​​ส้มหล่นจากราคาน้ำมัน... ไทยจะใช้โอกาสนี้อย่างไร?

​นายสิงหพันธุ์ สิงหเสนี
นางสาววินัสยา สุริยาธานินทร์
นางสาวปาจารีย์ ประสิทธิ์ศักดิ์

ตั้งแต่ครึ่งหลังของปี 2557 ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับลดลงชนิดที่ว่าหักปากกาเซียนไปหลายสำนัก โดยราคาน้ำมันดิบดูไบปรับลดลงจาก 105 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรล ในปี 2556 มาอยู่ที่ 51 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรลในปี 2558 และต่ำสุดในรอบทศวรรษเมื่อหล่นลงไปต่ำกว่า 30 ดอลลาร์ สรอ./บาร์เรลในช่วงต้นปี 2559

น้ำมันที่ใช้กันอยู่ในประเทศไทยกว่า 80% ต้องน้าเข้ามาจากต่างประเทศ ที่เหลือเป็นส่วนที่ผลิตได้ในประเทศ แน่นอนว่าราคาน้ำมันในตลาดโลกที่ถูกลงมากเช่นนี้ จึงเปรียบเหมือนส้มหล่นใส่คนไทย ผู้บริโภคน้ำมันต่างยิ้มกริ่มกันถ้วนหน้า เพราะบ้างก็ประหยัดต้นทุนในการผลิต บ้างก็ประหยัดค่าน้ำมันรถและค่าตั๋วขนส่งสาธารณะที่ถูกลง

ท่ามกลางความดีใจของคนไทยเมื่อได้ “ส้มหล่น” นี้ เราคงต้องช่วยกันเตือนสติว่าลาภลอยแบบนี้คงไม่ได้มีไปตลอด เราจะกินส้มที่หล่นลงมาจนหมดไปในวันนี้เลยไหม? หรือควรจะปันส้มเข้ากระบวนการถนอมอาหารเพื่อเก็บไว้กินในวันข้างหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อภาวะพิเศษนี้หมดไป


ก่อนจะตอบคำถามดังกล่าว เราลองมาเข้าใจพฤติกรรมคนไทยในการใช้น้ำมันกันก่อน

ประเทศไทยต้องนำเข้าน้ำมันสูงถึงปีละกว่า 1.4 ล้านล้านบาท หรือคิดเป็นประมาณ 10% ของ GDP แต่การใช้น้ำมันของไทยเรียกได้ว่าสิ้นเปลืองเมื่อเทียบกับต่างประเทศ เพราะด้วยน้ำมันในปริมาณเท่ากัน คนไทยนำมาสร้างเป็นมูลค่าทางเศรษฐกิจได้น้อยกว่าประเทศอื่น หากไทยต้องการสร้างรายได้จ้านวนหนึ่ง ไทยจะต้องใช้น้ำมันมากกว่าปริมาณที่ญี่ปุ่นหรือสหรัฐอเมริกาใช้ถึง 3 เท่า ส่วนหนึ่งเป็นเพราะการขนส่งในประเทศยังต้องพึ่งพาการใช้ถนนมาก ในขณะที่ประเทศที่กล่าวถึงต่างใช้ระบบขนส่งทางรางเป็นหลัก

นอกจากนี้ ราคาน้ำมันที่ลดต่ำลงมากยังกระตุ้นให้เกิดการใช้น้ำมันในอัตราที่เพิ่มขึ้น ตัวอย่างที่ชัด คือ ราคาน้ำมันแก๊สโซฮอล์ 95 ปี 2558 ลดลง 11 บาท จากปีก่อน ท้าให้ประชาชนใช้น้ำมันเพิ่มขึ้นถึง 13% แม้เศรษฐกิจจะเติบโตแค่ 2.8%

ด้วยพฤติกรรมการใช้น้ำมันของคนไทยที่ยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ทำให้แนวคิดเก็บถนอมส้ม เพื่อวันข้างหน้ามีความจำเป็นยิ่งขึ้น แนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่มีตัวอย่างให้เห็นหลากหลาย โดยผู้นำเข้าน้ำมันอย่างสหภาพยุโรปและญี่ปุ่นเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงานเพื่อลดการนำเข้าน้ำมัน ด้วยการสร้างระบบขนส่งที่หลากหลาย และพัฒนาพลังงานทางเลือก ส่วนประเทศผู้ผลิตน้ำมันซึ่งเป็นเหมือนเจ้าของต้นส้มก็ไม่ได้ชะล่าใจว่าจะเก็บส้มขายไปได้ตลอด แต่นำรายได้จากการขายน้ำมันไปลงทุนเพื่อรักษาผลประโยชน์ให้กับคนรุ่นต่อไป เช่น นอร์เวย์ลงทุนในกองทุนความมั่งคั่งแห่งชาติ หรือสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์นำเงินไปลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานเพื่อกระจายการเติบโตไปสู่ภาคเศรษฐกิจอื่นๆ

ในกรณีของไทย เรามีทางเลือกที่จะกินส้มที่หล่นให้หมดไปในวันนี้ หรือยอมจ่ายเงินเพิ่มอีกหน่อย แล้วนำส่วนต่างที่เราจ่ายนั้นไปพัฒนาในด้านอื่นๆ เพื่อเก็บส้มไว้ให้เราได้กินนานๆ โดยเฉพาะในวันข้างหน้า ที่ราคาส้มอาจแพงขึ้นอีก

การตอบคำถามว่าทำอย่างไรกับส้มที่มีราคาถูกในขณะนี้ เป็นปัญหาเชิงนโยบายที่ภาครัฐต้องคิดอย่างรอบคอบ ซึ่งรัฐสามารถวางแผนจัดการผ่านกลไกการกำหนดราคาน้ำมันด้วยเครื่องมือที่มีอยู่แล้ว อาทิ (1) ภาษีสรรพสามิตและภาษีท้องถิ่น เพื่อเป็นรายได้เข้าสู่งบประมาณรัฐและน้าไปจัดสรรเพื่อใช้จ่ายในด้านต่างๆ (2) กองทุนน้ำมัน สำหรับเป็นเครื่องมือลดความผันผวนของราคาขายปลีก และ (3) กองทุนอนุรักษ์พลังงานเพื่อส่งเสริมการวิจัยและพัฒนาด้านประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ซึ่งปัจจุบันเก็บเงินเข้ากองทุนฯ เพียง 25 สตางค์/ลิตร เท่านั้น

เป็นที่ชัดเจนว่าการบริหารกลไกราคาน้ำมันของภาครัฐในปัจจุบัน มุ่งที่จะเก็บเงินเพื่อรักษาระดับราคาขายปลีกในประเทศไม่ให้ผันผวนมากในระยะสั้น แต่ยังไม่ค่อยได้ให้ความสำคัญกับการสร้างแรงจูงใจที่จะทำให้เกิดการปรับพฤติกรรมหรือเพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำมันในระยะยาว เพราะหากเทียบกับต่างประเทศ อาทิ ยุโรปและอินเดีย ซึ่งเป็นกลุ่มประเทศผู้น้าเข้าน้ำมันด้วยกันจะพบว่า อัตราการจัดเก็บเงินได้จากราคาน้ำมันต่อราคาขายปลีกของไทยอยู่ในระดับต่ำสุด ซึ่งไม่เพียงพอที่จะช่วยพัฒนาศักยภาพของประเทศในระยะข้างหน้า

ในภาวะปัจจุบันที่ราคาน้ำมันต่ำลงมาก จึงเป็นโอกาสให้ภาครัฐปรับโครงสร้างราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศโดยไม่สร้างภาระกับประชาชนมากเกินไป เพื่อเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมการใช้น้ำมันให้เหมาะสมกับพื้นฐานของประเทศ และเอื้อต่อการเพิ่มประสิทธิภาพการใช้พลังงาน ภาครัฐควรเร่งดำเนินการอย่างรวดเร็ว เนื่องจากราคาน้ำมันคาดเดาได้ยาก และอาจจะปรับแพงขึ้นอีก โดยแนวทางการปรับโครงสร้างราคาฯ อาจทำได้หลายแนวทาง ซึ่งมีข้อดีและข้อเสียแตกต่างกันไป อาทิ

(1) การปรับขึ้นภาษีสรรพสามิตน้ำมัน เป็นแนวทางที่สามารถดำเนินการได้ทันที เนื่องจาก พ.ร.บ. ภาษีสรรพสามิตกำหนดเพดานภาษีน้ำมันไว้ที่ 10 บาท/ลิตร ซึ่งปัจจุบันจัดเก็บที่ 5.4 บาท/ลิตร จึงยังมีช่องว่างให้จัดเก็บภาษีได้เพิ่มเติม แต่มีข้อด้อยเพราะเงินภาษีฯ ที่ถูกเก็บจะน้าไปใช้จ่ายเพื่อวัตถุประสงค์ใดก็ได้ จึงอาจไม่ตรงกับเจตนารมณ์ที่อยากให้เก็บเงินจากคนใช้น้ำมันไปชดเชยผลกระทบทางลบที่เกิดจากการใช้รถใช้ถนน

(2) การเพิ่มอัตราจัดเก็บเงินเข้ากองทุนอนุรักษ์พลังงาน สามารถดำเนินการได้ง่ายและช่วยให้มีงบประมาณในการวิจัยและพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงานมากขึ้น แต่อาจมีข้อกังวลเนื่องจากเงินกองทุนจะถูกใช้จ่ายไปในหลายวัตถุประสงค์ ซึ่งอาจวัดประสิทธิผลได้ยาก รวมทั้งไม่ได้ผ่านกระบวนการงบประมาณที่มีเกณฑ์การเบิกจ่ายเคร่งครัด

(3) การจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐานขึ้นใหม่ เพื่อมานำเงินมาลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคม สร้างทางเลือกในการขนส่ง ลดการใช้น้ำมัน และเป็นการลดภาระทางการคลัง แต่การสร้างกองทุนใหม่อาจใช้เวลานาน รวมทั้งต้องให้ความสำคัญกับการวางระบบธรรมาภิบาล และต้องมีวัตถุประสงค์ที่ชัดเจนเพื่อไม่ให้ทับซ้อนกับหน่วยงานอื่น

เมื่อพิจารณาจากทางเลือกทั้งสามประกอบกับเวลาที่มีอย่างจำกัดนั้น การเก็บภาษีสรรพสามิตเพิ่มเติมเป็นวิธีที่สามารถดำเนินการได้ทันที ทั้งยังถูกวินัยทางการคลัง ซึ่งการเพิ่มภาษีในปัจจุบันแม้ว่าจะทำให้ราคาพลังงานเพิ่มขึ้นและกระทบต่อค่าครองชีพบ้างในระยะสั้น แต่ผลเสียนั้นคงไม่ถึงกับมากเพราะเมื่อสุทธิกับราคาน้ำมันที่อยู่ในระดับต่ำขณะนี้ ยังถือว่าผู้บริโภคจ่ายค่าน้ำมันค่อนข้างถูกอยู่ และในอนาคตเมื่อราคาปรับสูงขึ้น รัฐบาลก็สามารถค่อยๆ ผ่อนการเก็บภาษีฯ นี้ลง

การปรับโครงสร้างดังกล่าวเปรียบเสมือนเราได้นำส้มไปแปรรูปให้เก็บไว้กินได้นานขึ้น แต่ต้องไม่ละเลยที่จะพัฒนาพืชผลไม้อื่นเพื่อเป็นทางเลือกการกินการใช้ให้บริบูรณ์ เช่น การมีแผนพัฒนาประสิทธิภาพการใช้พลังงาน และลงทุนเพื่อยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน ผู้บริโภคเองจะได้รับประโยชน์จากรายจ่ายด้านพลังงานที่ลดลง อีกทั้งยังช่วยลดต้นทุนการขนส่งของทั้งภาคเอกชนและภาคครัวเรือน รวมถึงประเทศจะสามารถประหยัดรายจ่ายด้านพลังงานจากการน้าเข้าน้ำมันได้อีกด้วย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย