​ทิศทางเศรษฐกิจเอเชีย ฟื้น หรือ ฟุบ กันแน?

นายพิทวัส พูนผลกุล

ในไตรมาสแรกของปี 2556 ตัวเลขเศรษฐกิจของเอเชียหลายประเทศรวมทั้งไทย ประกาศออกมาต่ำกว่าที่ตลาดคาดการณ์ไว้มาก โดยเฉพาะอย่างยิ่งจีนที่ตัวเลขจีดีพีในไตรมาสแรกเติบโตเพียง 7.7% ผนวกกับตัวเลขการส่งออกล่าสุดในเดือนพฤษภาคมขยายตัวเพียง 1% เท่านั้น จึงเป็นที่กังวลใจกันว่าในช่วงระยะเวลาที่เหลือของปีนี้ทิศทางของเศรษฐกิจเอเชียจะฟื้นหรือฟุบกันแน่? นอกจากนี้ เศรษฐกิจจีนซึ่งมีขนาดใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลกรองจากสหรัฐอเมริกาและกลุ่มยูโรและเป็นแหล่งส่งออกสินค้าสำคัญของกลุ่มประเทศอาเซียนจะมีแนวโน้มอย่างไร?

ข้อมูลเศรษฐกิจจีนในเดือนเมษายนและพฤษภาคมชี้ว่าเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 2 ของปีนี้อาจเติบโตต่ำกว่าไตรมาสที่ 1 ส่งผลให้นักวิเคราะห์มองว่าการขยายตัวทั้งปี 2556 ของจีนน่าจะต่ำกว่าที่นักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ประเมินไว้ก่อนหน้า การขยายตัวที่ต่ำนี้เป็นผลจาก 1) ภาวะการส่งออกที่โตต่ำมาก ตามการส่งออกไปยังคู่ค้าสำคัญ ทั้งสหรัฐฯ กลุ่มยูโรและญี่ปุ่นที่ยังคงหดตัว 2) การลงทุน (Fixed Asset Investment: FAI) ที่ชะลอลงต่อเนื่อง โดย FAI เฉลี่ยในช่วงเดือนเมษายนและพฤษภาคมขยายตัวชะลอลงมาอยู่ที่ 19.8 % จาก 21.4% ในไตรมาสที่ 1 ซึ่งเป็นผลจากที่ผู้ประกอบการรีรอที่จะลงทุนเพิ่มเติมเนื่องจากการผลิตและการส่งออกยังคงอยู่ในภาวะชะลอตัว และ 3) มาตรการคุมเข้มทางการเงินของภาครัฐที่ต้องการควบคุมและดูแลปัญหาหนี้ของรัฐบาลท้องถิ่นและการกู้เงินนอกระบบธนาคาร ทำให้บริษัทขนาดกลางและขนาดย่อม หรือ SME ประสบปัญหาในการหาแหล่งเงินกู้เงินเพื่อใช้ในการลงทุน

อย่างไรก็ดี ในช่วงครึ่งหลังของปี 2556 ตลาดคาดว่าเศรษฐกิจจีนน่าจะปรับตัวดีขึ้นอย่างช้าๆ เมื่อเทียบกับช่วงครึ่งแรก โดยมีกำลังขับเคลื่อนที่สำคัญจากการบริโภคที่ยังขยายตัวได้ดีต่อเนื่องและตลาดแรงงานที่ยังคงแข็งแกร่ง ขณะที่การส่งออกคาดว่าจะได้รับแรงสนับสนุนจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่ค่อยๆ ฟื้นตัว นำโดยเศรษฐกิจสหรัฐฯ และญี่ปุ่น ทั้งนี้ การส่งออกสินค้าภาคอุตสาหกรรมซึ่งคิดเป็น 95% ของปริมาณการส่งออกรวมที่ดีขึ้นจะส่งผลให้ภาคการผลิตและการลงทุนของจีนปรับตัวดีขึ้นได้ตาม เมื่อมองภาพตลอดปี 2556 ประเมินว่าโดยรวมเศรษฐกิจจีนยังคงมีเสถียรภาพอยู่และมีอัตราการเติบโตอยู่ในระดับที่ค่อนข้างสูงแม้จะชะลอลงเมื่อเทียบกับในอดีต ซึ่งก็ไม่น่าแปลกใจเพราะเป็นไปตามเป้าหมายที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิงและนายกรัฐมนตรีหลี่ เค่อเฉียงผู้นำใหม่ของจีนได้ประกาศไว้ในพิธีรับตำแหน่งเมื่อต้นปี 2556 ที่จะมุ่งเน้นการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่มีเสถียรภาพมากขึ้น โดยทางการจีนมีเป้าหมายการขยายตัวทางเศรษฐกิจของปีนี้อยู่ที่ 7.5% ซึ่งมีข้อสังเกตที่สำคัญ คือ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเศรษฐกิจจีนไม่เคยขยายตัวต่ำกว่าเป้าหมายที่ทางการกำหนด

ในส่วนของกลุ่มเอเชียเหนือ ซึ่งได้แก่ เกาหลีใต้ ไต้หวัน และฮ่องกง มีภาคส่งออกที่พอจะขยายตัวได้จากการส่งออกสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ที่ได้รับอานิสงส์จากการออกโทรศัพท์มือถือรุ่นใหม่ๆ แต่เศรษฐกิจภายในประเทศที่อ่อนแอต่อเนื่อง ทำให้การฟื้นตัวทางเศรษฐกิจยังคงเปราะบางอยู่มาก ด้วยเหตุนี้ ในช่วงที่ผ่านมาทางการของบางประเทศในกลุ่มนี้จึงได้ออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศเพิ่มเติม อาทิ ทางการเกาหลีใต้ได้ประกาศงบประมาณใช้จ่ายเพิ่มเติมมูลค่า 17.3 ล้านล้านวอนและทางการไต้หวันได้ประกาศมาตรการกระตุ้นการบริโภคและการลงทุน เป็นต้น

สำหรับกลุ่มอาเซียน การเติบโตในไตรมาสที่ 1 ชะลอลงชัดเจนแม้ว่าการบริโภคและการลงทุนยังคงขยายตัวในเกณฑ์ดี แต่การส่งออกกลับเป็นตัวฉุดรั้งการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจ จาก 1) การส่งออกไปจีนที่หดตัวลงเพราะประเทศในกลุ่มอาเซียนเป็นผู้ส่งออกสินค้าต้นน้ำที่ใช้ในห่วงโซ่การผลิตสินค้าอุตสาหกรรมของจีนจึงได้รับผลจากการผลิตและการลงทุนในจีนที่ชะลอตัวลง และ 2) การส่งออกสินค้าโภคภัณฑ์ที่ชะลอลงมาก จากอุปสงค์ของจีนซึ่งเป็นผู้นำเข้ารายใหญ่ของโลกชะลอลงตามการผลิตและการลงทุนที่แผ่วลง จะเห็นได้ว่าการฟื้นตัวของจีนเป็นตัวแปรสำคัญส่วนหนึ่งต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจอาเซียนในช่วงครึ่งหลังของปี 2556

จากที่ได้กล่าวมาทั้งหมด พอที่จะประเมินได้ว่า ทิศทางของเศรษฐกิจเอเชียนั้นจะไม่ฟุบ แต่ทิศทางการเติบโตอาจจะชะลอลงบ้างเมื่อเทียบกับในช่วงที่ผ่านมา ด้วยปัจจัยสนับสนุนสำคัญจากพื้นฐานทางเศรษฐกิจของประเทศเอเชียที่ถือว่ายังดีอยู่และยังคงมีแรงส่งให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนต่อไปได้ โดยเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มการฟื้นตัวอย่างช้าๆ จะเป็นแรงสนับสนุนการส่งออกในระยะต่อไป นอกจากนี้ นโยบายการคลังและการเงินของประเทศในกลุ่มนี้ยังคงมีกระสุนพร้อมจะเข้ามาพยุงเศรษฐกิจหากเกิดปัญหา กล่าวคือ โดยส่วนใหญ่ระดับหนี้สาธารณะต่อ GDP ยังอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ และอัตราดอกเบี้ยที่สามารถปรับลดเพื่อดูแลเศรษฐกิจได้หากมีความเสี่ยงด้านการขยายตัวทางเศรษฐกิจสูงขึ้น ทั้งนี้ สอดคล้องกับการประมาณของนักวิเคราะห์ส่วนใหญ่ โดย Consensus ล่าสุดของเดือนมิถุนายนนี้คาดว่าเศรษฐกิจเอเชียและจีนในปี 2556 จะขยายตัว 6.3% และ 7.8% ตามลำดับและในปี 2557 จะขยายตัว 6.6% และ 7.8% ตามลำดับ อย่างไรก็ตาม ความเสี่ยงต่อการขยายตัวของเอเชียยังคงมีอยู่จากทั้ง ความเสี่ยงจากเงินทุนเคลื่อนย้ายที่มีความผันผวนมากขึ้น จากความไม่แน่นอนเกี่ยวกับการลดวงเงินการทำมาตรการ QE ของสหรัฐฯ และจากปัญหาด้านสินเชื่อในจีนที่หากลุกลามก็อาจจะมีผลกระทบเศรษฐกิจจีนและเอเชียได้

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย