​เข้าถึงเงินทุนได้...หากรู้จักใช้กฎหมายหลักประกันทางธุรกิจ

นางสาวอัญมณี กาญจนสุทธิแสง

ปัจจุบัน ผู้ประกอบธุรกิจที่ต้องการเงินทุนจะใช้วิธีจำนำกรณีเป็นสังหาริมทรัพย์ ซึ่งต้องส่งมอบทรัพย์สินให้แก่เจ้าหนี้ หรือวิธีจำนองที่รองรับอสังหาริมทรัพย์และสังหาริมทรัพย์บางประเภทเท่านั้น ทำให้ผู้ประกอบธุรกิจอาจยังมีข้อจำกัดในการเข้าถึงแหล่งเงินทุนจากการใช้ทรัพย์สินบางประเภท โดยเฉพาะทรัพย์สินที่ต้องมีการส่งมอบซึ่งจะเป็นอุปสรรคทำให้ผู้กู้ไม่สามารถใช้ทรัพย์สินนั้นได้

พระราชบัญญัติหลักประกันทางธุรกิจเป็นกฎหมายใหม่ที่จะช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงเงินทุนได้ดีขึ้น เพราะนอกจากจะเพิ่มเติมประเภททรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้ ผู้ประกอบธุรกิจยังสามารถใช้ประโยชน์จากหลักประกันนั้นได้ต่อไป รวมทั้งสร้างกระบวนการบังคับหลักประกันที่รวดเร็ว ทำให้ประหยัดเวลาและค่าใช้จ่ายทางศาลอีกด้วย

ร่าง พ.ร.บ. ดังกล่าว ได้ประกาศเป็นกฎหมายแล้ว เมื่อวันที่ 5 พ.ย. 58 ซึ่งจะมีผลบังคับใช้ภายใน 240 วัน โดยทรัพย์สินที่ผู้ประกอบธุรกิจสามารถนำมาใช้เป็นหลักประกันภายใต้กฎหมายนี้ ได้แก่ (1) กิจการซึ่งครอบคลุมทรัพย์สินทั้งหมดของกิจการ ทั้งที่จับต้องได้และจับต้องไม่ได้ (2) สิทธิเรียกร้อง เช่น สิทธิการเช่าอสังหาริมทรัพย์ สิทธิเรียกร้องตามสัญญาซื้อขาย เป็นต้น (3) สังหาริมทรัพย์ที่ใช้ในการประกอบธุรกิจ เช่น เครื่องจักร สินค้าคงคลัง เป็นต้น (4) อสังหาริมทรัพย์ของผู้ประกอบธุรกิจอสังหาริมทรัพย์โดยตรง เช่น ที่ดินและอาคารของเจ้าของโครงการหมู่บ้านจัดสรร เป็นต้น และ (5) ทรัพย์สินทางปัญญา เช่น ลิขสิทธิ์ สิทธิบัตร เครื่องหมายการค้า เป็นต้น

เมื่อผู้ประกอบธุรกิจพบว่ามีทรัพย์สินที่สามารถใช้เป็นหลักประกันได้ ก็สามารถติดต่อสถาบันการเงิน (ธนาคารพาณิชย์ บริษัทเงินทุน บริษัทเครดิตฟองซิเอร์ บริษัทประกัน สถาบันการเงินเฉพาะกิจ) เพื่อดำเนินการตามขั้นตอนการขอสินเชื่อตามปกติ และเมื่อสินเชื่อได้รับอนุมัติแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจและสถาบันการเงินจะต้องทำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจและหนังสือยินยอมให้สถาบันการเงินดำเนินการทางทะเบียน และหากผู้ประกอบธุรกิจใช้กิจการเป็นหลักประกัน จะต้องมีหนังสือยินยอมจากผู้บังคับหลักประกัน เพิ่มเติมด้วย ซึ่งเป็นคนกลางที่ผู้ประกอบธุรกิจและสถาบันการเงินตกลงร่วมกันให้ทำหน้าที่บังคับหลักประกันในกรณีที่มีการผิดสัญญาหลักประกันทางธุรกิจ

สำหรับขั้นตอนการจดทะเบียนนั้น สถาบันการเงินจะเป็นผู้นำสัญญาหลักประกันทางธุรกิจและเอกสารที่เกี่ยวข้องไปแจ้งจดทะเบียนกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ เพื่อให้เจ้าพนักงานทะเบียนบันทึกรายการจดทะเบียนลงในฐานข้อมูล โดยในระหว่างที่สัญญามีผลบังคับใช้ หากทรัพย์สินที่ใช้เป็นหลักประกันมีการเปลี่ยนแปลงตามเงื่อนไขที่ได้ตกลงร่วมกัน ผู้ประกอบธุรกิจจะต้องแจ้งให้สถาบันการเงินทราบเพื่อดาเนินการแก้ไขรายการจดทะเบียนให้เป็นปัจจุบันด้วย และเมื่อได้ชำระหนี้ตามสัญญาครบถ้วนแล้ว ผู้ประกอบธุรกิจเองจะต้องเป็นผู้แจ้งยกเลิกสัญญาหลักประกันทางธุรกิจกับกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์

หากมีการผิดสัญญาหรือผู้ประกอบธุรกิจไม่ชาระหนี้ตามที่ได้ตกลงกันไว้ กฎหมายก็ได้กำหนดให้มีการบังคับหลักประกัน โดยแบ่งออกเป็น 2 กรณี ได้แก่ (1) กรณีหลักประกันเป็นทรัพย์สิน ประเภทอื่นที่ไม่ใช่กิจการ สถาบันการเงินสามารถบังคับทรัพย์สินเพื่อนาไปประมูลโดยเปิดเผยหรือบังคับให้ทรัพย์สินนั้นหลุดเป็นสิทธิจากผู้ประกอบธุรกิจได้เอง (2) กรณีหลักประกันเป็นทรัพย์สินที่เป็นกิจการ สถาบันการเงินไม่สามารถเข้าบังคับหลักประกันเองได้ แต่จะเป็นหน้าที่ของผู้บังคับหลักประกันในการพิจารณาสาเหตุของการทำผิดสัญญาและบังคับหลักประกันจากผู้ประกอบธุรกิจเพื่อนาไปประมูลโดยเปิดเผย อย่างไรก็ดี หากคู่สัญญายังไม่สามารถตกลงกันได้ก็สามารถกลับมาใช้กระบวนการทางศาลเช่นเดิมได้ โดยที่ศาลจะใช้เวลาในการพิจารณาความที่รวดเร็วกว่าวิธีจำนำและจำนอง และไม่ยืดเยื้อไปถึงขั้นตอนฎีกาด้วย

จากที่กล่าวมาจะเห็นได้ว่ากฎหมายนอกจากจะเป็นประโยชน์ต่อผู้ประกอบธุรกิจ ด้วยการช่วยให้ผู้ประกอบธุรกิจเข้าถึงแหล่งเงินทุนด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่ากรณีไม่มีหลักประกันแล้ว ยังเป็นประโยชน์ต่อสถาบันการเงินด้วยการลดความเสียหายที่อาจจะมีขึ้นในกรณีลูกหนี้ไม่สามารถชาระหนี้ได้อีกด้วย และหากมีการใช้กฎหมายนี้กันอย่างแพร่หลาย ก็จะทำให้มีเงินทุนหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น มีการจ้างงานเพิ่มขึ้น และเป็นประโยชน์ต่อประเทศชาติโดยรวม

อย่างไรก็ดี กฎหมายอาจยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติบางประการ ได้แก่ ความน่าเชื่อถือของการประเมินมูลค่ากิจการและทรัพย์สินทางปัญญา รวมถึงความพร้อมของผู้บังคับหลักประกันก็เป็นอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องพิจารณาด้วยเช่นกัน เนื่องจากผู้บังคับหลักประกันเป็นวิชาชีพที่เกิดใหม่ตามกฎหมายนี้ ดังนั้น ในช่วงแรกที่บังคับใช้กฎหมาย ผู้บังคับหลักประกันอาจมีจานวนไม่เพียงพอต่อความต้องการ นอกจากนี้ ความรู้ความสามารถและความน่าเชื่อถือของผู้บังคับหลักประกัน ก็ถือเป็นอีกปัจจัยหนึ่งที่มีผลต่อการใช้ “กิจการ” มาเป็นหลักประกันในการขอสินเชื่อด้วย

สุดท้ายนี้ เพื่อส่งเสริมให้มีการใช้ประโยชน์จากกฎหมายนี้อย่างแพร่หลาย นอกจากประเด็นด้านความพร้อมของผู้บังคับหลักประกันแล้ว หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจำเป็นต้องมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนทั่วไป ผู้ประกอบธุรกิจ มีความรู้ความเข้าใจถึงเนื้อหาสาระของกฎหมาย และสถาบันการเงินต้องเตรียมความพร้อมเกี่ยวกับกระบวนการและระบบงานที่เกี่ยวข้องโดยเฉพาะเพื่อเชื่อมโยงกับระบบทะเบียนหลักประกันของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า และจะต้องพิจารณาถึงมาตรฐานและความน่าเชื่อถือในการประเมินมูลค่าทรัพย์สินที่เพิ่มขึ้นด้วยโดยเฉพาะทรัพย์สินที่เป็น “กิจการ”


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย