ดร.ชญาวดี ชัยอนันต์
การแถลงข่าวผลการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ครั้งล่าสุด มีรูปแบบเปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เพราะมีการเปิดเผยผลโหวตหรือการลงคะแนนเสียงของ กนง. ในการตัดสินนโยบายอัตราดอกเบี้ยในครั้งนี้ว่ามีมติเป็นเอกฉันท์ ซึ่งจากนี้ไปก็จะถือเป็นธรรมเนียมปฏิบัติที่จะเปิดเผยผลโหวตให้ทราบในการแถลงข่าวผลการประชุมทุกครั้ง
นอกจากนี้ ในอีก 2 สัปดาห์หลังจากวันประชุม ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จะเผยแพร่รายงานการประชุมฉบับย่อที่มีข้อมูลสำคัญที่ กนง. ใช้ในการตัดสินใจ ไม่ว่าจะเป็นมุมมองต่อภาวะเศรษฐกิจโลก ความเคลื่อนไหวของเศรษฐกิจไทยในปัจจุบัน ภาวะเงินเฟ้อที่จะส่งผลต่อปากท้องของประชาชนรวมถึงการเคลื่อนไหวของค่าเงินบาท เงินทุนไหลเข้าออก หนี้ของภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ รวมทั้งการมองภาพเศรษฐกิจไปข้างหน้า โดยในช่วงท้ายของรายงานการประชุม จะเปิดเผยการหารือของคณะกรรมการฯ ในประเด็นต่างๆ และเหตุผลหลักๆ ที่นำไปสู่การตัดสินใจในเรื่องอัตราดอกเบี้ยอีกด้วย
การเปิดเผยผลการลงคะแนนเสียงและรายงานการประชุมของ กนง. เช่นนี้ ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนในประวัติศาสตร์การดำเนินนโยบายการเงินของไทยตั้งแต่เริ่มใช้อัตราดอกเบี้ยนโยบายในปีพ.ศ. 2543 ซึ่งถือเป็นการก้าวไปข้างหน้าก้าวใหญ่ในแง่ของการสื่อสารและเสริมสร้างความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายกับประชาชน ธุรกิจ รวมทั้งสื่อแขนงต่างๆ ที่จะช่วยให้ตลาดสามารถคาดการณ์ถึงทิศทางของนโยบายการเงินในระยะต่อไปได้ดีขึ้น โดยผลโหวตที่เป็นเอกฉันท์ ก็น่าจะบอกถึงการที่คณะกรรมการฯ เห็นตรงกันถึงความจำเป็นและทิศทางของนโยบาย ที่อาจมีต่อเนื่องไปในการประชุมครั้งต่อไปด้วย ในขณะที่ผลโหวตที่ไม่เป็นเอกฉันท์ อาจสะท้อนว่าคณะกรรมการฯ มีความกังวลต่อปัจจัยที่ต่างกันไป ซึ่งรายงานการประชุมที่จะเปิดเผยต่อมา จะเป็นโอกาสให้สาธารณชนได้มองภาพเศรษฐกิจผ่านสายตาคณะกรรมการฯ โดยจะนำเสนอทั้งมุมมองของเสียงส่วนใหญ่ รวมทั้งเหตุผลความกังวลของกลุ่มที่เป็นเสียงส่วนน้อย และการหารือที่นำไปสู่การตัดสินใจในที่สุด ซึ่งจะทำให้ภาคส่วนต่างๆ ที่รับทราบข้อมูลเหล่านี้ เข้าใจเหตุผลรวมทั้งความกังวลของคณะกรรมการฯ ซึ่งจะช่วยให้สาธารณชนวางแผนในการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและการลงทุนให้เหมาะสมกับนโยบายที่จะเปลี่ยนแปลงในระยะข้างหน้าได้
ในแง่ของการดำเนินงานของธนาคารกลาง การเปิดเผยข้อมูลต่อสาธารณชนมากขึ้น ถือเป็นการสื่อสารสู่ความโปร่งใส และสร้างความมั่นใจให้ภายนอกได้เห็นว่าการตัดสินนโยบายเกิดขึ้นจากหลักการและเหตุผลที่เหมาะสม นอกจากนี้ การเปิดเผยผลโหวตก็ยังสะท้อนความรับผิดชอบของคณะกรรมการฯ ในการพิจารณาตัดสินนโยบายและแสดงความคิดเห็นอย่างรอบคอบมากที่สุด เพื่อประโยชน์โดยรวม
ในช่วง 4 - 5 ปีที่ผ่านมา ธนาคารกลางประเทศอื่นๆ มีความพยายามที่จะพัฒนาการสื่อสารให้โปร่งใสขึ้น แต่ก็มีเพียงไม่กี่ประเทศที่เปิดเผยผลโหวตและรายงานการประชุมเช่นนี้ หากมองถึงเหตุผลที่บางประเทศ เลือกที่จะสงวนข้อมูลบางส่วนในการสื่อสารผลการประชุม พบว่าธนาคารกลางบางแห่งยังมีความกังวลว่าสาธารณชนอาจตีความข้อมูลการประชุมต่างไปจากที่คณะกรรมการฯ มองและอาจตอบสนองต่อนโยบายในทิศทางที่ต่างไปจากที่คณะกรรมการฯ ต้องการ โดยเฉพาะในกรณีที่มติไม่เป็นเอกฉันท์นอกจากนี้ การไม่เปิดเผยรายชื่อคณะกรรมการฯ ที่ลงคะแนนให้แต่ละตัวเลือก ก็เนื่องจากอาจทำให้บรรยากาศที่เอื้อให้คณะกรรมการฯ ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็นอย่างตรงไปตรงมาและกว้างขวาง และมีการถกเถียงที่ครอบคลุมประเด็นต่างๆ อย่างครบถ้วนนั้นลดลง
ดังนั้น ต้องมองว่าการเปิดเผยข้อมูลเช่นนี้ ด้านหนึ่งก็เป็นการดีที่ทำให้ประชาชนอย่างเราๆ ท่านๆ ได้มีโอกาสรับทราบและเข้าใจข้อมูลที่มีความสำคัญในเชิงนโยบายเพื่อประโยชน์ในการปรับตัว ซึ่งถือเป็นอีกก้าวหนึ่งของการสื่อสารระหว่างธนาคารกลางกับสาธารณชน แต่อีกด้านหนึ่งก็ต้องมีความระมัดระวังในการเปิดเผยข้อมูลที่จะต้องรักษาสมดุลระหว่างการสื่อสารนโยบายกับตลาดและความเป็นอิสระในการตัดสินนโยบายของคณะกรรมการฯ ที่ต้องคำนึงถึงภาพรวม โดยไม่เอื้อประโยชน์หรือเอนเอียงไปยังกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง และต้องให้ตลาดสามารถปรับพฤติกรรมการรับรู้และแปลข่าวสารได้ถูกต้องเพื่อให้ได้ประโยชน์เต็มที่ ซึ่งในการทำนโยบายที่เกี่ยวข้องกับปากท้องของคนหลายกลุ่มแบบนี้ ความคิดขัดแย้งย่อมเกิดขึ้นได้ แต่การได้รับทราบข้อมูลที่ละเอียดและกว้างขวางกว่าเดิม น่าจะช่วยให้แต่ละฝ่ายเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้น ซึ่งจะเอื้อให้การทำนโยบายส่งผลสัมฤทธิ์ในการดูแลเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวมในที่สุด
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย