เมื่อชีวิตแต่ละคนเราเกิดมาบนความสมบูรณ์ของฐานะครอบครัวไม่เท่ากัน คนจำนวนไม่น้อยต้องเริ่มต้นสร้างชีวิตด้วยการเป็นหนี้ ซึ่งบางคนโชคดีอยู่บ้างที่เข้าถึงแหล่งเงินในระบบสถาบันการเงิน ขณะที่อีกหลายคนที่ไม่สามารถเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ อาจต้องหันไปพึ่งพิงเงินนอกระบบ โดยไม่รู้ด้วยซ้ำว่า หนี้นี้จะกัดกร่อนสถานะการเงินตัวเองอย่างไร ขณะเดียวกันก็ใช่ว่า คนที่เกิดมาฐานะดี จะไม่มีโอกาสตกอยู่ในวังวนหนี้สิน เพราะไม่ว่าใคร ถ้าดำเนินชีวิตด้วยความประมาทก็สามารถติดกับดักหนี้สินได้ทั้งนั้น ที่สำคัญ ปัญหาหนี้ไม่ได้สร้างผลกระทบทางการเงินอย่างเดียว แต่มีผลต่อสุขภาพร่างกายและจิตใจด้วย

บทความนี้ จึงต้องการชี้ให้เห็นว่า คนเป็นหนี้ควรมีภูมิคุ้มกันใจอย่างไร?

Top view of stressed young asian woman trying to find money to pay credit card debt.

วัคซีนที่ใช้สร้างภูมิคุ้มกันใจนี้ชื่อว่า SHE-3C ซึ่งเป็นสูตรพวกเราใช้ดูแลผู้ป่วยที่มารับคำปรึกษา ประกอบด้วย


S คือ ความปลอดภัย (Safety) จากการกู้หนี้

ความปลอดภัยชั้นแรกคือ ตรวจสอบแหล่งเงินนั้นมีความน่าเชื่อถือเพียงใด? ปัจจุบันช่องทางกู้เงินมีหลายรูปแบบ ทั้งในระบบ นอกระบบ และออนไลน์ ก่อนกู้เงินลูกหนี้ควรตรวจสอบจนมั่นใจว่า ถ้าไม่มั่นใจ อย่ากู้!!! มิฉะนั้น อาจนำภัยมาถึงตัว

ตัวอย่างที่ได้จากตำรวจกองปราบปราม คือ “การกู้เงินผ่านช่องทางออนไลน์” แม้หลายคนก็ดูออกว่า แบบนี้ คือ “การโกงแน่นอน” แต่บางครั้ง พอถึงเวลาที่จำเป็นจะต้องใช้เงินจริง ๆ บางคนก็เลือกที่จะเสี่ยง คิดว่าเงินแค่ไม่กี่ร้อย ไม่กี่พัน คงไม่โกงกันหรอก แต่สุดท้ายก็ตกเป็นเหยื่อของแก๊งหลอกปล่อยเงินกู้ออนไลน์ โดยพฤติกรรมของแก๊งหลอกปล่อยเงินกู้ออนไลน์ มักจะมีขั้นตอนดังนี้

1. ประกาศปล่อยเงินกู้ผ่านทางสื่อสังคมออนไลน์ เช่น เฟซบุ๊ก ไลน์ โดยมักจะคิดดอกเบี้ยไม่สูงมาก เพื่อดึงดูดให้คนเข้ามากู้

2. เมื่อมีคนติดต่อไป จะทำทีเป็นขอเอกสารเพื่อใช้เป็นหลักฐานในการขออนุมัติเงินกู้ เช่น สำเนาบัตรประชาชน หน้าสมุดบัญชี สำเนาทะเบียนบ้าน

3. คนร้ายจะทำทีเป็นขอเวลาตรวจสอบก่อนที่จะแจ้งว่า “อนุมัติให้กู้” และจะบอกให้ผู้กู้โอนเงินค่าดอกเบี้ยไปให้ก่อน มิเช่นนั้นจะไม่สามารถให้กู้ได้

4. เมื่อผู้กู้โอนค่าดอกเบี้ยไป คนร้ายก็จะหายเงียบไปพร้อมกับเงินนั้น

ในเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นได้กับทุกคนที่กำลังเดือดร้อนเพราะเป็นช่วงที่เคร่งเครียดกับปัญหาหนี้สิน จึงทำให้ขาดสติได้ จึงต้อง “คิดให้ดีก่อนจะโอนเงิน” ไม่ใช่แค่การกู้เงินออนไลน์เท่านั้น แต่รวมไปถึงการ ซื้อ-ขายสินค้าต่าง ๆ บนโลกออนไลน์ ให้คิดเสมอว่า “ปลอดภัยไว้ก่อน อย่าประมาท” เพื่อที่จะได้กลับมาคิดให้รอบคอบอีกครั้ง และเพื่อที่จะได้ไม่ตกเป็นเหยื่อของกลุ่มมิจฉาชีพเหล่านี้

ความปลอดภัยขั้นที่สองคือ การศึกษาเงื่อนไขการกู้ เช่น จำนวนเงินที่ต้องผ่อนในแต่ละงวด ระยะเวลาการผ่อน อัตราดอกเบี้ย และประเมินว่า ภายใต้เงื่อนไขนี้เราสามารถหาเงินมาจ่ายได้หรือไม่ และถ้าจ่ายได้แบบทุ่มสุดตัว จะทำให้สายป่านการเงินของเราตึงเกินหรือไม่ และเสริมความปลอดภัยไปอีกชั้นหนึ่งเพื่อเป็นแผนสำรองคือ ถ้าหากเราไม่สามารถชำระหนี้ได้จริง ๆ จะมีทางออกอย่างไร เพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการตัดสินใจ เพราะสุดท้ายถ้าคิดว่าผ่อนไม่ไหว เราอาจต้องตัดไฟเสียตั้งแต่ต้นลม รอให้เรามีกำลังเงินหรือทุนรอนมากกว่านี้สักนิด ค่อยกู้น่าจะปลอดภัยกว่า

ความปลอดภัยขั้นที่สามคือ การผ่อนชำระอย่างมีวินัย เมื่อกู้เงินมาแล้ว จำเป็นต้องผ่อนชำระตามที่ตกลงกับเจ้าหนี้ แต่ในช่วงโควิด 19 ที่รายได้ไม่สม่ำเสมอ แม้เราจะไม่สามารถชำระคืนหนี้ได้ตามที่ตกลงกัน ขอให้นำหลักฐานที่แสดงถึงรายได้ที่ลดลง หรือภาระต่าง ๆ ที่เพิ่มขึ้น ไปเจรจากับเจ้าหนี้ โดยเฉพาะเจ้าหนี้ในระบบการเงิน ที่ค่อนข้างยืดหยุ่นให้กับลูกหนี้มาก

ความปลอดภัยขั้นสุดท้ายคือ การตัดใจ เมื่อใดต้องกู้เงินนอกระบบมาจ่ายดอกเบี้ย นี่คือสัญญาณอันตรายเหมือนคนไข้ในห้องฉุกเฉิน หรือ ICU ที่พยายามดิ้นรนให้มีชีวิตรอดทุกวิถีทาง ถึงจุดนี้ต้องตัดใจ ขายทรัพย์ที่สำคัญน้อยที่สุดเพื่อใช้หนี้ หรือต้องยอมให้ยึดทรัพย์บางอย่าง มิฉะนั้น ทางออกชีวิตจะตีบตันลงเรื่อย ๆ ซึ่งอันตรายมาก


H คือความหวัง (Hope) ว่าสักวันเราจะปลดหนี้ได้

กฎธรรมชาติคือ ไม่มีแน่นอน ทุกอย่างล้วนหมุนเวียนเปลี่ยนไป ไม่ว่าจะเป็นการระบาดของโควิด 19 วิกฤติเศรษฐกิจ หรือแม้แต่วิกฤติหนี้สินของเราก็เช่นกันย่อมต้องมีวันจบ แต่เราต้องอดทนและเชื่อมั่น และหาข้อมูล เพราะทุกวันนี้ ปัญหาหนี้สินภาคประชาชนเป็นวาระแห่งชาติที่หน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้องให้ความสำคัญ (อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่บทความ "​ลูกหนี้นอกระบบ โดดเดี่ยวจริงหรือ?") ไม่ว่าจะเป็นธนาคารแห่งประเทศไทย กระทรวงยุติธรรม สำนักงานอัยการสูงสุด นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ดำรงธรรม กระทรวงมหาดไทย สำนักงานตำรวจแห่งชาติ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และกระทรวงการคลัง ซึ่งหน่วยงานเหล่านี้พยายามช่วยเหลือประชาชนเต็มที่ นี่คือความหวังสำคัญ ขอให้มั่นใจว่า เราไม่ได้ต่อสู้อย่างโดดเดี่ยว


E คือ การเพิ่มประสิทธิภาพ (Efficacy)

การเพิ่มประสิทธิภาพในตัวเองที่สำคัญคือ "ความเชื่อในความสามารถของตนเองในการจัดระเบียบและดำเนินการตามแนวทางปฏิบัติที่จำเป็นในการจัดการสถานการณ์ในอนาคต" ซึ่งการจะทำเช่นนั้นได้ เราต้องรู้ว่า เราทำอะไรได้ที่จะจัดการกับปัญหาหนี้สินที่เผชิญอยู่

การเพิ่มประสิทธิภาพในตัวเอง ในที่นี้ขอยกตัวอย่าง 2 มิติสำคัญ

มิติแรกคือ วางแผนการเงินในครอบครัวให้รัดกุม ทั้งรายรับ รายจ่าย และการจัดการหนี้สิน พยายามดำเนินชีวิตอย่างมีวินัย

มิติต่อมาคือ การค้นหาศักยภาพที่ซ่อนอยู่ในตัวเอง เพื่อผลักดันตัวเองไปสู่อาชีพใหม่ที่รายได้สูงขึ้น หรือทำให้มีรายได้เสริม

ในการค้นหาว่า เรามีศักยภาพอะไรซ่อนอยู่บ้าง ขอให้สังเกตง่าย ๆ คือ หากเจ้านายให้เวลาเท่ากัน อะไรที่เราทำได้เร็วหรือดีกว่าคนอื่น นั่นคือความสามารถที่แท้จริงของเรา เพียงแต่เราไม่เคยถูกใช้หรือผลักดันความสามารถนี้มาใช้ให้เกิดประโยชน์ ตัวอย่างเช่น บางคนเป็นนักวิชาการตามระดับการศึกษาและประสบการณ์ทำงาน แต่ถึงเวลาเขียนโปรโมทงานหรือทำโบรชัวร์ต่าง ๆ กลับทำได้สวยงามรวดเร็วมาก แสดงว่า คนนี้ทักษะด้านการตลาดและรสนิยมเขาถูกใจตลาด ซึ่งสามารถนำทักษะนี้มาหารายได้เสริมได้ ขอให้ทดสอบตัวเองบ่อย ๆ ก็จะมั่นใจขึ้น ที่สำคัญ ทุกคนล้วนมีไม้เด็ดเป็นของตัวเอง ขอเพียงค้นหาให้พบ และมีพลังนำทักษะนี้ไปต่อยอด จะช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในตัวเรา และเมื่อมั่นใจว่า เรามีความสามารถพิเศษ ผนวกกับแผนการเงินที่รัดกุม ปัญหาหนี้สินที่เผชิญอยู่ก็จะเล็กลงทันที


C แรก คือ การมีความสงบสุขทางใจ (Calmness)

แม้สมองต้องคิดหาทางล้างหนี้แต่ใจเราก็ต้องสงบ เทคนิคง่าย ๆ คือ เมื่อใดเกิดความฟุ้งซ่าน คิดมาก อย่าปล่อยให้มันตั้งอยู่นาน หันเหไปทำสิ่งที่สนใจ คนชอบเล่นกีฬาให้ออกไปเดินให้เร็ว วิ่ง หรือเล่นกีฬา คนที่ชอบอ่านหนังสือก็เลือกหนังสือที่ชอบมาอ่าน หรือแม้แต่การฝีมือต่าง ๆ ก็ช่วยให้สมองได้พักจากเรื่องเครียด มีความสุขสงบอยู่กับสิ่งตรงหน้า ฝึกบ่อย ๆ ก็จะสร้างนิสัยของจิตใหม่ และคุณภาพของจิตก็จะดีขึ้น และความสงบสุขจากภายในเกิดขึ้นได้


C ที่สองคือการดูแลจิตใจตนเอง (Care)

การต่อสู้กับหนี้สิน เป็นการรบที่ยาวนาน ดังนั้น ในยามใดที่ใจเป็นทุกข์ต้องรู้วิธีเยียวยาประคับประคองใจตนเองไม่ให้ท้อ หรือเครียดก่อนหนี้จะหมด เพราะบางคนเครียดเกินไปจนนำไปสู่ความเจ็บป่วยทางจิต การดูแลจิตใจตัวเองจึงเป็นสิ่งสำคัญ เพราะการกู้ใจ-แก้หนี้ ต้องไปพร้อมกัน ดังนั้น หากรู้สึกเครียดลองลองเข้าไปทำแบบประเมิน Mental Health Check In ของกรมสุขภาพจิตได้ที่ https://checkin.dmh.go.th/ เพื่อดูสุขภาวะทางใจตนเองว่า มีความเครียดอยู่ในระดับใด และดูแลจิตใจตามคำแนะนำ


C ที่สามคือ ความผูกพันกับคนรอบตัว (Connectedness)

พลังความรักความผูกพันของคนรอบตัว ไม่ว่าจะเป็นคนในครอบครัวหรือเพื่อนสนิทที่ไว้ใจได้จะช่วยเป็นกำลังใจให้เราสามารถฟันฝ่าปัญหาและอุปสรรคในการจัดการหนี้สินให้ผ่านพ้นไปได้ ซึ่งเรื่องเหล่านี้ ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจจากคนรอบตัว ที่หมั่นเอาใจใส่และเป็นกำลังใจให้กับสมาชิกในครอบครัวที่กำลังเผชิญปัญหานี้

สุดท้ายนี้ ขอให้วัคซีน SHE-3C ช่วยสร้างภูมิคุ้มกันใจให้กับลูกหนี้ทุกคนให้สามารถจัดการปัญหาหนี้สินได้สำเร็จ


ผู้เขียน :
ดร.ลักษณา สกุลทอง
กรมสุขภาพจิต




บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย