​บันไดสู่เกษตรที่ยั่งยืนบนวิถีปกติใหม่





"เราจะปลดล็อกข้อจำกัดที่ทำให้ภาคเกษตรวนเวียนอยู่ในโลกเก่า เพื่อเปิดรับและนำพาแรงงานรุ่นใหม่ไปทำการเกษตรที่ยั่งยืน บนวิถีปกติใหม่ได้อย่างไร บทความนี้เสนอแนวทางปลดล็อกข้อจำกัด ตั้งแต่การจัดการน้ำ กระบวนการเพาะปลูก ไปถึงการตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย"

การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด19 ได้สร้างวิกฤตทั้งทางด้านสาธารณสุขและเศรษฐกิจอย่างที่ไม่เคยพบมาก่อนในช่วงชีวิตคน แม้ที่ผ่านมาประเทศไทยสามารถรับมือโควิด19 ได้ดีจนทั่วโลกให้การยอมรับ สามารถควบคุมการแพร่ระบาดของไวรัส พร้อมทั้งเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบ ตลอดจนทยอยผ่อนคลายมาตรการควบคุมโรคเพื่อให้หน่วยธุรกิจสามารถกลับมาดำเนินกิจการได้ตามลำดับ แต่สถานการณ์ยังมีความไม่แน่นอนสูง รวมถึงรูปแบบการทำธุรกิจที่อาจเปลี่ยนแปลงไปภายใต้วิถีปกติใหม่ ทำให้แรงงานมีโอกาสได้รับผลกระทบมากและกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานได้ยาก เช่น แรงงานในธุรกิจที่มีกำลังการผลิตส่วนเกินเนื่องจากได้รับผลกระทบรุนแรง และแรงงานในธุรกิจที่ปรับไปใช้ automation ในกระบวนการผลิต รวมถึงแรงงานสูงอายุและแรงงานทักษะน้อย แนวโน้มดังกล่าวจะทำให้แรงงานจำนวนหนึ่งต้องกลับถิ่นฐานของตนเพื่อประกอบอาชีพเป็นการถาวร ดังนั้น คำถามเชิงนโยบายที่สำคัญ คือ เราจะปลดล็อกข้อจำกัดที่ทำให้ภาคเกษตรวนเวียนอยู่ในโลกเก่าเพื่อเปิดรับ และนำพาแรงงานรุ่นใหม่ไปทำการเกษตรที่ยั่งยืนบนวิถีปกติใหม่ได้อย่างไร หากเราสามารถปรับโครงสร้างภาคเกษตรให้เป็นแหล่งจ้างงานต่อเนื่องจะช่วยให้ประชาชนสามารถอาศัย และประกอบอาชีพอยู่ในภูมิลำเนาของตน ไม่ต้องเข้ามาแออัดทำงานในเมืองใหญ่ ทำให้ประชาชนมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น และช่วยรักษาระยะห่างทางกายภาพ (physical distancing) ตามวิถีปกติใหม่ บทความนี้เสนอแนวทางปลดล็อกข้อจำกัดของเกษตรโลกเก่าเพื่อรองรับแรงงานส่วนหนึ่งที่ได้รับผลกระทบโควิด19 มาสู่เกษตรที่ยั่งยืนบนวิถีปกติใหม่ ซึ่งประกอบด้วย (1) การบริหารจัดการน้ำ (2) การบริหารจัดการผลกระทบจากความเสี่ยงสภาพอากาศ (3) การปรับปรุงกระบวนการผลิตของเกษตรกร และ (4) การตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย

(1) การบริหารจัดการน้ำ

ที่ผ่านมา ภาคเกษตรไม่สามารถเป็นแหล่งจ้างงานที่ต่อเนื่อง เพราะพื้นที่เกษตรร้อยละ 83 ยังอยู่นอกเขตชลประทาน (รอยล จิตรดอน, 2561) ทำให้คนในภาคเกษตรส่วนใหญ่โดยเฉพาะภาคตะวันออกเฉียงเหนือทำการเกษตรได้เฉพาะฤดูฝน และต้องเข้าเมืองเพื่อหางานทำนอกฤดูเพาะปลูก อันที่จริงแล้วประเทศไทยมีน้ำต้นทุนที่ดี หากบริหารจัดการให้ดีก็สามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีก ข้อมูลจากงาน Thailand Sustainable Water Management Forum 2016 (สุเมธ ตันติเวชกุล, 2559) แสดงให้เห็นว่า ประเทศไทยมีความต้องการใช้น้ำประมาณ ปีละ 1 แสนล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.) ขณะที่ฝนตกเฉลี่ยถึงปีละ 7.5 แสนล้าน ลบ.ม. แต่สามารถกักเก็บน้ำไว้ใช้ประโยชน์ได้เพียง 0.4 แสนล้าน ลบ.ม. หรือร้อยละ 5.7 นอกจากนั้น เรายังมีแหล่งน้ำใต้ดินที่มีศักยภาพปีละ 4.1 หมื่นล้าน ลบ.ม. แต่ถูกนำมาใช้เพียงปีละ 0.35 หมื่นล้าน ลบ.ม. หรือ ร้อยละ 8.5 (ดังรูปที่ 1)


รูปที่ 1 ความต้องการใช้น้ำ VS ศักยภาพน้ำของไทย


ที่มา: ข้อมูลจาก สุเมธ ตันติเวชกุล. (2559). ปาฐกถาพิเศษเรื่องสถานการณ์น้ำของประเทศไทย. งาน Thailand Sustainable Water Management Forum 2016

แนวทางบริหารจัดการน้ำและการสนับสนุนจากภาครัฐควรเป็นวิธีใหม่ให้สมกับวิถีปกติใหม่ การพัฒนาแหล่งน้ำควรใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง (area-based) โดยให้ความสำคัญกับพื้นที่นอกเขตชลประทานมากขึ้น กล่าวคือ แนวทางพัฒนาแหล่งน้ำในแต่ละพื้นที่ต้องสอดคล้องกับศักยภาพและกายภาพของพื้นที่ที่หลากหลาย เน้นการเชื่อมแหล่งน้ำขนาดใหญ่ กลาง เล็ก และแหล่งน้ำของครัวเรือนทั้งบนดินและใต้ดิน เพื่อกระจายพื้นที่รับน้ำและลดการพึ่งพาน้ำจากแหล่งใดแหล่งหนึ่ง ทำให้คนในพื้นที่มีน้ำใช้ตลอดทั้งปี ต่อยอดจากแผนการขับเคลื่อนโครงการสำคัญปี 2563-2565 ของสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ 195 โครงการ วงเงินรวม 473,027 ล้านบาท พื้นที่รับประโยชน์ 7.5 ล้านไร่ แนวทางพัฒนาดังกล่าวต้องอาศัยการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงานราชการกับคนในพื้นที่เพื่อให้ได้โมเดลแหล่งน้ำที่ตอบโจทย์ความต้องการของคนในพื้นที่มากที่สุด เนื่องจากต้องใช้ทั้งศาสตร์ความรู้ของหน่วยงานราชการร่วมกับภูมิปัญญาและความร่วมมือของชาวบ้านในพื้นที่


พื้นที่พัฒนาของมูลนิธิปิดทองหลังพระในภูมิภาคต่างๆ เป็นรูปธรรมของการพัฒนาและบริหารจัดการแหล่งน้ำชุมชนอย่างยั่งยืน ซึ่งอาศัยการประสานประโยชน์ระหว่างภาครัฐ เอกชน และคนในพื้นที่ ร่วมกับการวางกลไกแบ่งปันผลประโยชน์และชดเชยผลกระทบของโครงการ ตัวอย่างเช่น โครงการพื้นที่ต้นแบบบูรณาการแก้ไขปัญหาและพัฒนาพื้นที่ตำบลแก่นมะกรูด อำเภอบ้านไร่ จังหวัดอุทัยธานี ตามแนวพระราชดำริ ที่สามารถแก้ปัญหาชาวบ้านบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพด จนชาวบ้านสามารถอยู่ร่วมกับป่าได้อย่างยั่นยืน โดยอาศัยความร่วมมือจากภาครัฐในการอนุญาตให้องค์การบริหารส่วนจังหวัดใช้เครื่องจักรและชาวบ้านร่วมออกแรงในการพัฒนาแหล่งน้ำในพื้นที่ป่าเพื่อให้มีน้ำทำเกษตรตลอดทั้งปีเป็นการสร้างรายได้จากพืชทางเลือก ลดเงื่อนไขที่ทำให้ชาวบ้านต้องบุกรุกป่าเพื่อทำไร่ข้าวโพดเนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ


อีกตัวอย่างหนึ่งคือ โครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ที่แก้ปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากในฤดูฝนและแล้งซ้ำซากในฤดูแล้งในพื้นที่อำเภอกมลาไสยและอำเภอร่องคำ จังหวัดกาฬสินธุ์ การดำเนินการเริ่มจากการนำโมเดลการพัฒนาไปหารือกับประชาคมหมู่บ้าน 53 แห่ง เพื่อชี้แจงผลประโยชน์และแนวทางบรรเทาผลกระทบที่จะเกิดกับแต่ละหมู่บ้าน ผลกระทบสำคัญของโครงการที่ต้องบริหารจัดการคือ การนำดิน 5 ล้านคิวที่เกิดจากการขุดลอกหนองไปถมในพื้นที่ท่วมซ้ำซากและพื้นที่รอบหนอง 2,039 ไร่ แม้จะมีประโยชน์กับเจ้าของที่ดิน แต่อาจสร้างผลกระทบเนื่องจากดินที่ได้จากการขุดลอกชั้นลึกๆ จะขาดสารอาหารส่งผลกระทบต่อผลผลิตการเกษตร ซึ่งหน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถชี้แจงแนวทางบรรเทาผลกระทบทั้งการปรับสภาพและเติมอินทรีย์วัตถุในดินจนชาวบ้านในพื้นที่เห็นชอบ หลังจากนั้นภาครัฐโดยกองทัพบกจึงดำเนินการตามข้อสรุปจากประชาคม และส่งมอบให้องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นในพื้นที่บริหารจัดการการใช้ประโยชน์และดูแลรักษาแหล่งน้ำ โดยอาศัยค่าบริการจากผู้ใช้น้ำ


เมื่อได้โมเดลแหล่งน้ำที่เป็นที่ยอมรับจากคนในพื้นที่และส่วนราชการในพื้นที่แล้ว รูปแบบการลงทุนโครงการควรปรับเปลี่ยนให้สอดคล้องกับรูปแบบความร่วมมือ โดยเปลี่ยนจากเดิมที่หน่วยงานราชการเป็นผู้ให้ชาวบ้านเป็นผู้รับมาสู่การร่วมจ่ายระหว่างภาครัฐและเอกชน โดยรัฐลงทุนในโครงสร้างส่วนกลางที่ใช้ประโยชน์ร่วมกัน ขณะที่ชาวบ้านต้องร่วมลงทุนโครงสร้างย่อยที่เป็นส่วนบุคคลเพื่อเชื่อมต่อกับโครงสร้างส่วนกลาง เพื่อให้ชาวบ้านต้องรับผิดชอบต่อการตัดสินใจของตน อันเป็นเงื่อนไขสำคัญที่จะช่วยยืนยันว่าโครงการดังกล่าวสร้างตรงตามความต้องการและเป็นประโยชน์ให้ชาวบ้านได้จริง ทั้งนี้ ภาครัฐอาจสนับสนุนการร่วมลงทุนของชาวบ้านในลักษณะสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษและมีระยะปลอดหนี้ เพื่อให้ชาวบ้านใช้จัดจ้างเอกชนมาดำเนินการส่วนต่อขยายในพื้นที่ของตนซึ่งทำให้มีเงินหมุนเวียนและเป็นผลดีต่อเศรษฐกิจฐานราก

(2) การบริหารจัดการผลกระทบจากความเสี่ยงสภาพอากาศ

จนถึงปัจจุบัน พวกเราโดยเฉพาะเกษตรกรคงทราบถึงผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) เป็นอย่างดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา เราประสบภัยธรรมชาติที่รุนแรงและบ่อยครั้งขึ้น เริ่มจากมหาอุทกภัยปี 2554 ตามมาด้วยภัยแล้งปี 2558 และภัยแล้งล่าสุดปี 2562 ที่รุนแรงที่สุดในรอบ 40 ปี จากแนวโน้มดังกล่าวประกอบกับการที่ทั่วโลกยังไม่สามารถลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกได้ตามแผนที่วางไว้ ทำให้เชื่อได้ว่าโอกาสเกิดภัยธรรมชาติสูงและรุนแรงขึ้นในอนาคต ซึ่งสร้างความเสียหายต่อผลผลิตการเกษตรมากกว่าในอดีตเป็นอันมาก


ประกันภัยพืชผลเป็นเครื่องมือทางการเงินที่สำคัญในการบริหารจัดการความเสี่ยงจากภัยดังกล่าว โดยบริษัทประกันเป็นตัวกลางรวบรวมเบี้ยประกันภัยจากผู้ประกันภัยมาชดเชยให้ผู้ประสบภัย โดยใช้ประโยชน์จากการกระจายความเสี่ยงทั้งเชิงพื้นที่และชนิดสินค้าเกษตรในการแสวงหากำไร ที่ผ่านมาตลาดประกันภัยพืชผลไม่สามารถทำงานอย่างมีประสิทธิภาพเนื่องจาก (1) ต้นทุน (transaction cost) ในการตรวจสอบและจ่ายเงินชดเชยความเสียหายสูง และ (2) ไม่มีระบบข้อมูลสำหรับประเมินความเสี่ยงเชิงพื้นที่ (โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี, 2559) จึงทำให้บริษัทประกันภัยต้องคิดค่าพรีเมี่ยมสำหรับความไม่แน่นอนในส่วนนี้สูงเกินจริง จึงไม่จูงใจให้เกษตรกรทำประกัน อย่างไรก็ดี ข้อจำกัดเหล่านี้สามารถแก้ไขได้ด้วยเทคโนโลยีและการเชื่อมโยงการทำงานระหว่างหน่วยงานต่างๆ


น่ายินดีที่ปัจจุบัน 7 หน่วยงาน ได้แก่ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) สมาคมประกันวินาศภัยไทย และสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรได้ร่วมกันพัฒนาระบบประกันภัยพืชผล โดยบูรณาการข้อมูลทั้งจากข้อมูลภาคสนามและข้อมูลภาพถ่ายดาวเทียมเพื่อประเมินความเสี่ยงของแต่ละพื้นที่ พร้อมทั้งทดลองใช้ mobile application ตรวจสอบความเสียหายเพื่อจ่ายเงินชดเชย (ทีมวิจัยภาคเกษตรและระบบการเงินภาคเกษตร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2563) ดังรูปที่ 2


รูปที่ 2 จุดเริ่มต้นของการบูรณาการข้อมูลการเกษตรของ 7 หน่วยงาน


ที่มา: รูปจากบทความ “จากสนามทดลองเพื่อการวิจัยสู่การพัฒนาภาคเกษตรไทย” ของทีมวิจัยภาคเกษตรและระบบการเงินภาคเกษตร สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์, 2563

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถขยายผลความร่วมมือดังกล่าวไปสู่การทำฐานข้อมูล open data ทางกายภาพของพื้นที่ อาทิ ชุดดิน ศักยภาพแหล่งน้ำ พยากรณ์อากาศ และความเสี่ยงเชิงพื้นที่ ที่เป็นปัจจุบันอยู่เสมอเพื่อให้เกษตรกรและภาคเอกชนสามารถใช้ประโยชน์และต่อยอดเป็นระบบสนับสนุนการผลิตและการตลาดก็จะช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันภาคเกษตรไทยอีกมาก (ณรงค์ศักดิ์, ศุภาชัย, สุเมธ, และเกียรติคุณ, 2562) ดังตารางที่ 1


ตารางที่ 1 ประโยชน์ของการพัฒนาระบบข้อมูลในแต่ละระดับ จำแนกตามผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้อง


ที่มา: ณรงค์ศักดิ์, ศุภาชัย, สุเมธ, และเกียรติคุณ. (2562). แนวทางการใช้ BIG DATA เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน

(3) การปรับปรุงกระบวนการผลิตของเกษตรกร

การปรับปรุงกระบวนการผลิตเป็นหัวใจสำคัญของการเพิ่มผลิตภาพ ลดต้นทุน และเพิ่มคุณภาพผลผลิต ที่ผ่านมาประเทศไทยมีงานวิจัยด้านเกษตรมากมาย แต่น่าเสียดายที่ผลงานเกือบทั้งหมดไม่ถูกนำไปปฏิบัติจริงในแปลงของเกษตรกร ทั้งนี้ อาจเกิดได้จากหลายสาเหตุ อาทิ เกษตรกรเข้าไม่ถึงหรือไม่สามารถย่อยงานวิจัยดังกล่าว เกษตรกรมีพฤติกรรมเคยชินกับการผลิตในรูปแบบเดิม หรือเกษตรกรมีข้อจำกัดด้านการเงิน เราสามารถก้าวข้ามข้อจำกัดเหล่านี้ได้ด้วยความร่วมมือของหน่วยงานภาครัฐ ภาคประชาสังคม และเอกชน ดังตัวอย่างการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-Based) ที่กลุ่มบริษัทเบทาโกรดำเนินการมากว่า 10 ปี (รูปที่ 3)


รูปที่ 3 แนวทางพัฒนาชุมชนเชิงพื้นที่แบบองค์รวม (Holistic Area-Based)


ที่มา: วนัส แต้ไพสิฐพงษ์ (2562). ภูมิทัศน์ภาคเกษตรไทย จะพลิกโฉมอย่างไรสู่ ่การพัฒนาที่ยังยืน ่ โอกาสและความท้าทายในการยกระดับศักยภาพของภาคเกษตรกรรม ในงาน BOT symposium 2019

จากการถอดบทเรียนการพัฒนาเชิงพื้นที่แบบองค์รวมของเบทาโกร การสนับสนุนเกษตรกรปรับตัวต้องอาศัยการจัดกระบวนการเรียนรู้อย่างต่อเนื่องผ่านการปฏิบัติจริงและชี้ให้เห็นผลเชิงประจักษ์ในพื้นที่ของเขาเอง กระบวนการดังกล่าวเริ่มจากการสร้างความเชื่อมั่น (trust) ในตัวผู้จัดกระบวนการว่ามีความตั้งใจและมุ่งมั่นที่จะแก้ไขอุปสรรคร่วมกับเขาอย่างแท้จริง หากหน่วยงานภาครัฐ ธ.ก.ส. และภาคประชาสังคมร่วมกันเป็นทีมเข้าไปทำงานกับเกษตรกรอย่างต่อเนื่องก็จะสร้างความเชื่อมั่นได้มาก หลังจากนั้นค่อยจัดการกับข้อจำกัดด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการเงิน ตามลำดับ


ในการเพิ่มรายได้และลดต้นทุนให้เกษตรกร เบทาโกรจัดกระบวนเรียนรู้ให้เกษตรกรปรับปรุงการเพาะปลูกพืชหลักของตนให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ โดยเบทาโกรสังเคราะห์คู่มือการเพาะปลูกตามหลักวิชาของหน่วยงานภาครัฐต่างๆ ให้อยู่ในรูปแบบ check list ที่เข้าใจง่าย เพื่อให้นักจัดกระบวนการในพื้นที่ใช้สื่อสารและจัดกระบวนเรียนรู้ร่วมกับเกษตรกร จากการวิเคราะห์ข้อมูลที่เบทาโกรเก็บจากครัวเรือนเกษตรที่ร่วมโครงการ 230 ครัวเรือนใน 9 ตำบลจากทุกภาคของประเทศ (สมบูรณ์ สุเมธ และณัฐอร, 2563) พบว่า การปรับปรุงกระบวนการเพาะปลูกให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ (check list) ในขั้นตอนต่างๆ ได้แก่ การใช้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพและสอดคล้องกับกายภาพของพื้นที่ การเลือกช่วงเวลาเพาะปลูกที่เหมาะสม การตรวจดินและใช้ปุ๋ยสั่งตัด การตรวจแปลง การจัดการวัชพืชและโรคระบาด และการเลือกช่วงเวลาเก็บเกี่ยวที่เหมาะสม ช่วยเพิ่มผลผลิตต่อไร่ได้อย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น การวางแผนเลือกช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเพาะปลูกและเก็บเกี่ยวยังช่วยลดความผันผวนของผลผลิตได้อีกด้วย ส่งผลให้ต้นทุนต่อหน่วยและความเสี่ยงด้านการผลิตของเกษตรกรลดลง


เพื่อให้เกษตรกรสามารถเข้าสู่กระบวนการเรียนรู้ ทีมงานต้องจัดการกับข้อจำกัดทั้งด้านเศรษฐศาสตร์พฤติกรรมและการเงินของเกษตรกร อาทิ การหลีกเลี่ยงความเสียหาย (loss aversion) เมื่อคนเราต้องทดลองแนวทางใหม่ย่อมกังวลว่าผลลัพธ์อาจไม่ดีเท่าเดิม ทีมงานสามารถจัดการเรื่องดังกล่าวได้หลายวิธี เช่น การให้เกษตรกรแบ่งพื้นที่เพียงส่วนหนึ่งมาทดลองแนวทางใหม่ ซึ่งนอกจากลดขนาดความเสียหายที่อาจเกิดจากแนวทางใหม่แล้ว ยังช่วยให้เกษตรกรสามารถเปรียบเทียบผลลัพธ์ระหว่างแนวทางใหม่กับแนวทางเดิมว่าวิธีไหนดีกว่ากัน เมื่อเกษตรกรเห็นผลสำเร็จที่เกิดจากการกระทำด้วยตนเองก็จะทำให้เขาเกิดความมั่นใจและปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและความเชื่ออย่างแท้จริง การใช้เครื่องมือทางการเงิน เช่น การชดเชยส่วนต่างหรือความเสียหายจากการทดลองวิธีใหม่ หรือการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยพิเศษสำหรับการลงทุนเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตก็มีส่วนช่วยลดข้อจำกัดในการปรับกระบวนการผลิตของเกษตรกร


นอกจากนั้น การสร้างระบบนิเวศที่เอื้อต่อการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม เช่น การมีแหล่งจัดหาปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพ อาทิ เมล็ดพันธุ์ที่หลากหลายและมีคุณภาพ หรือแม่ปุ๋ยเพื่อให้เกษตรกรสามารถนำมาผสมเป็นปุ๋ยสั่งตัดตามลักษณะดินในพื้นที่ของตน และการจัดกิจกรรมการทางสังคม เช่น การแข่งขันหรือยกย่องเกษตรกรที่สามารถพัฒนาได้ก้าวหน้าที่สุดก็มีส่วนสร้างกระแสสังคมในการกระตุ้นให้เกษตรกรพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง


รูปที่ 4 เว็บไซต์ A-FarmMart


ที่มา: เว็บไซต์ https://afarmmart.com/

(4) การตลาดและช่องทางจัดจำหน่าย

วิถีปกติใหม่ในด้านการตลาด พบว่า ช่วงวิกฤตโควิด19 ที่ผ่านมา การซื้อสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์และบริการส่งสินค้าถึงมือผู้บริโภคกลายเป็นพฤติกรรมปกติใหม่ของผู้บริโภค ช่องทางดังกล่าวเป็นข้อต่อที่ขาดหายไปในอดีต (missing link) ที่จะเชื่อมต่อให้การตลาดสามารถนำการผลิตได้อย่างแท้จริง ที่ผ่านมาผู้บริโภคเชื่อมต่อกับเกษตรกรผ่านพ่อค้าคนกลางและสื่อสารผ่านราคาเป็นหลัก แต่ด้วยช่องทางออนไลน์เกษตรกรสามารถสื่อสารกับผู้บริโภคได้โดยตรงและสามารถทำงานร่วมกับเจ้าของ platform ในการวิเคราะห์พฤติกรรมผู้บริโภคเพื่อปรับปรุงคุณภาพสินค้าและตอบสนองความต้องการผู้บริโภคได้อย่างต่อเนื่อง ปัจจุบันมีผู้พัฒนา platform ดังกล่าวอยู่พอสมควร อาทิ

(1) Farmbook ที่เป็น platform สนับสนุนการบริการจัดการฟาร์มแบบครบวงจร ตั้งแต่วางแผนการผลิต ติดตามการเพาะปลูก ระบบบัญชี คลังสินค้า ตลอดจนการตลาด หรือ

(2) A-FarmMart (หน้าเว็บไซต์ตามรูปที่ 4) ซึ่งเป็นช่องทางขายสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปออนไลน์ (คล้าย LAZADA และ Shopee) ที่เกิดจากความร่วมมือของ ธ.ก.ส. กับเอกชน และเครือข่ายสหกรณ์ลูกค้า ธ.ก.ส. ที่มีอยู่ทั่วประเทศ

หากหน่วยงานภาครัฐเข้าร่วมกับเครือข่ายดังกล่าวในการผลักดันให้ online platform เป็นช่องทางหลักที่ผู้บริโภคทั้งในและต่างประเทศใช้ซื้อสินค้าเกษตรและเกษตรแปรรูปของไทย พร้อมทั้งสนับสนุนเกษตรกรให้ปรับปรุงกระบวนการผลิตเพื่อพัฒนาคุณภาพสินค้าอย่างต่อเนื่อง ก็จะเป็นหัวจักรสำคัญในการสร้างอนาคตใหม่เพื่อรองรับคนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด19 กลับสู่ภาคเกษตร


ภายใต้สถานการณ์เร่งด่วนจากวิกฤติโควิด19 อย่างปัจจุบัน การส่งเสริมการปลูกผักเพื่อขายลูกค้ากลุ่มที่มีความต้องการสม่ำเสมอ อาทิ โรงเรียนและโรงพยาบาล น่าจะเป็นมาตรการที่ให้ผลเร็ว (quick win) เนื่องจากผักเป็นพืชอายุสั้น (ทำเงินได้เร็ว) และใช้พื้นที่น้อย (ต้นทุนไม่สูง และใช้แรงน้อยซึ่งผู้สูงอายุทำได้) รวมทั้งช่วยให้เด็กและผู้ป่วยมีผักอินทรีย์ที่สดใหม่และปลอดภัยรับประทาน ในเบื้องต้น รัฐบาลต้องผลักดันให้เกิดความร่วมมือจากกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุขในการสำรวจความต้องการ ทั้งปริมาณ ช่วงเวลา คุณภาพ และราคาผักที่โรงเรียนและโรงพยาบาลใช้เป็นประจำอย่างเป็นระบบผ่าน A-FarmMart platform เพื่อให้ ธ.ก.ส. และเครือข่ายสหกรณ์การเกษตรลูกค้า ธ.ก.ส. ทราบและร่วมกันวางแผนการผลิตร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเพื่อปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สามารถตอบสนองความต้องการดังกล่าวได้ โดยคำนึงถึงศักยภาพของพื้นที่ตนและต้นทุนค่าขนส่ง การดำเนินการนี้จะช่วยให้สหกรณ์การเกษตรและเกษตรกรเกิดกระบวนการเรียนรู้และพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง และสามารถยกระดับตนเองไปสู่ธุรกิจเกษตรอินทรีย์ในโลกปกติใหม่


โดยสรุป หัวใจสำคัญของเรื่องนี้อยู่ที่ทุกภาคส่วนต้องปรับตัวให้เข้ากับวิถีปกติใหม่ เกษตรกรต้องปรับเปลี่ยนพืชและปรับปรุงกระบวนการผลิตให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด รวมทั้งใช้เทคโนโลยีและเครื่องมือทางการเงินในการจัดการผลกระทบจากความเสี่ยงสภาพอากาศ สหกรณ์การเกษตรต้องปรับตัวเข้ากับธุรกิจออนไลน์และปรับปรุงการบริหารจัดให้มีประสิทธิภาพและตรงเวลา หน่วยงานภาครัฐต้องปรับกระบวนการสู่การทำงานร่วมกับชาวบ้านอย่างต่อเนื่องโดยยึดพื้นที่เป็นตัวตั้ง โดยเฉพาะการจัดการน้ำ และ ธ.ก.ส. ต้องปรับตัวจากการเน้นสนับสนุนสภาพคล่องมาสู่การเน้นสนับสนุนเงินทุนเพื่อต่อยอดการผลิต พร้อมทั้งสร้างแรงจูงใจให้ลูกค้าของตนปรับปรุงกระบวนการผลิต ไม่ว่าวิถีปกติใหม่จะเปลี่ยนแปลงเป็นเช่นไร การเปิดรับความเปลี่ยนแปลงและปรับตัวอย่างต่อเนื่องเท่านั้นที่จะรับประกันความอยู่รอดและความกินดีอยู่ดีอย่างยั่งยืนของภาคเกษตรไทย


อ้างอิง

ณรงค์ศักดิ์ การันต์, ศุภาชัย ภาวีอัครกุล, สุเมธ พฤกษ์ฤดี, เกียรติคุณ สัมฤทธิ์เปี่ยม. (2562). แนวทางการใช้ BIG DATA เพื่อปรับโครงสร้างภาคเกษตรไทยสู่ความยั่งยืน. FOCUSED AND QUICK (FAQ) Issue 158. Online: https://www.bot.or.th/Thai/MonetaryPolicy/ ArticleAndResearch/FAQ/FAQ%20158%20V2%20combined.pdf

ทีมวิจัยภาคเกษตรและระบบการเงินภาคเกษตร. (2563). จากสนามทดลองเพื่อการวิจัย สู่การพัฒนาภาคเกษตรไทย. BOT พระสยาม Magazine ฉบับที่ 1/2563 (มกราคม – กุมภาพันธ์), online: https://www.bot.or.th/Thai/BOTMagazine/Pages/256301TheKnowledge_PIER.aspx

รอยล จิตรดอน. (2561). เป้าหมายและสาระสำคัญของการปฏิรูปด้านทรัพยากรน้ำและงานวิจัยที่พึงมี. การจัดเวทีสาธารณะนโยบายน้ำ สกว. ครั้งที่ 9 “กรอบการวิจัยที่สนับสนุนงานยุทธศาสตร์การปฏิรูป การบริหารจัดการน้ำของประเทศ”, 21 มี.ค. 2561. Online: http://project-wre.eng.chula.ac.th/watercu_eng/sites/default/files/publication/water_forum09/02_รอยล-20180321-PPTสกว.-ปฏิรูปทรัพยากรธรรมชาติฯ.pdf

วนัส แต้ไพสิฐพงษ์. (2562). ภูมิทัศน์ภาคเกษตรไทย จะพลิกโฉมอย่างไรสู่การพัฒนาที่ยังยืน โอกาสและความท้าทายในการยกระดับศักยภาพของภาคเกษตรกรรม. BOT symposium 2019. Online: https://www.pier.or.th/wp-content/uploads/2019/09/paper2_comment_Vanus-Taepaisitphonge.pdf

สมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์, สุเมธ พฤกษ์ฤดี, และณัฐอร เบญจปฐมรงค์. (2563). การเพิ่มผลิตภาพด้วยการปรับปรุงกระบวนการผลิต ณ แปลงเพาะปลูก. FOCUSED AND QUICK (FAQ), forthcoming

สุเมธ ตันติเวชกุล. (2559). ปาฐกถาพิเศษเรื่องสถานการณ์น้ำของประเทศไทย. งาน Thailand Sustainable Water Management Forum 2016, วันที่ 20 มิถุนายน 2559. Online: https://thaipublica.org/2016/06/thailand-sustainable-water-management-forum-2016-sumet/

โสมรัศมิ์ จันทรัตน์ จันทร์วิไลศรี. (2559). ทำไมระบบประกันภัยพืชผลที่ยั่งยืนจึงยังไม่เกิดในประเทศไทย. Online: https://www.pier.or.th/wpcontent/uploads/2016/07/khao_tha008.pdf


ผู้เขียน

นาย​ณัฐพล ภัททกวงศ์ - สถาบันส่งเสริมและพัฒนากิจกรรมปิดทองหลังพระ สืบสานแนวพระราชดำริ
นายบัญญัติ คำบุญเหลือ - บริษัท เบทาโกร จำกัด (มหาชน)
นายเกียรติศักดิ์ พระวร - ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร
นายสุเมธ พฤกษ์ฤดี - ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายพิทูร ชมสุข - ธนาคารแห่งประเทศไทย
นายสมบูรณ์ หวังวณิชพันธุ์ - ธนาคารแห่งประเทศไทย



>>