การประชุม กนง. ในแต่ละครั้งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงวันเดียว
ตามปกติ กนง. จะประชุม 8 ครั้งต่อปี โดยประกาศตารางการประชุมทั้งปีให้ทราบล่วงหน้า การประชุมแต่ละครั้งห่างกัน 6 – 8 สัปดาห์ แต่ท่านผู้อ่านทราบหรือไม่ว่าการประชุม กนง. แต่ละครั้งไม่ได้เกิดขึ้นเพียงวันเดียว โดย กนง. จะมีการประชุมสรุปภาวะเศรษฐกิจ (Pre-MPC) ภายในช่วงประมาณหนึ่งสัปดาห์ก่อนหน้าวันประชุม กนง. (MPC) เพื่อหารือสรุปภาวะเศรษฐกิจการเงินล่าสุด ทั้งด้านเศรษฐกิจ เงินเฟ้อ ตลาดการเงิน และเสถียรภาพระบบการเงิน รวมถึงการวิเคราะห์แนวโน้มและปัจจัยเสี่ยงในระยะข้างหน้า ดังนั้น กรรมการ กนง. รวมถึงเจ้าหน้าที่ ธปท. ที่เกี่ยวข้อง ไม่สามารถให้สัมภาษณ์หรือให้ความเห็นในลักษณะเป็นการชี้นำหรือส่งสัญญาณเกี่ยวกับการตัดสินนโยบายการเงินได้เป็นเวลา 7 วันก่อนหน้าวันประชุม กนง. หรือที่เรียกว่า “silent period” นั่นเอง
และในกรณีที่จำเป็น กนง. สามารถประชุมรอบพิเศษเพิ่มได้ โดยครั้งล่าสุดที่มีการประชุมรอบพิเศษ คือ วันที่ 20 มี.ค. 2563 อันเป็นเดือนที่โควิด 19 ระบาดไปทั่วโลกจนส่งกระทบต่อตลาดการเงินรุนแรง กนง. จึงประชุมรอบพิเศษและได้ตัดสินใจลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงก่อนวันประชุมปกติ
นอกจากนี้ กนง. ยังประชุมร่วมกับคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงิน (กนส.) อย่างน้อยปีละ 2 ครั้ง เพื่อติดตามและประเมินเสถียรภาพระบบการเงินไทย รวมถึงแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างคณะกรรมการทั้งสองชุด ซึ่งช่วยให้ กนง. มีข้อมูลประกอบการตัดสินนโยบายการเงินที่ครบถ้วนและรอบด้าน รวมถึงเป็นโอกาสสื่อสารเรื่องเสถียรภาพระบบการเงินแก่สาธารณชน ผ่านเอกสารแถลงผลการประชุมร่วมอีกด้วย
กนง. ใช้ข้อมูลที่หลากหลายทั้งในเชิงปริมาณและคุณภาพ
ในการตัดสินนโยบายการเงิน กนง. ใช้ข้อมูลที่หลากหลายทั้งข้อมูลในเชิงปริมาณ อาทิ ข้อมูลเศรษฐกิจรายเดือน (เช่น การบริโภค การส่งออก) เครื่องชี้เร็วด้านเศรษฐกิจ (เช่น Google mobility Facebook movement range) ข้อมูลการสำรวจต่าง ๆ (เช่น ดัชนีความเชื่อมั่นทางธุรกิจ ดัชนีความเชื่อมั่นผู้ประกอบการค้าปลีก ดัชนีความเชื่อมั่นครัวเรือนฐานราก) และข้อมูลในเชิงคุณภาพ เช่น การสัมภาษณ์ผู้ประกอบการเชิงลึกทั่วประเทศ ข้อมูลจากการประชุมกับหน่วยงานภาครัฐและองค์กรระหว่างประเทศ เพื่อให้การวิเคราะห์ภาพเศรษฐกิจครบถ้วน รอบด้าน และทันการณ์
กนง. เผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจและเงินเฟ้อในเดือนสุดท้ายของทุกไตรมาส
การประชุม กนง. ที่จัดขึ้นในเดือนสุดท้ายของทุกไตรมาสจะเผยแพร่ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจและเงินเฟ้อใน 2 ปีข้างหน้า ทั้งนี้ ท่านผู้อ่านที่ติดตามข่าวเศรษฐกิจใกล้ชิดคงทราบว่ามีหลายหน่วยงานทำประมาณการเศรษฐกิจไทยทั้งภาครัฐและเอกชน โดยสำหรับหน่วยงานภาครัฐ กนง. จะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจในเดือนสิ้นไตรมาส (เช่น มีนาคม) สำนักงานเศรษฐกิจการคลังจะเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจในเดือนต่อมา (เช่น เมษายน) และสภาพัฒน์ฯ ซึ่งเป็นผู้จัดทำ GDP อย่างเป็นทางการของไทย จะเผยแพร่ข้อมูล GDP ของไตรมาสก่อนหน้าพร้อมกับประมาณการเศรษฐกิจทั้งปีในเดือนถัดไป (เช่น พฤษภาคม)
ในกรณีที่สถานการณ์มีความไม่แน่นอนสูง กนง. จะจัดทำการวิเคราะห์ฉากทัศน์ (scenario analysis) ของแนวโน้มเศรษฐกิจในกรณีต่าง ๆ โดยพิจารณาจากปัจจัยเสี่ยงสำคัญในระยะข้างหน้า เช่น ในช่วงโควิด 19 ปัจจัยเสี่ยงสำคัญคือการฟื้นตัวของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ กนง. จึงได้จัดทำ scenario ของนักท่องเที่ยวต่างชาติในกรณีต่าง ๆ ตั้งแต่กรณีฐานไปจนถึงกรณีเลวร้าย ซึ่งส่งผลกระทบต่อแนวโน้มเศรษฐกิจแตกต่างกัน ท่านผู้อ่านสามารถดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้จากรายงานนโยบายการเงินครับ
เป้าหมายของนโยบายการเงินไม่ได้มีเพียงเป้าหมายเงินเฟ้อ
กนง. จัดทำความตกลงร่วมกัน (MOU) กับกระทรวงการคลังเพื่อกำหนดเป้าหมายนโยบายการเงิน และเสนอให้คณะรัฐมนตรีอนุมัติทุกสิ้นปี สำหรับ MOU ประจำปี 2564 มีเนื้อหาสำคัญ คือ ให้น้ำหนักกับการสนับสนุนการฟื้นตัวของเศรษฐกิจเป็นสำคัญเพื่อให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน ควบคู่กับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลาง และการรักษาเสถียรภาพของระบบการเงิน โดยกำหนดให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในช่วงร้อยละ 1-3 เป็นเป้าหมายนโยบายการเงินด้านเสถียรภาพราคาสำหรับระยะปานกลาง ซึ่ง กนง. จะผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายต่าง ๆ อย่างเหมาะสม เพื่อให้บรรลุเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
กนง. มีหน้าที่กำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนด้วย
พ.ร.บ. ธปท. มาตรา 28/7 ระบุว่า กนง. มีอำนาจหน้าที่ในการกำหนดนโยบายการเงิน และกำหนดนโยบายการบริหารจัดการอัตราแลกเปลี่ยนเงินตรา ภายใต้ระบบการแลกเปลี่ยนเงินตราตามกฎหมายว่าด้วยเงินตรา โดยกำหนดมาตรการที่จำเป็นเพื่อให้สอดคล้องกับเป้าหมายและนโยบายข้างต้น รวมถึงติดตามการทำงานของ ธปท. ในการดำเนินมาตรการดังกล่าวให้เป็นไปอย่างถูกต้องและมีประสิทธิภาพ สำหรับมาตรการที่ กนง. ให้ความสำคัญในปัจจุบัน คือ การสร้างระบบนิเวศใหม่ของตลาดอัตราแลกเปลี่ยน (FX ecosystem) ที่จะช่วยให้เงินทุนเคลื่อนย้ายของไทยไหลเข้าออกอย่างสมดุลมากขึ้นครับ
การสื่อสารอย่างโปร่งใสคือหัวใจของนโยบายการเงิน
กฎหมายกำหนดให้ กนง. ต้องรายงานผลการดำเนินงานทุกครึ่งปีแก่คณะรัฐมนตรี และหากอัตราเงินเฟ้อทั่วไปออกนอกกรอบเป้าหมาย กนง. ต้องออกจดหมายเปิดผนึก (open letter) ถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังและเปิดเผยต่อสาธารณชนด้วย เพื่อชี้แจงสาเหตุและแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินเพื่อนำอัตราเงินเฟ้อทั่วไปกลับเข้าสู่เป้าหมายในระยะเวลาที่เหมาะสม อย่างไรก็ดี การสื่อสารอย่างโปร่งใสของ กนง. ต่อสาธารณชนเป็นเรื่องสำคัญที่สุด ทั้งช่องทางที่เป็นทางการ เช่น การแถลงผลการประชุม รายงานการประชุมฉบับย่อ รายงานนโยบายการเงิน หรือช่องทางสื่อมวลชนและ social media หากประชาชนเห็นว่า กนง. ตัดสินนโยบายการเงินอย่างเหมาะสม บนข้อมูลที่ครบถ้วนรอบด้าน และอธิบายเหตุผลได้อย่างชัดเจน นโยบายการเงินก็จะได้รับความเชื่อมั่น และสามารถส่งผ่านนโยบายไปยังกลไกต่าง ๆ ของระบบเศรษฐกิจได้อย่างมีประสิทธิภาพครับ