​The Rise of Thai Economy in 2020s: กำเนิดใหม่เศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2020

​ดร.ดอน นาครทรรพ
ดร.นครินทร์ อมเรศ
สายนโยบายการเงิน



ในช่วงเวลาใกล้จะสิ้นปีเช่นนี้ หลายท่านเริ่มขยับความกังวลที่มีต่อตัวเลขเศรษฐกิจในปีนี้ไปยังปีหน้า โดยเป็นที่เกือบจะแน่นอนแล้วว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้จะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละสาม จากพิษความไม่นอนทางเศรษฐกิจโลกที่ส่งผ่านผลกระทบมายังการผลิตเพื่อการส่งออกและการจ้างงานในส่วนที่เกี่ยวข้องอย่างไรก็ดี คงปฏิเสธไม่ได้ว่าเศรษฐกิจก็เป็นไปตามกฎธรรมชาติอื่น ๆ คือ มีขึ้น มีลง มีคงเป็นอนิจจัง ในวันนี้จะขอเชิญทุกท่านมาร่วมแลกเปลี่ยนมุมมองเศรษฐกิจในระยะข้างหน้า โดยขอให้ความสำคัญกับการมองเศรษฐกิจปีหน้าในฐานะปีเริ่มต้นทศวรรษใหม่ 2020

ก่อนอื่นขอชวนทุกท่านมาร่วมทบทวนความเป็นมาของเศรษฐกิจไทยในหลายทศวรรษที่ผ่านมาก่อนที่จะไปกล่าวถึงความเป็นไปในอนาคต โดยเริ่มจากการกดปุ่มสตาร์ทจุดระเบิดเครื่องยนต์เศรษฐกิจของไทยภายใต้ โครงการ Eastern Seaboard ในช่วงทศวรรษ 1980 ที่มีส่วนสำคัญในการพลิกโฉมเศรษฐกิจไทยจากการผลิตเพื่อทดแทนการนำเข้า มาเป็นการผลิตเพื่อการส่งออกในปัจจุบัน ซึ่งโครงการ Eastern Seaboard นี้เปรียบได้กับ A New Hope:ความหวังใหม่ ซึ่งเป็นชื่อตอนของชุดภาพยนตร์ชื่อดังอย่าง Star Warsที่เข้าฉายในช่วงปลายทศวรรษ 1970ก่อนที่เศรษฐกิจไทยจะดำเนินต่อเนื่องมาถึงทศวรรษ 2020 พร้อม ๆ กับที่ภาพยนตร์ Star Wars ตอนสุดท้ายกำลังเข้าฉายในชื่อว่า The Rise of Skywalker: กำเนิดใหม่สกายวอล์คเกอร์ ซึ่งคล้องจองกับชื่อบทความที่ขอเปรียบเปรยว่า โครงการ Eastern Economic Corridorหรือ EEC จะเป็นหัวจักรในการกำเนิดใหม่เศรษฐกิจไทยในทศวรรษ 2020

ผลสัมฤทธิ์สำคัญของโครงการ Eastern Seaboard สะท้อนผ่านการสะสมทุนโครงสร้างพื้นฐานซึ่งมีส่วนเกือบครึ่งหนึ่งของอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่เฉลี่ยร้อยละเจ็ดในทศวรรษ 1980 และเป็นแรงหนุนนำการลงทุนให้ขยายตัวผลักดัน GDP ไทยอย่างต่อเนื่องในช่วงทศวรรษ 1990 ก่อนที่เราจะเผชิญกับวิกฤตการณ์เศรษฐกิจการเงินเอเชียในปี 1997 ซึ่งเมื่อมองในมุมของสาขาเศรษฐกิจแล้ว เศรษฐกิจไทยได้เปลี่ยนผ่านเชิงโครงสร้างตลอดช่วงห้าทศวรรษที่ผ่านมา จากการที่เศรษฐกิจภาคเกษตรลดขนาดลงทั้งในมิติของมูลค่าเพิ่มและการจ้างงานสวนทางกับภาคอุตสาหกรรม การค้าและการบริการ ที่มีความสำคัญมากยิ่งขึ้นในช่วงเวลาดังกล่าว

เมื่อหันกลับมามองในมิติแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจด้านปัจจัยการผลิตแล้วการลงทุนโดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานดั้งเดิมที่ไม่ใช่เทคโนโลยีสารสนเทศ หรือ IT มีบทบาทปรับลดลงมาก ส่วนหนึ่งสะท้อนว่าโครงสร้างพื้นฐานของไทยได้ยกระดับมามากแล้วในช่วงก่อนหน้า แต่ในอีกแง่มุมหนึ่งก็แสดงให้เห็นว่าเมื่อโครงสร้างเศรษฐกิจไทยมีภาคบริการขนาดใหญ่ขึ้น อาจจะมีความจำเป็นในการสะสมทุนน้อยกว่าการขับเคลื่อนเศรษฐกิจผ่านภาคอุตสาหกรรมดังที่ขยายตัวจากช่วงก่อนหน้า ทั้งนี้ เป็นที่น่าสังเกตด้วยว่าการลงทุนด้าน IT ยังมีบทบาทไม่มากนักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ ขณะที่ปัจจัยด้านแรงงานซึ่งแม้ยังมีบทบาทในการสนับสนุนเศรษฐกิจผ่านการพัฒนาคุณภาพแรงงาน แต่แรงส่งในเชิงปริมาณจากจำนวนชั่วโมงการทำงานจะมีบทบาทน้อยลงเรื่อย ๆ ตามจังหวะการก้าวเข้าสู่ภาวะสังคมสูงวัยของไทยที่มีข้อจำกัดด้านแรงงานจากทั้งอัตราการเกิดที่อยู่ในระดับต่ำและการมีอายุขัยยืนยาวขึ้นของผู้สูงอายุทำให้ชั่วโมงการทำงานรวมชะลอลงอย่างต่อเนื่อง

เมื่อมองไปข้างหน้าเศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งพิงการกำเนิดใหม่จากโครงการ EEC ที่นอกจากจะกลับมาปลุกปั้นปัจจัยด้านการสะสมทุนโดยเฉพาะในด้านโครงสร้างพื้นฐานดิจิทัลและ IT ให้เป็นพระเอกคนใหม่ในการขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจแล้ว โครงการ EEC จะสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม S-Curveซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมศักยภาพสูงและสามารถส่งบทต่อให้กับอีกตัวเอกหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทย คือ ผลิตภาพรวม Total Factor Productivityหรือ TFP ซึ่งเป็นเครื่องสะท้อนว่าเศรษฐกิจไทยมีประสิทธิภาพในการจัดสรรปัจจัยการผลิตได้ดีเพียงใด โดยมีส่วนผลักดัน GDP ที่ร้อยละหนึ่งต่อปีโดยเฉลี่ยในช่วงสองทศวรรษล่าสุดนี้ ซึ่งตามแผนยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปีนั้น การที่เศรษฐกิจไทยจะถือกำเนิดใหม่เป็นประเทศพัฒนาแล้วได้ เราต้องมี GDP ขยายตัวถึงร้อยละห้าต่อปี โดยอาจต้องอาศัยการเติบโตเพิ่มเติมจากผลิตภาพรวม TFP ให้ได้ถึงร้อยละสามโดยเฉลี่ย

คำถามสำคัญ คือ เราจะทำอย่างไรให้ TFP โตได้เข้าเป้า นี้ ซึ่งเพื่อตอบคำถามดังกล่าว เราอาจมาลองพิจารณาดูว่าอะไร คือ ข้อจำกัดของ TFP ไทยในปัจจุบัน ซึ่งอาจแบ่งได้เป็นสามมิติ คือ มิติแรก การคำนวณ TFP ยังมีความซับซ้อน และจะต้องทบทวนการประเมินให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงของโครงสร้างเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ทำให้การนำตัวเลขมาใช้เป็นเครื่องชี้ระดับศักยภาพของเศรษฐกิจจึงยังทำได้จำกัด โดยเฉพาะการประเมิน TFP ในระดับจุลภาคซึ่งต้องอาศัยฐานข้อมูลเชิงลึกที่มีความแม่นยำสูง มิติที่สอง ไทยไม่มีหน่วยงานเจ้าภาพหลักในการผลักดันนโยบายยกระดับ TFP อย่างเป็นเอกภาพ เพราะแท้จริงแล้ว TFP เกี่ยวพันกับเกือบทุกกระทรวงทบวงกรม ไม่ว่าจะเป็นหน่วยงานเศรษฐกิจต่าง ๆ รวมถึงกระทรวงแรงงาน กระทรวงการอุดมศึกษา และกระทรวงศึกษาธิการที่มีส่วนสำคัญในการพัฒนาผลิตภาพแรงงานซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ฝังตัวอยู่ใน TFP นี้ ทำให้ไม่มีการดำเนินนโยบายร่วมกันให้เกิดพลังในการขับเคลื่อน และขาดการติดตามประเมินประสิทธิผลของนโยบายอย่างชัดเจน มิติที่สาม องค์ความรู้ต่อการยกระดับ TFP ยังมีอยู่จำกัด ไม่เพียงสำหรับประเทศไทย แต่ในวงการนักเศรษฐศาสตร์โลกเองก็ยังมีปริศนาที่ขบคิดไม่ตกว่าจะยกระดับ TFP อย่างไร ภายในยุคสมัยที่เศรษฐกิจโลกกำลังเผชิญกับการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอย่างต่อเนื่องนี้

โดยสรุปแล้ว การจะปลุกเศรษฐกิจไทยให้กำเนิดใหม่ในทศวรรษ 2020 นี้ ต้องอาศัยแรงขับเคลื่อนจากคู่หูสำคัญ คือ การลงทุนสมัยใหม่ด้าน IT และดิจิทัล และการยกระดับผลิตภาพรวม TFP ซึ่งหากประเมินจากข้อจำกัดในการยกระดับ TFP ไทยในปัจจุบันแล้ว คงจะบอกได้ว่าตัวละครสำคัญที่แท้จริง คือ พวกเราทุกคนทั้งในภาครัฐและเอกชน ที่ต้องร่วมกันยกระดับศักยภาพของตนเองตลอดจนปฏิบัติหน้าที่ในบทบาทที่เกี่ยวข้องจึงจะช่วยให้ประเทศก้าวข้ามความท้าทายสำคัญที่กำลังรุมเร้าอยู่ในปัจจุบัน


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย