ล่าสุดต้นเดือน พ.ค. สำนักงานสถิติแห่งชาติได้เผยแพร่รายงานการย้ายถิ่นของประชากรปี 63 บทความนี้จะเจาะลึกการย้ายถิ่นของประชากรในช่วงวิกฤตโควิด 19 และนำเสนอศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นว่าจะสามารถโอบอุ้มดูดซับแรงงาน และจะใช้จังหวะนี้เร่งปรับโครงสร้างเศรษฐกิจและสังคมให้เข้มแข็งและยั่งยืนในโลกนิวนอร์มัลได้หรือไม่อย่างไร
เจาะลึกการย้ายถิ่นของประชากรปี 63: กลับถิ่นแยกกันเพื่อรอดและพึ่งพิงฐานเกษตร
ผลสำรวจการย้ายถิ่นของประชากรทั้งประเทศ ปี 63[1] ระบุว่าจากคนไทยกว่า 68 ล้านคน มีผู้ย้ายถิ่น 1.05 ล้านคน คิดเป็นอัตราร้อยละ 1.5 เพิ่มขึ้นถึงร้อยละ 60 จาก 6.6 แสนคนในปี 62 กทม. ยังครองแชมป์ของเมืองที่มีคนย้ายออกและย้ายเข้าสูงสุด รูปแบบการย้ายถิ่น ปี 63 ทิศทางคล้ายคลึงกับปี 62 แต่จะมีจำนวนคนย้ายถิ่นมากกว่า (สีกราฟแผนที่ปี 63 เข้มกว่าปีก่อนหน้า)
จากมุมมองย้ายถิ่นขาออก พบว่าคนย้ายออกจาก กทม. 127,344 คน เป็นอันดับหนึ่ง รองลงมาคือ ชลบุรี 55,906 คน เชียงใหม่ 50,702 คน ภูเก็ต 42,427 คน และระยอง 41,325 ตามลำดับ รวมกันถึง 3.2 แสนคน ซึ่งเป็นจังหวัดแหล่งงานและแหล่งท่องเที่ยวสำคัญของประเทศ จากมุมมองการย้ายถิ่นขาเข้า จังหวัดที่มีคนย้ายถิ่นเข้าสูงสุด คือ กทม. รองลงมาคือ ปทุมธานี เชียงใหม่ โคราช และสมุทรปราการ หากเราจำแนกสูงสุดในแต่ละภาค คือ กทม. 84,375 คน เชียงใหม่ 52,344 คน นครราชสีมา 40,758 คน และนครศรีธรรมราช 35,821 คน นอกนั้นกระจายไปตามจังหวัดต่างๆ ทั่วประเทศ เป็นผลจากการปิดสถานประกอบการจากมาตรการล๊อกดาวน์ครั้งแรกและครั้งที่สองในปี 63 แรงงานกลุ่มที่ได้รับผลกระทบหนักคือแรงงานที่ทำงานในภาคบริการ โรงแรม และภัตตาคาร แรงงานที่เป็นคนต่างถิ่นต่างพากันกลับบ้านเกิด ไปตั้งหลักพึ่งพิงฐานเกษตร เนื่องจากไม่สามารถแบกรับค่าใช้จ่ายในเมืองได้ต่อไป
สอดคล้องกับผลสำรวจด้านอาชีพผู้ย้ายถิ่น กลุ่มใหญ่สุดคือ กลุ่มอาชีพที่ใช้ทักษะปานกลางและต่ำ คือ อาชีพงานบริการ 2.8 แสนคน และอาชีพพื้นฐาน 1.8 แสนคน รวมกันคิดเป็นร้อยละ 44 ของคนย้ายถิ่นทั้งหมด และกลุ่มใหญ่สุดจบการศึกษา ม. 6 และ ปวช. 2.7 แสนคน (27%) และแรงงานกลุ่มใหญ่นี้น่าจะเป็นแรงงานนอกระบบที่ไม่ได้รับความคุ้มครองและไม่มีหลักประกันทางสังคมจากการทำงาน สะท้อนจากมุมมองข้อมูลด้านรายได้ ที่ประชากรย้ายถิ่นมากกว่าร้อยละ 65 มีรายได้ 300-500 บาทต่อวัน
ก่อนเจอวิกฤติโควิดเศรษฐกิจไทยก็เติบโตไม่ค่อยดีอยู่แล้ว ตลาดแรงงานก็ไม่ได้จ้างคนเพิ่มมากนัก ปัญหาโควิด-19 ได้ซ้ำเติมปัญหาเชิงโครงสร้างของตลาดแรงงานไทย[2] สะท้อนจากมุมมองด้านอายุและการศึกษา กลุ่มประชากรที่ย้ายถิ่นกลับต่างจังหวัด กลุ่มใหญ่สุดคือ แรงงานเยาวชนอายุ 15-24 ปี ประมาณ 3.2 แสนคน (31%) เนื่องจากส่วนใหญ่ทำงานอยู่ในสาขาได้รับผลกระทบจากวิกฤติโควิด-19 มากกว่ากลุ่มอายุอื่นๆ และเทรนด์นี้เกิดขึ้นทั่วโลกเช่นกัน ดูจากรายงานของ ILO[3] ชี้ว่าแรงงานเยาวชนส่วนใหญ่ทำงานในธุรกิจบริการทั้งโรงแรม ภัตตาคารและร้านอาหาร และค้าปลีกมีความเสี่ยงถูกเลิกจ้างหรือได้รับผลกระทบจากวิกฤตโควิด-19
ศักยภาพของชุมชนท้องถิ่นและความสามารถด้านการจ้างงานเป็นอย่างไร?
จากรายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ปี 62[4] ประเมินการพัฒนาด้านคนรายจังหวัด ในหลากหลายด้าน[5] เช่น ด้านสุขภาพที่ดี ด้านการศึกษา ด้านชีวิตการงาน ด้านรายได้ และด้านการคมนาคมและสื่อสาร พบว่าคะแนนเต็ม 1.0 ไทยเราได้ค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 0.6219 ถือว่ามีศักยภาพค่อนข้างดี และได้คะแนนด้านการพัฒนาที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อมมากที่สุด จังหวัดที่มีความก้าวหน้าสูงสุดคือ นนทบุรี กทม. ปทุมธานี ภูเก็ต และระยอง น้อยสุดคือ นราธิวาส ปัตตานี แม่ฮ่องสอน สุรินทร์ และบุรีรัมย์
ผู้เขียนมาคำนวณหาอัตราการว่างงานรายจังหวัดของปี 63 ซึ่งเป็นหนึ่งในดัชนีด้านชีวิตการงานพบว่า ปัญหาการว่างงานสูงขึ้นเกือบทุกจังหวัดมากน้อยแตกต่างกัน จากร้อยละ 1.0 ในปี 62 (3.7 แสนคน) เป็นร้อยละ 1.9 ในปี 63 (7.3 แสนคน) นับเป็นความท้าทายของชุมชนท้องถิ่นในการเตรียมพร้อมรองรับแรงงานย้ายถิ่นขนาดใหญ่ครั้งนี้ อ้างอิงจากบทความโดยคุณกฤษฎา บุญชัย “วิกฤติโควิดกับจุดเปลี่ยนของชุมชนท้องถิ่น”[6] ระบุว่าแรงงานย้ายถิ่นกลับบ้านเป็นได้ทั้งแรงกดดันและปัจจัยหนุนเสริมชุมชนท้องถิ่น ในชุมชนที่ปลูกพืชเชิงเดี่ยวจะเผชิญกับความผันผวนของราคาและปัญหาภัยแล้งจะไม่สามารถเป็นหลังอิงให้กับแรงงานคืนถิ่นได้ ตรงกันข้ามชุมชนที่มีฐานเข้มแข็ง ดูแลทรัพยากรธรรมชาติทั้งดิน น้ำ ป่าได้ดี และมีฐานการเงินชุมชนที่เข้มแข็ง แรงงานคืนถิ่นจะช่วยเพิ่มแรงงานสร้างความมั่นคงอาหารและเศรษฐกิจได้
ท้องถิ่นควรใช้จุดแข็งที่มีและสร้างนวัตกรรมให้ชุมชนเข้มแข็งในโลกนิวนอร์มัล
ผู้เขียนเห็นว่าท้องถิ่นควรคว้าโอกาสนี้เร่งพัฒนาตัวเองให้เข้มแข็ง โดยใช้งบพัฒนาที่ภาครัฐส่งให้ภายใต้โครงการช่วยเหลือลดผลกระทบวิกฤตโควิด-19 ในการปรับโครงสร้างพัฒนาท้องถิ่น สร้างงานในระยะสั้นรองรับแรงงานย้ายคืนถิ่น ขณะเดียวกันก็เร่งพัฒนาศักยภาพเมืองในระยะยาว เช่น การลงทุนด้านสาธารณสุข การพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและอาชีพโดยชุมชน การพัฒนาแหล่งน้ำ การพัฒนาทักษะและสร้างอาชีพแก่แรงงาน รวมถึงการพัฒนาระบบสวัสดิการแรงงานเป็นตาข่ายความปลอดภัยทางสังคมให้แรงงานกรณีตกงานเป็นเวลานาน
โดยต่อยอดกับทุนเดิมด้านการเกษตร ทุนทางปัญญา ทุนวัฒนธรรมและประเพณี ทุนภูมิปัญญาพื้นบ้าน และแหล่งท่องเที่ยวและสินค้าที่มีเอกลักษณ์ ที่วางพื้นฐานไว้ดีแล้วกว่า 10 ปีที่แล้ว คือ การวางรูปแบบ “พัฒนาเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์” [7] ทั้งกลุ่ม 10 เมืองหลัก และ 20 เมืองตัวอย่าง เช่น ชัยนาท เมืองเมล็ดพันธ์ข้าว เชียงราย เมืองพัฒนาดอยตุง เชียงใหม่ เมืองหัตถกรรมสร้างสรรค์ น่าน เมืองเก่ามีชีวิต ยะลา ศูนย์กลางเศรษฐกิจนก มหาสารคาม เมืองแห่งการเรียนรู้สู่การพัฒนาชุมชน และขอนแก่น เมืองอัจฉริยะและภูมิปัญญาผ้าไหม และให้เป็นไปตามทิศทางที่ระบุไว้แล้วในยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี[8] ด้านการสร้างโอกาสและความเสมอภาคทางสังคมโดยมุ่งพัฒนาชุมชนท้องถิ่น เพื่อตอบสนองสังคมสูงวัยและแนวโน้มการขยายตัวของเมือง โดยเพิ่มศักยภาพชุมชนท้องถิ่นให้พึ่งพาและบริหารจัดการตัวเองได้ และให้เป็นเมืองเศรษฐกิจสีเขียวเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม
ผู้เขียนเชื่อมั่นว่าด้วยการมีส่วนร่วมจากทุกภาคส่วน ทั้งชุมชน ธุรกิจ และภาครัฐที่มีขนาดเล็กลง ทันสมัย และโปร่งใส จะทำให้ชุมชนท้องถิ่นก้าวพ้นวิกฤตครั้งนี้ไปด้วยกันได้ และเชื่อว่าในทุกวิกฤตย่อมมีโอกาสซ่อนอยู่เสมอ
ผู้เขียน:
ดร. เสาวณี จันทะพงษ์
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค ธนาคารแห่งประเทศไทย
นางสาวพาทินธิดา สัจจานิจการ
คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
คอลัมน์แจงสี่เบี้ย หนังสือพิมพ์กรุงเทพธุรกิจ
25 พ.ค. 2564
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย และคณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่
>>
Endnotes:
[1] ข้อมูลการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2563 และรายงานการสำรวจการย้ายถิ่นของประชากร พ.ศ. 2563 กลุ่มสถิติแรงงาน กองสถิติสังคม สำนักงานสถิติแห่งชาติ, 2564
[2] ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19 (ตอน 3): โจทย์ใหญ่แรงงานจบใหม่ในโลกที่เรียกร้องทักษะใหม่, การสัมมนาระดมความคิดเห็นทางระบบออนไลน์ เรื่อง “ตลาดแรงงานไทยหลังยุคโควิด-19: ผลกระทบ แนวโน้มและทางออก” จัดโดยกระทรวงแรงงานและศูนย์ประสานงานเพื่อการวิจัยแรงงาน จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย (CU-ColLaR, เกาะกระแส Thaipublica, 3 สิงหาคม 2563
[3] Susana Puerto and Kee Kim, Young Workers Will Be Hit Hard by COVID-19’s Economic Fallout, ILO Blog, 15 April 2020
[4] รายงานดัชนีความก้าวหน้าของคน ประจำปี 2562 ดัชนีความก้าวหน้าของคน (Human Achievement Index - HAI) กองพัฒนาข้อมูลและตัวชี้วัดสังคม สภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ
[5] องค์ประกอบของ HAI ปี 2562 มี 8 ดัชนีย่อยคือ 1) ด้านสุขภาพ 2) ด้านการศึกษา 3) ด้านชีวิตการงาน 4) ด้านรายได้ 5) ด้านที่อยู่อาศัยและสภาพแวดล้อม 6) ด้านชีวิตครอบครัวและชุมชน 7) ด้านการคมนาคมและการสื่อสาร และ 8) ด้านการมีส่วนร่วม โดยดัชนีย่อยในแต่ละด้าน มี 4 ตัวชี้วัด รวมตัวชี้วัดทั้งหมด 32 ตัวชี้วัด
[6] กฤษฎา บุญชัย บทความ “วิกฤติโควิดกับจุดเปลี่ยนของชุมชนท้องถิ่น” สถาบันชุมชนท้องถิ่นพัฒนา, Thaipublica 27 เม.ย. 2563
[7] บทความ “โครงการเมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์” บทความ “10 เมืองต้นแบบเศรษฐกิจสร้างสรรค์” และ บทความ “20 เมืองตัวอย่างเศรษฐกิจสร้างสรรค์” ในวารสารทรัพย์สินทางปัญญา ปีที่ 7 ฉบับที่ 3 ก.ค.- ก.ย. 2554
[8] ยุทธศาสตร์ชาติ พ.ศ. 2561-2580 (ฉบับย่อ) สำนักงานเลขานุการของคณะกรรมการยุทธศาสตร์ชาติ และสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ