​โอกาสและความท้าทายของธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับไทย

ตั้งแต่ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครนปะทุขึ้นและบานปลายกลายเป็นสงคราม ทองคำได้กลายเป็นสินทรัพย์ยอดฮิตและตกอยู่ในความสนใจของนักลงทุนที่ต้องการหลีกหนีความเสี่ยงหรือต้องการเก็งกำไร โดยในช่วงที่ผ่านมา ราคาทองคำผันผวนสูงมากดั่งนั่งรถไฟเหาะ เรียกได้ว่า เดินเข้าร้านทองที่เยาวราชไม่ทันไร เดินออกมาราคาก็เปลี่ยนแปลงไปแล้ว ทั้งนี้ ทองคำถือเป็นหนึ่งในวัตถุดิบสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยเฉพาะการนำไปเป็นตัวเรือนเครื่องประดับ ทำให้ผู้เขียนนึกย้อนไปถึงการพูดคุยหารือร่วมกันอย่างได้อรรถรสระหว่างผู้ประกอบการไทยในอุตสาหกรรมนี้ นักวิชาการ และนักวิเคราะห์ในงานเสวนา “Industry Transformation” ที่จัดโดยสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.) ตั้งแต่เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2563 ผู้เขียนจึงขอสรุปใจความ พร้อมระบุโอกาสและความท้าทายของธุรกิจประเภทนี้ที่ยังคงเป็นประเด็นสำคัญในปัจจุบัน มาเล่าสู่กันฟังครับ

Gold and gem jewelry store.Thai jewelry.

อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดของไทยมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 1 ทศวรรษ และเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับประเทศมาอย่างยาวนาน โดยเป็นทั้งผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับส่งออก และเป็นผู้ค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในระดับโลก สะท้อนให้เห็นว่าประเทศไทยมีความพร้อมเพียงพอที่จะก้าวเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคและของโลกได้

โครงสร้างอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณี และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ โดยอุตสาหกรรมอัญมณี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเจียระไนเพชร และพลอย ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้ (เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง) และเครื่องประดับเทียม (อัญมณีสังเคราะห์) โดยแต่ละอุตสาหกรรมมีโครงสร้างภายใน มีรายละเอียดและลักษณะเฉพาะที่แตกต่างกันไป

จุดเด่นสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย คือ การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี (พลอยสี) ของภูมิภาค รวมทั้งความสามารถของช่างฝีมือไทยในการเผาพลอยสีและเจียระไนพลอยที่มีคุณภาพและประณีต อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดสำคัญของอุตสาหกรรมในปัจจุบัน คือ ความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบในประเทศมีทรัพยากรเหลือน้อยและไม่เพียงพอสำหรับการผลิตอีกต่อไป และถูกซ้ำเติมด้วยสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงจากในอดีต โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง และสูญเสียแรงงานที่มีฝีมือไปบางส่วน

มองไปข้างหน้า ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมนี้แบ่งออกเป็นด้านอุปสงค์ ได้แก่ ผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่นิยมเครื่องประดับทอง เพชร พลอย ต่างจากคนรุ่นก่อน รวมถึงแนวโน้มการแต่งงานที่น้อยลงในคนรุ่นใหม่อาจทำให้ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับน้อยลง ขณะที่ด้านอุปทาน ได้แก่ การสร้างแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นไปได้ยาก และต้องใช้เวลานานในการสร้างความเชี่ยวชาญ และข้อจำกัดในการพัฒนาสินค้าให้ทันสมัย มีคุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่

ดังนั้น ผู้ร่วมเสวนาจึงมีข้อเสนอแนะสำคัญ โดยเฉพาะต่อภาครัฐไว้ว่า การมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับเป็นเรื่องสำคัญ ซึ่งจะนำมาสู่นโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ต่อไป เช่น นโยบายด้านการค้าระหว่างประเทศ ด้านการคลังและภาษี ด้านการพัฒนาแรงงาน ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการพัฒนาการตลาดและการสร้างแบรนด์ให้เข้มแข็ง เพราะประเทศไทยมีความได้เปรียบในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมและการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับที่ดีอยู่แล้ว คงจะเป็นเรื่องน่าเสียดายอย่างยิ่งหากเราไม่สามารถรักษาหรือต่อยอดสิ่งที่ทำได้ดีในเวทีโลกไว้…



ผู้เขียน :
สุพริศร์ สุวรรณิก
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คอลัมน์ “บางขุนพรหมชวนคิด” นสพ.ไทยรัฐ
ฉบับวันที่ 26 มีนาคม 2565



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย