​บทพิสูจน์สถาบันการเงิน...ฟันเฟืองสำคัญในวิกฤตโควิด

ดร.ฐิติมา ชูเชิด ฝ่ายนโยบายการเงิน


สิ่งหนึ่งที่วิกฤตโควิดต่างไปจากวิกฤตครั้งก่อนๆ คือต้นเหตุไม่ได้มาจากปัญหาในภาคการเงิน แต่เพราะภาคเศรษฐกิจได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการควบคุมโรคระบาดและมาตรการปิดเมือง ส่งผลกระทบต่อผู้คนและธุรกิจรายย่อยจำนวนมาก ถึงครั้งนี้ภาคการเงินจะไม่ใช่ต้นเหตุ แต่สุดท้ายก็อาจโดนหางเลข ถ้าลูกหนี้ไม่มีรายได้มาจ่ายคืนหนี้ จนกลายเป็นหนี้เสียจำนวนมาก และอาจกระทบความมั่นคงของระบบสถาบันการเงิน ซ้ำเติมภาคเศรษฐกิจที่แย่อยู่แล้ว ทำให้วิกฤตลากยาวขึ้นอีก สุดท้ายก็หนีไม่พ้นภาครัฐที่ต้องรับมือกับศึกสองด้าน เข้าแก้ปัญหาทั้งภาคเศรษฐกิจและภาคการเงินที่เชื่อมโยงกันอยู่ เกิดภาระการคลังที่ต้องชดใช้ในภายหลัง ในวันนี้จึงอยากชวนทุกท่านคิดว่า กลไกระบบสถาบันการเงินจะช่วยไม่ให้ประเทศต้องรับศึกสองด้านนี้ได้อย่างไร?

สังเกตว่ามาตรการต่างๆ ของภาครัฐทำผ่านสถาบันการเงิน (สง.) เป็นหลัก ส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะโครงสร้างของประเทศไทยพึ่งพาการระดมทุนผ่านระบบ สง. ในสัดส่วนสูง (bank-based economy) เกินกว่าร้อยละ 120 ของ GDP และเกี่ยวข้องกับผู้กู้รายย่อยจำนวนมาก เมื่อเทียบกับการระดมทุนผ่านตลาดหุ้นและตลาดพันธบัตรที่แม้จะเติบโตขึ้นมากจากในอดีต แต่ก็ยังมีสัดส่วนต่อ GDP น้อยกว่าอยู่ที่ประมาณ 100% และ 80% ตามลำดับ ณ สิ้นปี 2562 และมีจำนวนผู้ร่วมตลาดที่เกี่ยวข้องน้อยกว่า ดังนั้นในยามปกติ การปล่อยกู้ผ่าน สง. จึงเสมือนเป็นเส้นเลือดแดงใหญ่ที่รวบรวมเงินออมจากประชาชน ภาคธุรกิจ และภาครัฐ ไปจัดสรรให้ผู้กู้ที่ต้องการในภาคส่วนต่างๆ ของระบบเศรษฐกิจไทย แต่ในยามวิกฤตเช่นนี้ สง. ยังมีบทบาทเป็นกลไกสำคัญที่จะช่วยเหลือประชาชนและธุรกิจให้มีสภาพคล่องจากภาครัฐไปหล่อเลี้ยง เพื่อให้ผ่านพ้นช่วงเวลานี้ไปได้




ในช่วงไม่กี่เดือนนี้ ภาครัฐออกมาตรการด้านการเงินและสินเชื่อมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อบรรเทาภาระหนี้และเพิ่มสภาพคล่องให้ลูกหนี้ที่เดือดร้อนผ่านธนาคารพาณิชย์และ สง. เฉพาะกิจ เช่น การเร่งปรับโครงสร้างหนี้ให้ลูกหนี้ (ทั้งหนี้ NPLs และหนี้ก่อนจะเป็น NPLs) การเลื่อนชำระหนี้ชั่วคราวให้ลูกหนี้รายย่อยและ SMEs โครงการสินเชื่อใหม่ดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ให้ SMEs ของ ธปท. และ ธ.ออมสิน รวมถึงการค้ำประกันสินเชื่อให้ SMEs โดยบรรษัทอุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) โครงการสินเชื่อฉุกเฉินให้ลูกหนี้รายย่อยของ ธ.ออมสิน และ ธกส. รวมถึงการผ่อนคลายภาวะการเงินให้ดอกเบี้ยเงินกู้ถูกลง โดย ธปท. ทยอยลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงมาจนตอนนี้อยู่ที่ระดับต่ำสุด 0.50% และปรับลดอัตราเงินนำส่งที่เรียกเก็บจาก สง. เพื่อมาชำระคืนหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ (FIDF fee) ซึ่งเป็นผลพวงของการชดใช้ความเสียหายจากวิกฤตการเงินปี 2540 จาก 0.46% เหลือ 0.23% ของฐานเงินฝาก ทำให้ สง. สามารถปรับลดอัตราดอกเบี้ยเงินกู้อ้างอิงทุกประเภท (MLR MOR และ MRR) เพิ่มเติมได้ทันทีอีก 0.40%

จึงนับว่าเป็นโอกาสที่สถาบันการเงินจะได้มีส่วนช่วยกอบกู้วิกฤตครั้งนี้ จากการปล่อยสภาพคล่องทางการเงินต้นทุนต่ำที่ภาครัฐอัดฉีดให้ (รวมถึงค้ำประกันความเสี่ยงให้บางส่วน) และจากเงินฝากที่สูงขึ้นมากเพราะคนโยกเงินจากการลงทุนในสินทรัพย์อื่นมาเก็บไว้ เพื่อกระจายสภาพคล่องที่มีให้ถึงลูกหนี้ที่เดือดร้อนได้รวดเร็ว เพียงพอ และทั่วถึง โจทย์สำคัญคือ สง. จะตัดสินใจปล่อยกู้สภาพคล่องต้นทุนต่ำนี้เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้ได้มากแค่ไหน ในภาวะที่ความเสี่ยงหนี้เสียก็เพิ่มขึ้นมาก หาก สง. ต่อลมหายใจให้ลูกหนี้ไม่ทันเวลาที่ต้องการเงิน ก็อาจกลายเป็นหนี้เสียเกินเยียวยา จนปัญหาย้อนกลับมาที่ สง. ได้ในที่สุดถ้ามีเงินกองทุนไม่เพียงพอรองรับหนี้เสียก้อนใหญ่ จนกระทบต่อฐานะความมั่นคงของตนเอง

บทบาทของ สง. ในช่วงเวลานี้จึงสำคัญอย่างยิ่ง ในฐานะเจ้าหนี้ที่เลือกได้ว่าจะช่วยลูกหนี้รายใด ช่วยได้เท่าไร ช่วยในรูปแบบไหนของมาตรการภาครัฐที่ส่งต่อมาให้รับลูก ยอมสละผลประโยชน์ระยะสั้น เพื่อรับผลประโยชน์ระยะยาวเมื่อลูกหนี้กลับมาแข็งแรงและเศรษฐกิจเริ่มฟื้นตัวได้ ภารกิจครั้งนี้จึงเป็นการหยิบยื่นโอกาสรอดจากวิกฤตให้ลูกค้าและประเทศ แถมยังเป็นการมอบโอกาสนี้คืนกลับให้ตัวเองอีกด้วยค่ะ


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคลซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>