นายสุพริศร์ สุวรรณิก
ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค



เมื่อสองสัปดาห์ที่ผ่านมา ผู้เขียนมีโอกาสได้ลงพื้นที่เพื่อสำรวจภาวะเศรษฐกิจ ฐานะการเงินและความเป็นอยู่ของเกษตรกรในจังหวัดกาฬสินธุ์ ณ บริเวณโครงการพัฒนาแก้มลิงหนองเลิงเปือย อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ร่วมกับผู้บริหารและเพื่อนพนักงานธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) จากสายงานที่กำหนดนโยบายอีกกว่า 30 ชีวิตที่สมัครเข้าร่วมโครงการ “เข้าถึง เข้าใจ วิถีชนบทไทย” โดยพวกเราได้รับการต้อนรับอย่างอบอุ่นจากทุกที่ที่ไปเยือน และที่สำคัญคือ การเรียนรู้จากประสบการณ์จริงที่หาไม่ได้ในตำรา ในโอกาสนี้ ผู้เขียนใคร่ขอขอบพระคุณพี่น้องเกษตรกรทุกท่าน รวมไปถึงคุณสุรจิตร นามน้อย และทีมงานของมูลนิธิปิดทองหลังพระฯ ที่ได้อำนวยความสะดวก และให้ความอนุเคราะห์พวกเราให้ได้เข้าไปเปิดปัญญาที่หาไม่ได้จากภาคทฤษฎีในหนังสือด้วยครับ

การลงพื้นที่จริงของ ธปท. มีบ่อยครั้งขึ้น เข้มข้นขึ้น และไปยังพื้นที่ต่าง ๆ ทั่วราชอาณาจักรมากขึ้นในช่วงที่ผ่านมา ทำให้มีหลายคนอาจสงสัยว่า นี่เป็นเพียงความพยายามในการลบภาพจำที่บางคนเข้าใจว่า ธปท. คือ “หอคอยงาช้าง” หรือไม่? ค่านิยมที่พนักงาน ธปท. ทุกคนยึดถือไว้ อันได้แก่ “ยืนตรง มองไกล ยื่นมือ ติดดิน” โดยเฉพาะคำว่า “ติดดิน” นั้น มีนัยอย่างไร? ต้องไปคลุกฝุ่น ขี่รถไถนา ถือเคียวเกี่ยวข้าวเลยอย่างนั้นหรือ จึงจะเรียกว่าติดดิน? บางขุนพรหมชวนคิดวันนี้จึงขออาสามาตอบคำถามและเล่าให้ฟังว่า การลงพื้นที่จริงของ ธปท. มีความสำคัญอย่างไร พร้อมกับอธิบายให้ชัดว่า คำว่า “ติดดิน” แท้จริงแล้วหมายถึงอะไรกันแน่

แบงก์ชาติหรือ ธปท. ทำหน้าที่ธนาคารกลางเช่นเดียวกับของประเทศอื่น ๆ ที่มีนโยบายการเงินเป็นเครื่องมือหลักในการดูแลเศรษฐกิจ (ผ่านอัตราดอกเบี้ยนโยบาย) เพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืนและมีเงินเฟ้ออยู่ในระดับที่เหมาะสม รวมทั้งมีหน้าที่ในการกำกับดูแลตัวกลางทางการเงิน อาทิ สถาบันการเงิน (สง.) ให้มีการดำเนินงานอย่างถูกต้องและถูกหลักธรรมาภิบาล เพื่อให้ระบบการเงินของประเทศดำเนินต่อไปได้อย่างมีเสถียรภาพ… ดูแค่เผิน ๆ เหมือนว่าเป็นเรื่องไกลตัวจากชาวบ้านมาก แบงก์ชาติไม่เห็นจำเป็นต้องลงพื้นที่จริงมากมายขนาดนี้...

แต่ที่จริงแล้ว การรู้ลึกและเข้าใจปัญหาจริงเป็นสิ่งสำคัญมาก เพราะในปัจจุบัน “ปัญหาเชิงโครงสร้างของเศรษฐกิจไทย”มีแนวโน้มรุนแรงขึ้น อาทิ วิวัฒนาการของเทคโนโลยีที่เข้ามาทดแทนแรงงานมนุษย์ หรือปัญหาสังคมสูงวัย หรือการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ซึ่งเครื่องชี้ทางเศรษฐกิจในระดับมหภาคไม่สามารถสะท้อนสิ่งเหล่านี้ได้ดีนัก การจับชีพจรเศรษฐกิจอย่างถูกต้อง โดยไม่ได้อาศัยเพียงแต่ข้อมูลตัวเลขหรือทางสถิติเท่านั้น จึงมีความสำคัญเป็นอย่างยิ่งสำหรับผู้กำหนดนโยบายทุกฝ่าย รวมถึงผู้ดำเนินนโยบายการเงิน คือ ธปท. ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลครบถ้วน รอบด้านในการตัดสินใจอย่างถูกต้อง นอกจากนี้ หากปล่อยให้ปัญหาเชิงโครงสร้างเรื้อรังต่อไปอาจฉุดรั้งการขยายตัวของเศรษฐกิจในระยะยาว จึงเป็นเรื่องที่ผู้กำหนดนโยบายทุกฝ่ายต้องให้ความใส่ใจแก้ปัญหาอย่างจริงจัง

การลงพื้นที่จริงโดยเฉพาะในท้องถิ่นชนบทยังทำให้ผู้กำหนดนโยบายได้เข้าถึงและเห็นปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างชัดเจน อันจะนำมาซึ่งการแก้ไขปัญหาอย่างตรงจุดอีกด้วย โดยเฉพาะปัญหาทางกายภาพ อาทิ การติดขัดงบประมาณในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เช่น ระบบโซลาร์เซลล์ในการผลิตไฟฟ้าเพื่อการเพาะปลูก หรือระบบชลประทานเพื่อการบริหารจัดการน้ำที่ดีในชนบทห่างไกล

ในทางเดียวกัน การกำกับดูแล สง. ของแบงก์ชาติไม่สามารถพึ่งพิงแต่การตรวจสอบเอกสาร เช่น แฟ้มสินเชื่อและรายงานทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่ต้องเข้าใจพฤติกรรมของผู้มีส่วนได้เสียที่เกี่ยวข้องกับ สง. อย่างลึกซึ้ง อาทิ สาเหตุของการเป็นหนี้ ภาวะการใช้จ่าย และความสะดวกในการชำระเงินของชาวบ้านและเกษตรกร เพื่อให้การกำกับดูแลเป็นไปอย่างเหมาะสม ดังนั้น การเข้าใจสถานการณ์แห่งความเป็นจริง จึงเป็นสิ่งจำเป็นในการทำหน้าที่ของธนาคารกลางเพื่อการกำกับดูแลสถาบันการเงินให้มีเสถียรภาพและการให้บริการอย่างทั่วถึงด้วย

มาถึงตรงนี้ ท่านผู้อ่านคงจะพอเข้าใจแล้วว่า “ติดดิน” ไม่ได้หมายความอย่างผิวเผินเพียงแค่ว่า “คลุกฝุ่น” หรือการลงไปทำนาทำสวนกับชาวบ้านเพียงเท่านั้น แต่มีความหมายที่ลุ่มลึกกว่านั้น คือ “รู้จริง” “คิดครบ” และ “ลงมือปฏิบัติได้” หรืออธิบายง่าย ๆ ว่า ผู้กำหนดนโยบายที่ดีต้องรู้ปัญหาจริง ซึ่งจะช่วยให้คิดครบตั้งแต่เริ่มต้นพัฒนานโยบายไปจนถึงการลงมือปฏิบัติที่สามารถทำได้จริง (end-to-end process)จึงจะเรียกได้เต็มปากว่าหน่วยงานนั้น “ติดดิน” จริงๆ ครับ!

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย