นายธีรภาพ แพ่งสภา ดร. ทิพย์ประภา เหรียญเจริญ ฝ่ายเศรษฐกิจมหภาค

สงครามระหว่างมนุษยชาติและ COVID-19 นั้นหนักหนาและยืดเยื้อกว่าที่นักวิเคราะห์เคยคาดไว้มาก จากที่คิดว่าการระบาดจะจำกัดเฉพาะในจีน แต่กลับระบาดกระจายเป็นวงกว้างไปทั่วโลก ขณะที่ผลต่อเศรษฐกิจนั้นรุนแรงกว่าที่หลายฝ่ายคาด ล่าสุดองค์กรการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดว่าวิกฤต COVID-19 จะทำให้เศรษฐกิจโลกปีนี้หดตัว 3% รุนแรงกว่าวิกฤตการเงินโลกปี 2551 - 2552 ที่หดตัวเพียง 0.1% บทความนี้จึงพยายามฉายภาพความแตกต่างของวิกฤต COVID-19 จากวิกฤตในครั้งก่อน แนวทางการรับมือของประเทศต่าง ๆ รวมถึงทิศทางของเศรษฐกิจโลก



COVID-19 กระทบเศรษฐกิจโลกในหลายมิติ


วิกฤต COVID-19 แตกต่างจากวิกฤตครั้งก่อนในหลายมิติ มิติแรกคือ “ความลึก” หรือความรุนแรงของการหดตัวที่มากกว่าในอดีต โดยเฉพาะผลพวงจากการปิดเมือง ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก สะท้อนจากตัวเลข GDP ไตรมาสที่ 1 ของหลายประเทศที่หดตัวลึกกว่าคาด และมีอัตราการว่างงานที่เพิ่มสูงขึ้นทำลายสถิติทั่วโลก โดยเฉพาะจีนที่ GDP หดตัวครั้งแรกในรอบ 28 ปี และประกาศยกเลิกการกำหนดเป้า GDP

มิติที่สองคือ “ความชัน” หรือความเร็วในการฟื้นตัวที่มีแนวโน้มช้ากว่าในอดีต จากกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่ในระยะต่อไปยังถูกกระทบจากมาตรการกักกันโรคที่เข้มงวด แม้ล่าสุดจะเริ่มเห็นการผ่อนปรนบ้าง แต่มาตรการ social distancing จะยังคงมีส่วนสำคัญไปจนกว่าจะค้นพบวัคซีนรักษา COVID-19 ได้ ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอย่างน้อย 1 ปีหรือมากกว่านั้น

มิติสุดท้ายคือ “ระดับ” หรือศักยภาพทางเศรษฐกิจที่อาจปรับลดลง ที่ผ่านมา COVID-19 ทำให้ภูมิทัศน์โลกเปลี่ยนไปอย่างมาก ที่เห็นได้ชัดเจนคือ ภาคการท่องเที่ยว โดยข้อมูลจาก The International Air Transport Association (IATA) ชี้ว่าความต้องการเดินทางของผู้โดยสารลดลงอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้รายได้ของสายการบินที่สะท้อนจาก revenue passenger kilometres (RPKs) เดือน มีนาคม 2563 ลดลงต่ำสุดเป็นประวัติการณ์อยู่ที่ 52.9% เทียบกับปีก่อน และส่งผลกระทบต่อเนื่องไปยังธุรกิจที่เกี่ยวข้อง อาทิ สายการบิน โรงแรม หรือแม้แต่ราคาน้ำมันที่ดิ่งลงมาอยู่ที่ 20 ดอลลาร์สหรัฐฯ/บาร์เรล ขณะที่การชะงักของเศรษฐกิจภายในประเทศก็ทำให้ผู้ประกอบการต้องปรับตัว และอาจรุนแรงถึงขั้นทำลายห่วงโซ่อุปทานของบริษัทที่ยังอยู่รอดไปด้วย รวมถึงคนอาจตกงานเพิ่มขึ้นจนทำให้เศรษฐกิจบอบช้ำยากที่จะฟื้นตัว



มาตรการรับมือต้องใหญ่พอ

เมื่อวิกฤตครั้งนี้หนักหนาที่สุด มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของแต่ละประเทศจึงต้องมีขนาดใหญ่ที่สุดในประวัติศาสตร์เช่นเดียวกัน ธนาคารกลางทุกประเทศได้พร้อมใจกันลดดอกเบี้ยนโยบายและออกมาตรการช่วยเหลือสภาพคล่อง ขณะที่ “บาซูก้า” การคลัง ไม่ว่าจะเป็นของสหรัฐฯ ไทย หรือสิงคโปร์ ก็มีขนาดใหญ่ถึง 12% 10% และ 7.8% ของ GDP ตามลำดับ ซึ่งขนาดมาตรการของแต่ละประเทศอาจแตกต่างกันไปตามบริบทของตัวเอง แต่กรอบของมาตรการมีทิศทางที่คล้ายกัน ได้แก่ (1) รับมือกับโรคระบาด ในรูปแบบการสร้างนวัตกรรมป้องกันโรค อาทิ การพัฒนาชุดตรวจที่รวดเร็วแม่นยำ และการตรวจเชิงรุกในเกาหลีใต้ การสร้างระบบติดตามผู้ติดเชื้อจากฐานข้อมูลประกันสุขภาพ การตรวจคนเข้าเมือง และข้อมูลศุลกากร (Big Data) ในไต้หวัน ตลอดจนงบประมาณสนับสนุนการพัฒนาวัคซีนในสหรัฐฯ (2) ช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบและจำกัดความเสียหายต่อระบบเศรษฐกิจ อาทิ การให้ความช่วยเหลือธุรกิจการบินในสหรัฐฯ ให้มีเงินพอจ่ายพนักงาน โดยสายการบินที่รับความช่วยเหลือห้ามเลิกจ้างพนักงานภายในเวลาที่กำหนด มาตรการช่วยค่าแรงให้ภาคธุรกิจของกลุ่มยูโรเพื่อรักษาการจ้างงาน และการให้เงินช่วยเหลือแก่ผู้ที่ขาดรายได้จากการกักตัวของสิงคโปร์ (3) ฟื้นฟูเศรษฐกิจ โดยแบ่งเป็นสองช่วงคือมาตรการกระตุ้นระยะสั้น อาทิ การเพิ่มงบสนับสนุนการท่องเที่ยวของฟิลิปปินส์ การอุดหนุนเงินช่วยเหลือสำหรับซื้อรถคันแรกในจีน และมาตรการระยะยาวเพื่อยกระดับศักยภาพเศรษฐกิจ อาทิ การกระตุ้นให้ธุรกิจในออสเตรเลียลงทุนในเครื่องจักรและอุปกรณ์เพื่อนำมาลดภาษี การเพิ่มงบลงทุนโครงสร้างพื้นฐานด้านการขนส่งในเยอรมนี


เตรียมรับมือกับโลกใหม่หลังวิกฤต

สำหรับทิศทางเศรษฐกิจโลกในระยะต่อไป ในระยะสั้นมีประเด็นที่ควรติดตาม คือ การผ่อนปรนมาตรการและความเสี่ยงของการระบาดรอบสอง เพราะหากเกิดการระบาดอีกระลอก มาตรการปิดเมืองที่มีการกระตุ้นเศรษฐกิจไปด้วยก็จะหยุดชะงัก และเปล่าประโยชน์ทันที อย่างไรก็ดี เมื่อโลกยังต้องหมุนและคนยังต้องเดินทาง การเปิดเมืองจึงจำเป็น แต่ต้องเป็นไปอย่าง "รอบคอบและค่อยเป็นค่อยไป" โดยชั่งน้ำหนักระหว่างความคุ้มค่าทางเศรษฐกิจและความเสี่ยงการแพร่เชื้อเป็นสำคัญ

ในระยะยาว การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างในหลายด้านคงเกิดขึ้น แม้หลายประเทศจะพยายามเดินหน้าให้การใช้ชีวิตกลับมาเป็นปกติและทำให้เศรษฐกิจขับเคลื่อนได้ แต่การเดินหน้าโดยยึดติดกับความคิดหรือแนวทางเดิม ๆ อาจไม่ใช่คำตอบอีกต่อไป เพราะโครงสร้างเศรษฐกิจจะเปลี่ยนแปลงไป การทำความเข้าใจกับบริบทของโลกที่เปลี่ยนแปลงและลงทุนเพื่อรองรับเรื่องดังกล่าวเป็นสิ่งจำเป็น โดยหากเปรียบประเทศเป็น “คน” หลังหายป่วยก็คงจะฟื้นตัวได้เร็วช้าไม่เท่ากันขึ้นอยู่กับสุขภาพตั้งต้น “คนแข็งแรง” ก็จะกลับมาลุกขึ้นวิ่งได้เร็วกว่า เช่นเดียวกับเศรษฐกิจที่มีพื้นฐานเสถียรภาพเข้มแข็ง และมีแหล่งที่มาของการขยายตัวที่สมดุลก็จะฟื้นตัวได้เร็วกว่าเศรษฐกิจที่มีความเปราะบางและพึ่งพาอุตสาหกรรมใดอุตสาหกรรมหนึ่งมากเกินไป และจะดียิ่งขึ้นถ้าความสมดุลนั้นเติบโตไปในแนวทางที่สอดคล้องกับโลกใหม่ที่เปลี่ยนแปลงไป

COVID-19 เป็นโจทย์ที่ยากและท้าทาย ต้องอาศัยความร่วมมือจากทุกภาคส่วนเพื่อให้ผ่านพ้นวิกฤตนี้ไปด้วยกัน การ์ดต้องไม่ตก เราต้องรักษาวินัยในการทำ social distancing ต่อไป ขณะที่ภาครัฐต้องแน่ใจว่าทุกภาคส่วนที่กำลังเดือดร้อนจะได้รับความช่วยเหลืออย่างเพียงพอและทั่วถึง รวมถึงเตรียมพร้อมรับมือกับโลกใหม่ที่ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>