​​นายพงษ์เทพ จงเจริญรุ่งโรจน์

ในช่วงที่ผ่านมาเราคงเคยได้ยินว่าธนาคารกลางหลายแห่งหันมาใช้นโยบายอัตราดอกเบี้ย ติดลบ เช่น ญี่ปุ่น (-0.1%) สหภาพยุโรป (-0.4%) สวีเดน (-0.5%) และ เดนมาร์ก (-0.65%) จนทำให้เกิดคำถามโดยทั่วไปว่านโยบายดอกเบี้ยติดลบคืออะไร และสร้างความกังวลโดยเฉพาะในกลุ่มผู้ออมเงินและคนในวัยเกษียณว่าอาจมีความเป็นไปได้ที่อัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ประชาชนฝากที่ธนาคารพาณิชย์จะลดลงจนขั้นติดลบหรือไม่ ดังเช่นในญี่ปุ่นที่ประชาชนกังวลจนต้องไปซื้อตู้เซฟ เพื่อเก็บเงินสดเพราะเกรงว่าหากนาเงินไปฝากธนาคารอาจต้องจ่ายเงินเพิ่ม

นโยบายดอกเบี้ยติดลบถือเป็นอีกเครื่องมือในการดำเนินนโยบายการเงินใหม่ จากการที่ ธนาคารกลางหลายประเทศต้องเผชิญกับข้อจำกัดในการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงต่อเนื่องจนอัตรา ดอกเบี้ยนโยบายเข้าใกล้ระดับร้อยละศูนย์ (Zero Lower Bound) เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจและป้องกันไม่ให้เงินเฟ้อต่ำจนเกินไปแต่ก็ยังไม่ประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่ทางการตั้งไว้ ทำให้ต้องลดอัตราดอกเบี้ยจนติดลบ โดยในทางปฏิบัตินั้น ธนาคารกลางจะดำเนินนโยบายดังกล่าว ผ่านการปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่ธนาคารพาณิชย์ฝากไว้กับธนาคารกลาง เพื่อกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์นำเงินฝากเหล่านี้ไปปล่อยสินเชื่อให้กับภาคธุรกิจและครัวเรือนแทน ที่ผ่านมา ธนาคารกลางบางแห่งได้ทานโยบายอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบการเงินผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ เช่น หลักทรัพย์หรือพันธบัตรต่างๆ (Quantitative Easing: QE) เพื่อให้ มีเงินเข้าไปอยู่ในมือภาคเอกชนในการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น กรณีของธนาคารกลางญี่ปุ่นในปี 2556 และธนาคารกลางสหภาพยุโรปปี 2557 อย่างไรก็ดี สภาพคล่องดังกล่าวยังท่วมท้นอยู่ในบัญชีเงินฝากของธนาคารพาณิชย์ที่ฝากไว้ที่ธนาคารกลาง โดยไม่ได้นำออกมาให้สินเชื่อสู่ภาคเศรษฐกิจจริงเท่าใดนัก ดังนั้น ดอกเบี้ยที่ติดลบจะเป็นแรงผลักดันให้ธนาคารพาณิชย์นำสภาพคล่องที่มีอยู่ไปหาผลตอบแทนที่ดีกว่าในรูปการลงทุนในสินทรัพย์ต่างๆ และการปล่อยสินเชื่อ อย่างไรก็ดี เท่าที่ผ่านมา ดอกเบี้ยเงินฝากที่ประชาชนฝากที่ธนาคารพาณิชย์ไม่ได้ปรับลดลงจนอยู่ในระดับติดลบ เนื่องจากธนาคารพาณิชย์ยังต้องรักษาฐานเงินฝากของลูกค้าไว้ อีกทั้งดอกเบี้ยเงินฝากที่ติดลบอาจทำให้ผู้ฝากเงินถอนเงินออกจากระบบอย่างฉับพลัน ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ขาดสภาพคล่องได้ นอกจากนี้ บางประเทศยังมีกฎหมายคุ้มครองไม่ให้อัตราดอกเบี้ยเงินฝากลดลงไปต่ำกว่าร้อยละศูนย์อีกด้วย เช่น กรณีของประเทศเยอรมนี เป็นต้น

แล้วใครจะได้ประโยชน์จากการที่อัตราดอกเบี้ยติดลบ? ในภาพรวมพบว่าประโยชน์ตกอยู่ กับเศรษฐกิจ ผ่านช่องทางต้นทุนการกู้ยืมของภาคเอกชนที่ลดลงเป็นสำคัญ เช่น ในกรณีของกลุ่มประเทศยูโรโซนที่การใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบ และอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ภาคธนาคารผ่านการเข้าซื้อสินทรัพย์ (QE) สามารถช่วยสนับสนุนการขยายตัวของสินเชื่อ และลดปัญหาความสามารถในการปล่อยสินเชื่อของภาคธนาคารพาณิชย์ที่มีอยู่เดิมได้ดี รวมถึงธนาคารกลางญี่ปุ่นเองก็ได้ออกมาประเมินประสิทธิภาพของนโยบายดอกเบี้ยติดลบที่เริ่มใช้ตั้งแต่ต้นปี 2559 ซึ่งเมื่อผนวกกับการอัดฉีดสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ (Quantitative and Qualitative Monetary Easing หรือ QQE) ที่เริ่มใช้ตั้งแต่ปี 2556 ที่ทำให้อัตราดอกเบี้ยทั้งระยะสั้นและระยะยาวปรับลดลง จึงช่วยให้ต้นทุนการกู้ยืมของภาคธุรกิจปรับลดลง และช่วยให้ภาวะการเงินของประเทศอยู่ในระดับผ่อนคลาย ในขณะเดียวกันบางธนาคารกลางใช้นโยบายดอกเบี้ยติดลบเพื่อชะลอการแข็งค่าของเงินสกุลท้องถิ่น เช่น ในกรณีของสวิตเซอร์แลนด์เมื่อปี 2557 หลังเผชิญกับค่าเงินฟรังก์สวิสที่แข็งค่าขึ้นมากจากการเป็น Safe Haven ในช่วงที่ตลาดการเงินโลกผันผวน โดยหลังการใช้นโยบาย เงินฟรังก์สวิสปรับอ่อนค่าลง ซึ่งช่วยสนับสนุนภาคธุรกิจส่งออกได้ในช่วงดังกล่าว

อย่างไรก็ดี มีหลายฝ่ายที่ได้รับผลเสียจากอัตราดอกเบี้ยติดลบเช่นกัน โดยเฉพาะหากเกิดขึ้นเป็นเวลายาวนาน เนื่องจาก (i) กำไรของธนาคารพาณิชย์อาจลดลง กล่าวคือ ธนาคารพาณิชย์อาจไม่สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินฝากที่เป็นต้นทุนได้ง่ายนักเพื่อรักษาฐานเงินฝาก ขณะที่อัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่เป็นรายรับของธนาคารพาณิชย์ปรับลดลงได้เร็วกว่า (ii) รายได้ของผู้ออมลดลง ทั้งในส่วนของอัตราดอกเบี้ยเงินฝากและผลตอบแทนจากการลงทุนระยะยาวในตลาดการเงินที่ลดลง เช่น กองทุนบำเหน็จบำนาญ (Pension Fund) ซึ่งอาจกระทบต่อการใช้จ่ายของภาคครัวเรือนและผู้อยู่ในวัยเกษียณ (iii) ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพของระบบการเงินจากพฤติกรรมแสวงหาผลตอบแทน (Searching for Yield) เพิ่มขึ้น โดยนักลงทุนอาจย้ายเงินลงทุนไปสู่สินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงมากขึ้น ซึ่งอาจส่งผลต่อเสถียรภาพการเงินในระยะยาว และ (iv) บทบาทของสถาบันการเงินในฐานะตัวกลางทางการเงินลดลง โดยประชาชนหรือภาคธุรกิจอาจลดการพึ่งพาภาคธนาคารในการเป็นตัวกลางทางการเงินที่เชื่อมโยงระหว่างผู้ต้องการใช้เงินทุนและผู้ออมเงิน ในระบบ เนื่องจากประชาชนอาจหันไปพึ่งพาตัวกลางอื่นๆ เช่น ตลาดทุนแทน ทำให้นโยบายต่างๆ โดยเฉพาะนโยบายการเงินที่ต้องพึ่งพาการส่งผ่านภาคธนาคารพาณิชย์มีข้อจำกัดมากขึ้น

จะเห็นได้ว่า จากประสบการณ์ในช่วงที่ผ่านมาของประเทศที่ดำเนินนโยบายดอกเบี้ยติดลบให้ผลดีต่อเศรษฐกิจผ่านช่องทางต้นทุนการกู้ยืมที่ลดลงและค่าเงินที่อ่อนค่าลงเป็นสำคัญ อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางที่พิจารณาใช้นโยบายดังกล่าวต้องคำนึงประสิทธิภาพควบคู่ไปกับต้นทุนหรือผลข้างเคียงที่มีต่อระบบเศรษฐกิจด้วย ซึ่งการประเมินผลกระทบของนโยบายดอกเบี้ยติดลบเป็นระยะๆ จะช่วยให้ธนาคารกลางสามารถปรับเปลี่ยนทิศทางของนโยบายหรือใช้เครื่องมือเสริมเพื่อให้เครื่องมือหลักคือดอกเบี้ยติดลบมีประสิทธิภาพสูงสุด ดังเช่นกรณีล่าสุดที่ทางธนาคารกลางญี่ปุ่นเพิ่งเริ่มใช้นโยบายควบคุมเส้นอัตราผลตอบแทนพันธบัตร (Yield Curve Control) เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมาควบคู่ไปกับนโยบายผ่อนคลายทางการเงินเดิมคือดอกเบี้ยติดลบ เพื่อให้การส่งผ่านนโยบายการเงินสู่ภาคเศรษฐกิจมีประสิทธิภาพมากขึ้น และช่วยลดผลกระทบด้านลบของนโยบายอัตราดอกเบี้ยติดลบที่มีต่อผู้ออมเงินและภาคธนาคารพาณิชย์

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย