นางอุบลรัตน์ จันทรังษ์
ที่ผ่านมา เราคงเห็นแล้วว่าเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ (Fund Flows) ไหลเข้าออกเร็วและมีความผันผวนมาก ในช่วงที่เหลือของปีนี้คาดว่าจะยังมีเงินทุนไหลเข้าสุทธิจากต่างประเทศอยู่ อย่างไรก็ตามปัจจุบันมีปัจจัยเสี่ยงโดยเฉพาะปัจจัยภายนอกมากขึ้น ได้แก่ ปัญหาวิกฤตหนี้สาธารณะในยุโรป และความไม่แน่นอนของการฟื้นตัวทางเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมหลัก โดยเฉพาะสหรัฐฯ ทำให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีแนวโน้มที่จะผันผวนมากขึ้น และท่านผู้อ่านคงทราบข่าวมาเป็นระยะบ้างจากผู้บริหารระดับสูงของแบงก์ชาติว่ามีแผนเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงดังกล่าว ด้านหนึ่งคือแผนเพื่อเสริมความแข็งแกร่งทางการเงินระหว่างประเทศในระยะยาวของเราเอง ด้วยการศึกษาเพื่อจัดทำแผนแม่บทเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศขึ้นมา
ในครั้งนี้ จะขอเล่าเพิ่มเติมเกี่ยวกับแผนดังกล่าว โดยในส่วนของเหตุผลความจำเป็นที่ต้องจัดทำแผนดังกล่าวนอกจากเพื่อรองรับความเสี่ยงจากความผันผวนของเงินทุนที่สร้างแรงกดดันต่อค่าเงินและราคาสินทรัพย์ในประเทศแล้ว ในเรื่องของฐานะการลงทุนในต่างประเทศของไทยนั้นปัจจุบันยังติดลบ กล่าวคือต่างชาติถือครองสินทรัพย์ไทยมากกว่าคนไทยออกไปถือครองสินทรัพย์ต่างประเทศ แม้ว่าจะปรับดีขึ้นกว่าในอดีต แต่สินทรัพย์ต่างประเทศส่วนใหญ่อยู่ในรูปของเงินสำรองทางการ ขณะที่การออกไปลงทุนยังต่างประเทศ (เงินลงทุนโดยตรงและเงินลงทุนในหลักทรัพย์) ของภาคเอกชนไทยยังถือว่ามีสัดส่วนที่ค่อนข้างต่ำประมาณร้อยละ 16ของ GDP ในปี 2009เมื่อเทียบกับหลายประเทศที่มีระดับการพัฒนาใกล้เคียงกันเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณร้อยละ 25ของ GDP ในช่วงเดียวกัน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะกฎระเบียบของทางการเองที่เป็นอุปสรรคโดยเฉพาะสำหรับนักลงทุนที่มีศักยภาพเพียงพอซึ่งต้องการความคล่องตัวในการกระจายการลงทุนไปสู่ผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมและประเทศที่หลากหลาย เพื่อเพิ่มผลตอบแทนและกระจายความเสี่ยงออกจากการลงทุนภายในประเทศเพียงอย่างเดียวฐานะการลงทุนระหว่างประเทศของไทย
เหตุผลความจำเป็นอีกประการหนึ่งคือ การรวมเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (ASEAN Economic Community: AEC) ซึ่งได้กำหนดเป้าหมายว่าภายในปี 2015 ประเทศสมาชิกอาเซียนทุกประเทศจะต้องผ่อนคลายมาตรการด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น (Freer flow of capital) เพื่อเอื้อต่อการพัฒนาตลาดการเงินของภูมิภาค และแผนการเชื่อมโยงตลาดทุนในอาเซียน ตลอดจนแผนพัฒนาตลาดทุนของไทยเอง ซึ่งล้วนต้องการให้มีการผ่อนคลายมาตรการด้านเงินทุนเคลื่อนย้ายมากขึ้น และเมื่อพิจารณาความพร้อมในด้านโครงสร้างเศรษฐกิจการเงิน และระบบการกำกับและตรวจสอบสถาบันการเงินมีการพัฒนามากขึ้น ซึ่งน่าจะรองรับการเปิดเสรีในอัตราที่เร่งขึ้นได้ และทำอย่างต่อเนื่องเพื่อให้นักลงทุนไทยทราบทิศทางที่ชัดเจนและมีการวางแผนเพื่อพัฒนาบุคลากรและเครื่องมือเพื่อรองรับการเปิดเสรีที่มากขึ้นในอนาคตได้อย่างมีประสิทธิภาพ
แบงก์ชาติจึงได้เริ่มจัดทำแผนแม่บทการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ นี้ขึ้นมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีแผนการเปิดเสรีเงินทุนที่มีความชัดเจน เป็นระบบ และมีขั้นตอนที่สอดคล้องกับพัฒนาการของเศรษฐกิจไทยและสภาวะแวดล้อมทางการเงินโลก โดยเน้นหลักการและมองภาพในระยะยาวมากขึ้น มีที่มาที่ไปของมาตรการหลักชัดเจน ตลอดจนมีการวิเคราะห์ความเปราะบางของระบบว่าเราควรจะเปิดเสรีมากน้อยแค่ไหน และยังจะได้มีการหารือกับ stakeholder สำคัญที่เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและเอกชน โดยผลลัพธ์ที่คาดไว้คือ เพื่อเสริมสร้างให้เงินทุนเคลื่อนย้ายมีความสมดุลมากขึ้น โดยนำ ไปสู่ผลระยะยาวคือการเพิ่มประสิทธิภาพของตลาดการเงินและตลาดเงินตราต่างประเทศ และยกระดับความสามารถในการแข่งขันด้านการค้าและการลงทุนระหว่างประเทศของคนไทยบนพื้นฐานระบบกำกับดูแลที่เหมาะสม และการบริหารความเสี่ยงที่มีประสิทธิภาพ นอกจากนี้ แผนดังกล่าวยังจะเป็นแนวทางหรือท่าทีสำหรับประเทศไทยเพื่อใช้เจรจาในการเปิดเสรีเงินทุนเคลื่อนย้ายฯ ในเวทีต่างๆ โดยเฉพาะภายใต้ความร่วมมือระหว่างอาเซียนได้
แผนฉบับนี้จะแตกต่างกับที่แบงก์ชาติเคยดำเนินการเปิดเสรีในช่วงที่ผ่านมาที่มีการผ่อนคลายแบบทีละเล็กทีละน้อยและค่อนข้างมีความซับซ้อนยากต่อการเข้าใจในทางปฏิบัติ และที่สำคัญในครั้งนี้จะมีการชี้แจงแผนแม่บทเงินทุนฯ ดังกล่าวที่คาดว่าจะเป็นช่วงปลายปีให้กับสาธารณชนเพื่อเข้าใจในทิศทางการเปิดเสรีและประโยชน์ที่จะได้รับ ซึ่งทั้งหมดจะเป็นประโยชน์ต่อทั้งภาคเอกชนไทยและเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินของประเทศโดยรวมในระยะยาว
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย