​กลยุทธ์ฟื้นตลาดแรงงานไทย ตอนที่ 1 : ความท้าทายจากโควิดและโอกาส 8 ประการ

ตัวเลขประมาณการเศรษฐกิจล่าสุดของกรรมการนโยบายการเงินปรับลดอัตราการขยายตัวของ GDP ปีนี้ เหลือร้อยละ 1.8 จาก 3.0 ที่ประเมินเมื่อเดือน มี.ค. โดยมีแรงฉุดสำคัญจากภาคการท่องเที่ยวที่ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติลงเหลือ 0.7 จาก 3.0 ล้านคน ขณะที่มีสัญญาณบวกจากภาคการส่งออกตามอานิสงส์ของการฟื้นตัวเร็วของประเทศคู่ค้าหลัก กอปรกับแนวโน้มการใช้จ่ายภาครัฐที่สูงขึ้นจาก พ.ร.ก. กู้เงินล่าสุดจะช่วยสนับสนุนกำลังซื้อ อย่างไรก็ดี แม้เศรษฐกิจจะทยอยฟื้นตัวแต่การจ้างงานจะกลับมาได้อย่างไร ในเมื่อแหล่งอาชีพสำคัญที่เกี่ยวกับภาคการท่องเที่ยวจะยังไม่สามารถปรับดีขึ้นได้นักในระยะสั้น ในวันนี้จึงขอเชิญทุกท่านมาแลกเปลี่ยนความเห็นเกี่ยวกับกลยุทธ์ในการพลิกฟื้นตลาดแรงงานไทย โดยเริ่มจากการมองความท้าทายและโอกาส


ในการกำหนดกลยุทธ์นั้น ศาสตราจารย์ Michael D. Watkins แห่ง IMD Business School ได้เสนอให้เริ่มจากทบทวนปัจจัยแวดล้อม ตามหลัก TOWS Matrix ซึ่งเป็นมุมกลับของแบบจำลอง SWOT (Strength-Weakness-Opportunity-Threat) เริ่มจากปัจจัยภายนอกคือ ความท้าทาย (Threat) และโอกาส (Opportunity) ก่อนที่จะนำมาสร้างกลยุทธ์บนฐานของจุดอ่อน (Weakness) และจุดแข็ง (Strength) โดยความท้าทายสำคัญ คือ การแพร่ระบาดของโควิด ที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่มากทั้งในส่วนของจำนวนผู้ติดเชื้อ การกลายพันธุ์ของโรค ความรุนแรงของอาการป่วย ตลอดจนผลกระทบต่อเศรษฐกิจและตลาดแรงงาน ซึ่งกลุ่มที่ได้รับผลลบมากที่สุด คือ ภาคการท่องเที่ยวและบริการ

สำหรับด้านโอกาส ขออิงกระแสการเปลี่ยนแปลง 8 ประการ ในมุมมอง Kevin Sneader ผู้บริหารสูงสุดของ Mckinsey ที่จะลงจากตำแหน่งวันที่ 1 ก.ค. นี้ คือ 1. การก้าวกระโดดของนวัตกรรม ตามการจดสิทธิบัตรในประเทศสหรัฐฯ ซึ่งเติบโตในปีที่แล้วเป็นสองเท่าของปีก่อนหน้า โดยน่าสังเกตว่าช่วงการแพร่ระบาดรุนแรงของกาฬโรคในอังกฤษศตวรรษที่ 17 มหาวิทยาลัย Cambridge ได้ส่งนักเรียนกลับบ้าน นักเรียนคนหนึ่งจึงมีเวลานั่งในสวนมองลูกแอปเปิ้ลหล่นจากต้นจนเกิดแรงบันดาลใจที่จะคิดค้นทฤษฎีแรงโน้มถ่วง และกลายมาเป็นท่าน Sir Isaac Newton 2. การเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผู้บริโภค ที่คุ้นชินกับการจับจ่ายออนไลน์ ทำให้ร้านโชห่วยดิจิทัล หรือ e-Grocery จะยังไปต่อได้ แม้ว่าการเรียนระยะไกลหรือการชมคอนเสิร์ตที่บ้านอาจจะลดความนิยมลงหลังการแพร่ระบาดยุติ

3. การตื่นตัวต่อภาวะโลกร้อน หรือที่ Mark Carney อดีตผู้ว่าการธนาคารกลางแคนาดาและอังกฤษ เรียกว่า 50 shades of green ล้อชื่อนิยายดัง 50 shades of gray โดยพัฒนาการยังมีความแตกต่างอยู่มากในแต่ละพื้นที่เหมือนกับสีเขียวที่ยังมีหลายระดับ 4. การยกระดับสาธารณสุข ที่กำลังเกิดการปฏิวัติชีวภาพ โดยมีการลงทุนพัฒนาวัคซีนในช่วงโควิดสูงกว่าการลงทุนในช่วงการแพร่ระบาดของโรคไวรัส Zica ถึง 180 เท่า 5. การปรับบทบาทภาครัฐ เป็นที่พึ่งสุดท้ายทางการเงิน และดูท่าว่าจะยังต้องช่วยประคับประคองกันต่อไปอีก

6. ความไม่เท่าเทียมในภาคธุรกิจ โดยกลุ่มที่ผลประกอบการดีที่สุด 20% บนทำกำไรไปได้ถึง 240 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ ขณะที่กลุ่มผลประกอบการแย่ที่สุด 20% ล่างขาดทุนถึง 400 พันล้านเหรียญสหรัฐฯ 7. การขยับห่วงโซ่อุปทานโลก ตามการย้ายฐานการผลิตจากผลของความขัดแย้งทางการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจหลักของโลก และ 8. การทยอยฟื้นตัวของการท่องเที่ยวทางอากาศ ซึ่งอาจใช้เวลาถึงสามปีจึงจะเป็นปกติ และไม่แน่ว่าจะมีการท่องเที่ยวแบบล้างแค้น ชดเชยความอุดอู้ที่ไม่ได้เที่ยว เหมือนการชอปปิ้งแบบล้างแค้นในสหรัฐฯ หลังล็อกดาวน์หรือไม่

นับเป็นโอกาสที่ดีของตลาดแรงงานไทย นวัตกรรมและพฤติกรรมผู้บริโภคใหม่ ๆ จะสร้างโอกาสทางธุรกิจ การรณรงค์ภาวะโลกร้อนและสาธารณสุขสร้างงานสร้างอาชีพ ซึ่งแม้จะมีธุรกิจที่ได้และเสียประโยชน์แต่ยังมีการยื่นมือสนับสนุนของภาครัฐ ขณะที่ เราน่าจะได้รับอานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตและการฟื้นตัวของการท่องเที่ยว ในตอนหน้าจะวิเคราะห์ว่าจุดอ่อนและจุดแข็งของตลาดแรงงานไทยจะช่วยให้รับมือกับโควิดและตอบรับกับโอกาสได้เพียงใด


ผู้เขียน :
ดร.นครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 26 มิถุนายน 2564



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย