างยั่งยืนของเกษตรกรไทย

​ดร.โสมรัศมิ์ จันทรัตน์
ดร.ปรีสาร รักวาทิน
ดร.จุฑาทอง จารุมิลินท

ปัจจุบันทุกๆ ที่ในโลกจะมีดาวเทียมหลายชนิดโคจรและถ่ายภาพลงมาบนโลกอย่างต่อเนื่อง และด้วยเทคโนโลยีที่หลากหลายประกอบกับเทคนิคการวิเคราะห์สีและการสะท้อนของแสงเมื่อมีการถ่ายภาพจากดาวเทียม ทำให้เกิดการสร้างข้อมูลที่สามารถติดตามสภาวะต่างๆ ของพื้นที่ในแต่ลงช่วงเวลาได้ เช่นความเขียวของพื้นที่ ความหนาแน่นของป่าไม้ ปริมาณฝนที่คิดจากความหนาแน่นของเมฆ ระยะเวลาน้ำท่วมขัง แสงไฟยามค่ำคืน เป็นต้น

เนื่องจากข้อมูลจากดาวเทียมมีจุดเด่นหลายประการ เช่น มีความละเอียดสูงสามารถสะท้อนสภาวะรายพื้นที่ และยังสามารถครอบคลุมทั่วประเทศ (หรือในบางกรณีทั่วโลก) และถูกจัดเก็บและประมวลผลอย่างโปร่งใส รวดเร็ว มีความถี่สูง เป็นระบบอย่างต่อเนื่องเป็นระยะเวลายาวนาน ข้อมูลเหล่านี้จึงเป็นขุมทรัพย์ที่สำคัญเชิงเศรษฐกิจและนโยบาย และได้ถูกนำมาประยุกต์ใช้เป็นตัวชี้วัดการเปลี่ยนแปลงสภาวะทางเศรษฐกิจหรือการใช้ทรัพยากรในระดับพื้นที่ ที่ไม่มีข้อมูลหรือการเก็บข้อมูลเป็นไปได้ยาก ใช้ในการมุ่งเป้าเชิงนโยบายใช้ในการประเมินความเสียหายจากภัยพิบัติต่างๆ ในหลายประเทศข้อมูลดาวเทียมได้ถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในภาคเกษตร เช่น ในการวางแผนการเพาะปลูกให้มีประสิทธิภาพ (precision farming) การควบคุมปริมาณผลผลิตในตลาดเพื่อลดความเสี่ยงทางราคา และการประกันภัยพืชผล ทั้งนี้ข้อมูลจากดาวเทียมก็เหมือนข้อมูลชนิดอื่นๆ ที่อาจมีความผิดพลาดซึ่งอาจเกิดจากการประมวลหรือวิเคราะห์ การนำไปประยุกต์ใช้จึงต้องอาศัยการวิจัยและพัฒนาประกอบด้วย

การใช้ข้อมูลดาวเทียมในภาคเกษตรยังไม่แพร่หลายนักในประเทศไทย งานวิจัยนี้ศึกษาความเป็นไปได้ในการนำข้อมูลจากดาวเทียมมาสร้างฐานข้อมูลเพาะปลูกและความเสี่ยงของเกษตรกรเพื่อใช้ประโยชน์ในการพัฒนาการบริหารจัดการความเสี่ยงอย่างยั่งยืนให้กับภาคเกษตรไทย ซึ่งมีความสำคัญต่อการสร้างเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของเกษตรกร เพราะทุกๆ ปี ประมาณหนึ่งในห้าของเกษตรกร 6.5 ล้านครัวเรือนทั่วประเทศประสบปัญหาผลผลิตหรือรายได้ตกต่ำ แต่เกษตรกรส่วนใหญ่ยังไม่มีเครื่องมือจัดการความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพเพียงพอ ระบบประกันภัยพืชผลในปัจจุบันก็ยังคงไม่มีประสิทธิภาพ เนื่องจากขาดข้อมูลที่มีคุณภาพ และวิธีการประเมินความเสี่ยงที่แม่นยำ โปร่งใสและรวดเร็ว เป็นที่ยอมรับของเกษตรกรและผู้รับประกันภัย รัฐบาลและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เองก็ยังขาดข้อมูลที่มีคุณภาพในการพุ่งเป้าความช่วยเหลือและในการบริหารจัดการความเสี่ยงทางการคลังที่ยั่งยืน

ข้อมูลดาวเทียมสามารถสะท้อนการเพาะปลูกและความเสี่ยงของชาวนาได้จริงหรือ? ข้อมูลดาวเทียม Terra MODIS และ Radarsat ที่มีความถี่และความละเอียดสูงทั่วประเทศ ได้ถูกนำมาประยุกต์และวิเคราะห์ร่วมกับข้อมูลภูมิสารสนเทศทางพื้นที่อื่นๆ เช่น แผนที่ชลประทาน สภาพดินและพันธุ์พืช และสร้างฐานข้อมูลที่สามารถชี้วัดพื้นที่ปลูกข้าวทั่วประเทศ วันเริ่มปลูก การเจริญเติบโต การเก็บเกี่ยวและความเสียหายในแต่ละพื้นที่ในระดับกลุ่มแปลง ซึ่งจะสามารถใช้ในการติดตามสถานะการเพาะปลูกแบบใกล้เคียงเวลาจริง ตลอดจนนำมาสร้างสถิติความเสี่ยงเกษตรกรจากข้อมูลจากดาวเทียมระยะเวลา 16 ปี ในอดีตของแต่ละพื้นที่กว่าหกสิบล้านไร่ทั่วประเทศ



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย