นางวจีทิพย์ พงษ์เพ็ชร
หลังจากที่คณะรัฐมนตรีมีมติให้ความเห็นชอบต่อการปฏิรูปรัฐวิสาหกิจตามที่คณะกรรมการ นโยบายรัฐวิสาหกิจ (คนร.) เสนอ เมื่อ 2 ธันวาคม 2557 เพื่อให้รัฐวิสาหกิจซึ่งเป็นหน่วยงำนของรัฐที่เป็นเจ้าของทรัพยากรขนาดใหญ่ของประเทศสามารถทำหน้าที่ต่อไปได้อย่างยั่งยืนอย่างมีประสิทธิผลแล้ว ในส่วนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ 8 แห่ง ก็มีการแยกบทบาทหน้าที่ระหว่างผู้กำกับดูแล (Regulator) เจ้าของ (Owner) และผู้ออกนโยบายด้านพันธกิจ (Policy maker) เพื่อสร้างสมดุลให้กับสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ต้องดำเนินงานให้ได้ตามพันธกิจที่หลากหลาย
ด้วยหลักการข้างต้น รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลังจึงเพิ่มบทบาทการดูแลความมั่นคง มีการจัดการความเสี่ยงที่ดี และมีธรรมาภิบาลให้กับแบงก์ชาติ จากเดิมที่ทำหน้าที่เพียงตรวจสอบฐานะและรายงานผลให้กระทรวงการคลังเพื่อดำเนินการต่อ แต่จากนี้ไปแบงก์ชาติจะมีหน้าที่ออกกรอบกติกาเพื่อดูแลความมั่นคงในด้านต่างๆ เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งการปฏิรูปครั้งนี้จะว่าไปก็เหมือนกับผนวกแบงก์ชาติเข้ำมาในแม่น้ำ ปิง วัง ยม น่าน เพราะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 4 แห่ง โดยมีสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ทาหน้าที่เจ้าของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ทำหน้าที่ออกนโยบาย แบงก์ชาติทาหน้าที่ดูแลความมั่นคง และที่สำคัญที่สุดคือสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ทำหน้าที่เป็นหน่วยปฏิบัติ ทั้ง 4 หน่วยงานทำงานร่วมกันจึงจะรวมตัวกันเป็นแม่น้ำเจ้าพระยาที่เป็นช่องทางในการให้บริการทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นการออม การให้กู้ยืม การรับโอนเงินชำระเงินแก่กลุ่มเป้าหมายที่ยังเข้าไม่ถึงบริการทางการเงิน หรือเป็นช่องทางที่รัฐจะใช้บริการทางการเงินในการพัฒนาและเร่งรัดขีดความสามารถของประเทศ ร่วมกับแม่น้ำการเงินอื่นๆ เช่น ธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทประกัน ที่มีอยู่ในประเทศไทย
เนื่องจากการทำหน้าที่ของแบงก์ชาติเป็นไปเพื่อความเป็นอยู่ที่ดีอย่างยั่งยืนของไทย การได้รับมอบหมายภารกิจนี้จึงนับเป็นความภาคภูมิใจ และยังทำให้การทำหน้าที่รักษาเสถียรภาพของระบบสถาบันการเงินทำได้ครอบคลุมยิ่งขึ้น เพราะปัจจุบันสถาบันการเงินเฉพาะกิจก็มีสัดส่วนของสินทรัพย์ประมาณ 10% ของระบบการเงินไทย เมื่อเทียบกับธนาคารพาณิชย์ที่มีสัดส่วนอยู่ที่ 34% และคงปฏิเสธไม่ได้ว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจเป็นหัวใจสำคัญของเรามาอย่างยาวนาน นับแต่ธนาคารออมสินซึ่งเป็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจแห่งแรกก่อตั้งขึ้นในปี 2489 พวกเราได้รับการปลูกฝังวินัยการออมด้วยการหยอดกระปุกออมสิน และการฝากเงินกับธนาคารออมสินมาตั้งแต่เป็นนักเรียน เมื่อแบงก์ชาติร่างแผนพัฒนาระบบสถาบันการเงินฉบับแรก และตามไปดูงานการเงินฐานรากกับธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร ทำให้เห็นการให้บริการทางการเงินพร้อมไปกับการทำหน้าที่ส่งเสริมความเป็นอยู่เกษตรกร พร้อมๆ กับได้เห็นสถาบันการเงินเฉพาะกิจอื่นอีก 6 แห่งที่พยายามทำหน้าที่ตามพันธกิจที่ได้รับอย่างเต็มกำลัง
อย่างไรก็ตาม ความภูมิใจที่แบงก์ชาติได้รับน่าจะมาพร้อมกับความท้าทายที่ใหญ่ไม่น้อยกว่ากัน เพราะการออกกติกาต่างๆ เพื่อให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจปฏิบัตินั้น นอกเหนือจากการดูแลความเสี่ยงที่เกิดขึ้นได้เช่นเดียวกับการดูแลความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ ยังต้องคำนึงถึงบทบาทหน้าที่ของสถาบันการเงินเฉพาะกิจที่ได้รับมาซึ่งมีความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์ด้วยเหตุผลดังกล่าว แบงก์ชาติจึงต้องมีความเข้าใจที่ลึกซึ้งในสถาบันการเงินเฉพาะกิจแต่ละแห่งรวมทั้งกฎกติกาของภาครัฐมาประกอบการกติกาสากล เพื่อให้เหมาะสมกับการดูแลประสิทธิภาพการทำตามภารกิจและความมั่นคงของสถาบันนั้นๆ
เมื่อกล่าวถึงหัวใจสำคัญของกติกาใหม่สำหรับสถาบันการเงินเฉพาะกิจ คงสรุปได้ว่ามีอยู่สามเรื่องหลัก หลักการแรกคงหนีไม่พ้นเรื่องบรรษัทภิบาลซึ่งแบงก์ชาติให้ความสำคัญมากที่สุด จึงต้องมีกติกาว่าด้วยคุณสมบัติกรรมการและผู้บริหารระดับสูง รวมถึงบทบาทหน้าที่ของคณะกรรมการชุดต่างๆ ส่วนหลักการที่สองคือการบริหารความเสี่ยงของสถาบันการเงินเฉพาะกิจนั้นๆ โดยมีกติกาป้องกันการสร้างความเสี่ยงจนเกินตัว จึงมีการกำหนด เพดานการทำธุรกรรมไว้ในบางเรื่อง อย่างไรก็ตาม การทำหน้าที่ให้บริการทางการเงินโดยเฉพาะอย่างยิ่ง การให้กู้ยืมตามบทบาทหน้าที่ย่อมมีความเสี่ยงที่เกิดขึ้น จึงต้องมีกติกาว่าด้วยการบริหารความเสี่ยงในด้านต่ำงๆให้มีประสิทธิภาพ การกำหนดวิธีการวัดความเสียหายที่เกิดขึ้นได้อย่างเป็นมาตรฐาน หัวใจที่สำคัญสำหรับหลักการที่สาม คือ มีฐานะมั่นคงรองรับความเสี่ยงหรือความเสียหายที่เกิดขึ้น ดังนั้น การใช้เงินทุนของสถาบันการเงินเฉพาะกิจ หรือการมีสินทรัพย์ที่มั่นคงเป็นตัวรองรับจึงเป็นเรื่องจำเป็นต่อการดำรงอยู่อย่างยั่งยืน
ที่ผ่านมา การวางกติกาใหม่แม้จะมีความท้าทายอยู่มาก แต่ความร่วมมือที่ได้รับจาก หน่วยงานที่เกี่ยวข้องเป็นปัจจัยที่ทำให้แม่น้ำการเงินที่เรียกว่าสถาบันการเงินเฉพาะกิจไหลไปถึงประชาชนได้อย่างราบรื่น การทำหน้าที่ของเจ้าของ และผู้ออกนโยบาย จะปูทางให้ผู้ปฏิบัติทำหน้าที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพและมีคุณภาพ ส่วนหน้าที่การดูแลความมั่นคงของแบงก์ชาติอาจไม่เห็นผลชัดเจนในระยะสั้น เพราะถึงแม้จะมีระยะเวลาให้ปรับตัวตามกติกา แต่ก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องมีการปรับตัวในส่วนของผู้เกี่ยวข้อง ทั้งด้านการปรับระบบงาน คน และเทคโนโลยี แต่ในระยะยาวแล้ว การสร้างกลไกการทำงานร่วมกันของหน่วยงานทั้งสี่แห่งจึงน่าจะสร้ำงความมั่นใจได้ในระดับหนึ่งว่าแม่น้ำการเงินสายนี้จะสามารถไหลต่อไปได้อย่างยั่งยืน
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย