นางสาวสุวรรณี เจษฎาศักดิ์

สวัสดีค่ะท่านผู้อ่าน ในช่วงนี้เราคงยังต้องส่งกำลัง ใจไปให้ชาวญี่ปุ่นตัวผู้เขียนเองได้มีโอกาสไปญี่ปุ่นก่อนเกิดเหตุการณ์แผ่นดินไหวเพียง 3 สัปดาห์ก็ยังรู้สึกใจหายแต่ต้องขอชื่นชมชาวญี่ปุ่นมากๆ ที่ตั้งรับกับภัยที่เกิดขึ้นด้วยความสงบและสันติ เราไม่เห็นภาพการแก่งแย่งสิ่งของดังเช่นเหตุการณ์ที่เคยเกิดขึ้นในที่อื่นๆ ทั้งนี้ เหตุผลหลักก็คงเพราะพวกเขาเป็นชาติที่มีวินัยสูงซึ่งได้รับการปลูกฝังตั้งแต่เด็กๆ รู้จักเข้าแถวรู้จักอดทน ซึ่งนิสัยเหล่านี้ก็สะท้อนมาถึงการมีวินัยทางการเงินอย่างเคร่งครัด เป็นประเทศที่ประชากรมีการออมเงินสูงสุดเป็นประเทศต้นๆ ของโลกเลยทีเดียว

พูดถึงเรื่องการออมเงินก็เลยอยากชวนท่านผู้อ่านมาดูเกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ ทางด้านเงินฝากของบ้านเราบ้าง เพราะช่วงนี้เราจะเห็นว่าธนาคารพาณิชย์หลายแห่งได้แข่งกันนำเสนอเงินฝากหลากหลายประเภทเพื่อตอบสนองความ ต้องการของผู้ฝากเงิน

ในสมัยก่อนเวลาที่เราไปฝากเงินก็จะมีให้เลือกเพียงเงินฝากออมทรัพย์ที่ให้ดอกเบี้ยต่ำ แต่สามารถถอนเงินได้ตลอดเวลาเงินฝากประจำก็จะมี 3 เดือน 6 เดือน หรือ 1 ปี ซึ่งได้รับดอกเบี้ยตามระยะเวลาการฝากเงิน และเงินฝากอีกประเภทหนึ่งคือเงินฝากกระแสรายวันที่ปกติมักจะเปิดคู่กับบัญชีเงินเบิกเกินบัญชีหรือที่เรียกว่า O/D เพื่อต้องการใช้เช็คในการเบิกถอนหรือสั่งจ่าย

ต่อมาอีกระยะหนึ่ง ก็มีเงินฝากประเภทออมทรัพย์พิเศษไม่เสียภาษีซึ่งจะได้ดอกเบี้ยสูงกว่าออมทรัพย์ปกติ แต่อาจจะต่ำกว่าฝากประจำข้อดีคือไม่เสียภาษีและยังสามารถถอนได้ตามเงื่อนไข เช่น ถอนได้ไม่เกิน 1 ครั้งในแต่ละเดือนเป็นต้น ซึ่งจะยืดหยุ่นกว่าเงินฝากประจำ นอกจากนี้ ก็ยังมีเงินฝากประเภทที่ให้ทยอยฝากเงินเป็นประจำทุกๆ เดือน ตามระยะเวลาที่กำหนด เช่น 2 ปี หรือ 3 ปี เงินฝากประเภทนี้ก็จะได้รับดอกเบี้ยสูงขึ้น และหากฝากครบตามกำหนดเวลาก็อาจได้รับดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นอีกด้วย

สำหรับเงินฝากในช่วงนี้ที่หลายๆ ธนาคารได้มีการโฆษณาและนำเสนอคือเงินฝากประจำประเภทที่ให้ดอกเบี้ยในลักษณะขั้นบันได หรือ Step up interest คือดอกเบี้ยจะเริ่มจากระดับต่ำและเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ตามระยะเวลาการฝากจนถึงอัตราสูงสุดที่จะสูงกว่าอัตราเงินฝากทั่วไปมากซึ่งเป็นการดึงดูดความสนใจของผู้ฝากเงิน ตัวอย่างก็เช่น 3 เดือนแรกให้ดอกเบี้ย 2% และค่อยขยับดอกเบี้ยขึ้นทุก 3 เดือน จนเป็น 5% ในเดือนสุดท้ายอย่างไรก็ดีเงินฝากประเภทนี้ ผู้ฝากเงินก็ควรต้องพิจารณาถึงอัตราดอกเบี้ยที่แท้จริงตลอดระยะเวลาการฝากเงินว่าเป็นเท่าใดเนื่องจากในการโฆษณาก็จะเน้นเฉพาะอัตราขั้นสูงคือช่วงสุดท้ายเท่านั้น และนอกจากนี้ก็ต้องดูเงื่อนไขต่างๆให้เข้าใจด้วย เพราะหากฝากไม่ครบกำหนดตามเวลา ก็จะไม่ได้ดอกเบี้ยสูงๆ ตามที่ธนาคารเสนอ

สำหรับเงินฝากประเภทสุดท้ายที่จะเล่าให้ท่านผู้อ่านฟังนี้ จะเป็นเงินฝากที่ไปผูกกับความคุ้มครองด้านการประกันภัยซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นการคุ้มครองด้านอุบัติเหตุส่วนบุคคล ซึ่งเงินฝากประเภทนี้หากผู้ฝากเงินประสบเหตุการณ์บาดเจ็บเนื่องจากได้รับอุบัติเหตุก็จะได้รับชดเชยค่ารักษาพยาบาลตามอัตราที่กำหนดโดยผู้ฝากเงินอาจต้องเสียค่าธรรมเนียมเพื่อแลกกับการได้รับความคุ้มครองเพิ่มเติม แต่ในบางกรณีธนาคารพาณิชย์บางแห่งก็ให้ความคุ้มครองโดยไม่เรียกเก็บเงินเพิ่มเติมคือฟรีประกันอุบัติเหตุ

นอกจากนี้ ยังมีการออมเงินอีกประเภทหนึ่งที่ธนาคารพาณิชย์หลายๆแห่ง ประชาสัมพันธ์ออกมาในเชิงเป็น "เงินฝาก" แต่เนื้อหาแท้จริงก็คือการทำประกันชีวิต เพราะเป็นการจ่ายเบี้ยประกันสม่ำเสมอทุกปี จึงทำให้คล้ายกับการฝากเงินโดยเงินที่จ่ายเป็นการออมนี้ก็สามารถนำไปหักลดหย่อนภาษีได้ ซึ่งก็เป็นปกติของการประกันชีวิตที่รัฐบาลอนุญาตให้ถือเป็นค่าลดหย่อนได้ ประการสำคัญที่อยากเน้นคือ ต้องสอบถามให้แน่ใจว่าเป็นการ "ฝากเงิน"หรือ "การประกันชีวิต" เพราะถ้าฝากเงินก็จะได้รับการคุ้มครองภายใต้กฎหมายคุ้มครองเงินฝากซึ่งการออมเพื่อประกันชีวิตนี้ก็มีข้อดีอย่างมากเพราะเป็นหลักประกันระยะยาวและสร้างวินัยการออมอีกรูปแบบหนึ่งซึ่งเป็นสิ่งที่น่าสนับสนุน แต่ต้องระวังในเรื่องเงื่อนไขการยกเลิกก่อนกำหนด(เช่นกำหนดให้ส่งเบี้ยทุกปีเป็นเวลา 10 ปี เป็นต้น) เพราะอาจไม่ได้รับเงินคืนเท่ากับจำนวนที่ได้จ่ายไปก็ได้เพราะเรื่องการประกันชีวิตจะมีเงื่อนไขเกี่ยวกับการยกเลิกก่อนกำหนด ดังนั้นขอให้ดูให้ดีๆด้วยนะคะต้องขอเน้นว่าการออมในลักษณะ นี้เป็นสิ่งที่ดี เพราะเป็นการสร้างวินัยการออมในระยะยาวค่ะ

ดังนั้น ในการออมเงิน ท่านผู้อ่านก็ควรต้องพิจารณารูปแบบการออมไม่ว่าจะเป็นเงินฝากหรือการทำประกันชีวิตให้สอดคล้องกับแผนการใช้เงินรวมถึงเปรียบเทียบอัตราดอกเบี้ยและผลตอบแทนที่ได้รับเพื่อให้ได้รับประโยชน์สูงสุดจากการออมเงินค่ะ

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย