นางจันทิมา พรเศรษฐ์เมธากุล
นายกุลฉัตร ธาดานิพนธ์
ปัจจุบันค่าครองชีพมีแนวโน้มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง และมีสิ่งล่อตาล่อใจให้ซื้อหามาใช้มากมาย ผู้บริโภคที่เป็นมนุษย์เงินเดือนหรือหาเช้ากินค่ำคงจะประสบปัญหาจากภาระค่าใช้จ่ายต่าง ๆ และภาระหนี้สิน ทั้งหนี้สินที่จำเป็นต่อการดำรงชีวิต เช่น ค่าผ่อนบ้าน ค่าเล่าเรียนลูก และหนี้สินจากค่าใช้จ่ายฟุ่มเฟือยที่เกิดจากระบบทุนนิยม เช่น ค่าโทรศัพท์มือถือ และค่าผ่อนรถ ซึ่งจากภาระหนี้ที่มากมายหรือเกินตัว อาจจะทำให้ลูกหนี้ไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จนทำให้ลูกหนี้หลายท่านต้องประสบกับการทวงหนี้ที่ก่อให้เกิดความอับอายหลายรูปแบบ เช่น โทรศัพท์หรือส่งแฟกซ์มาทวงหนี้ที่ทำงาน ใช้ถ้อยคำหรือวาจาดูหมิ่นที่เป็นการละเมิดสิทธิส่วนบุคคลอย่างรุนแรง ข่มขู่ว่าจะท่าให้เกิดอันตราย หรือทำร้ายร่างกายและทรัพย์สินของลูกหนี้ ลูกหนี้หลายคนเมื่อถูกกดดันหรือถูกท่าร้ายร่างกายหรือจิตใจมากเข้าก็เกิดความเครียดไม่เป็นอันทำงาน หลบหนีหรือบางคนถึงกับคิดสั้นฆ่าตัวตายก็มี
ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ได้เห็นถึงปัญหาจากการทวงถามหนี้ในลักษณะที่ไม่เหมาะสมดังกล่าว จึงได้ออกแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ เพื่อให้สถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน และบริษัทเครดิตฟองซิเอร์) บริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต และบริษัทที่ประกอบธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ถือปฏิบัติมาตั้งแต่ปี 2550 เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชน อย่างไรก็ดี แนวปฏิบัติดังกล่าวก็ยังไม่ครอบคลุมถึงการทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้อื่น ๆ ที่ไม่ได้อยู่ภายใต้การกำกับดูแลของ ธปท. เช่น บริษัทให้เช่าซื้อและให้เช่าแบบลิสซิ่ง เจ้าหนี้การค้า และเจ้าหนี้การพนัน
แต่ในอีกไม่กี่เดือนข้างหน้านี้ การทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้จะต้องท่าภายใต้ข้อกำหนดของกฎหมายเฉพาะที่มีชื่อว่า “พระราชบัญญัติการทวงถามหนี้ พ.ศ. 2558” ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 2 กันยายน 2558 โดยประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับพระราชบัญญัตินี้ คือ
การทวงถามหนี้ของเจ้าหนี้ นับจากวันที่ 2 กันยายน 2558 เป็นต้นไป บุคคลธรรมดาที่เป็นลูกหนี้ทุกประเภท จะได้รับความคุ้มครองตามกฎหมายฉบับนี้ ไม่ว่าหนี้ของลูกหนี้นั้นจะเป็นหนี้ในระบบ หรือหนี้นอกระบบ ไม่ว่าจะถูกหรือไม่ถูกกฎหมายก็ตาม โดยผู้ทวงถามหนี้ที่เป็นเจ้าหนี้ผู้ให้สินเชื่อ เช่น ธนาคารพาณิชย์ ธนาคารของรัฐ บริษัทที่ประกอบธุรกิจบัตรเครดิต ธุรกิจสินเชื่อส่วนบุคคล ธุรกิจนาโนไฟแนนซ์ บริษัทให้เช่าซื้อรถ หรือเจ้าหนี้ที่ทำธุรกิจปล่อยกู้ รวมทั้งผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้ (ซึ่งต้องจดทะเบียน) จะต้องปฏิบัติตามที่กฎหมายนี้กำหนด เช่น ทวงถามหนี้ได้เฉพาะเวลา 8 โมงเช้า ถึง 2 ทุ่ม ในวันจันทร์ถึงวันศุกร์ หากเป็นวันหยุดราชการทวงถามหนี้ได้ถึงแค่ 6 โมงเย็น ห้ามข่มขู่ ใช้ความรุนแรง ใช้วาจาดูหมิ่น ท่าร้ายร่างกาย ทำให้เสียชื่อเสียงและทรัพย์สินเสียหาย ห้ามเปิดเผยความเป็นหนี้ให้คนอื่นทราบ ยกเว้นสมาชิกในครอบครัวของลูกหนี้สอบถาม ห้ามติดต่อลูกหนี้ด้วยสื่อที่เปิดเผย เช่น ไปรษณียบัตร แฟกซ์ และห้ามเรียกเก็บค่าธรรมเนียมเกินอัตราที่กำหนด ซึ่งหากผู้ทวงถามหนี้ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายนี้ก็จะถูกลงโทษตามบทบัญญัติของกฎหมาย โดยมีโทษปรับทางปกครองและโทษทางอาญา เช่น กรณีทวงถามหนี้นอกเวลาที่กำหนดไว้ จะมีโทษปรับไม่เกิน 100,000 บาท แต่สำหรับโทษทางอาญานั้น จะขึ้นอยู่กับระดับความผิดว่ารุนแรงมากน้อยขนาดไหน เช่น กรณีทวงถามหนี้โดยข่มขู่หรือใช้ความรุนแรง มีโทษจ่าคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 500,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ นอกจากนี้ ในกฎหมายยังกำหนดไว้ด้วยว่า หากประชาชนได้รับความเดือดร้อนสามารถร้องเรียนได้ที่กรมการปกครอง สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง ที่ทำการปกครองจังหวัด กองบัญชาการตำรวจนครบาล สถานีตำรวจ และที่ว่าการอำเภอ
ข้อมูลข้างต้นนี้เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่น่าสนใจของการทวงถามหนี้ในอนาคตอันใกล้ โดยประชาชน ที่เป็นลูกหนี้จะได้รับการคุ้มครองในเรื่องทวงถามหนี้มากยิ่งขึ้น และหากได้รับความเดือดร้อนจากการทวงถามหนี้ก็ยังสามารถร้องเรียนได้ ดังนั้น ผู้ทวงถามหนี้ต้องมีความระมัดระวังในการทวงถามหนี้มากขึ้น โดยเฉพาะผู้ประกอบธุรกิจทวงถามหนี้อาจถูกเพิกถอนการจดทะเบียนได้ หากมีการกระท่าที่เข้าข่ายตามที่ กฎหมายกำหนด อย่างไรก็ดี ผู้ทวงถามหนี้ที่เป็นสถาบันการเงินก็ไม่น่าจะต้องปรับตัวมากนัก เพราะวิธีปฏิบัติ ในการติดต่อลูกหนี้หรือทวงถามหนี้ ส่วนใหญ่สอดคล้องกับแนวปฏิบัติในการติดตามทวงถามหนี้ของ ธปท. ที่เป็นผู้กำกับดูแลอยู่แล้ว
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย