​อนาคตลูกหนี้ในภาวะวิกฤติ.. กับการปรับโครงสร้างหนี้อย่างมีคุณภาพและยั่งยืน

นายธนทัต ศุภวรรธนางกูรนางสาวกานต์สินี เจริญกิจวัชรชัยกลุ่มงานปรับโครงสร้างหนี้



การแพร่ระบาดของโควิด–19 ได้ส่งผลกระทบต่อธุรกิจและประชาชนในวงกว้าง ความพยายามในการควบคุมการแพร่ระบาดทำให้บริษัทห้างร้านต้องหยุดหรือลดการดำเนินธุรกิจลง ประชาชนไม่สามารถประกอบอาชีพตามปกติ ส่งผลต่อเนื่องเป็นลูกโซ่ถึงระดับรายได้ การใช้จ่าย ฐานะทางการเงิน ตลอดจนความสามารถในการชำระหนี้อย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้

ธุรกิจที่เป็นลูกหนี้ของสถาบันการเงินจึงเปรียบเสมือน “ผู้ป่วย” ที่ต้องได้รับการรักษา ขณะที่สถาบันการเงินทำหน้าที่เป็น “ทีมแพทย์” เฝ้าติดตามอาการ และให้การรักษาแก่ลูกหนี้โดยใช้มาตรการช่วยเหลือในวงกว้างต่าง ๆ ที่กำหนดโดยธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) อาทิ การพักหรือชะลอการชำระหนี้เป็นการชั่วคราว และการให้สินเชื่ออัตราดอกเบี้ยต่ำ (soft loan) ซึ่งมาตรการในช่วงแรกจะเน้นการประคับประคองอาการของลูกหนี้จำนวนมากเป็นการทั่วไป เพื่อให้ทั้งลูกหนี้และเจ้าหนี้มีเวลาเพียงพอในการประเมินสถานการณ์ว่า ลูกหนี้ควรเข้ารับการรักษาเพิ่มเติมหรือไม่ โดยใช้วิธีการประเภทใด และจะต้องปรับแผนการดำเนินธุรกิจหรือไม่อย่างไร


นับจากนี้ ลูกหนี้และเจ้าหนี้ควรเร่งหารือปรับปรุงโครงสร้างหนี้ ให้เหมาะสมกับลูกหนี้แต่ละราย

แม้ว่าภายในประเทศ และระบบเศรษฐกิจโดยรวมกลับมาฟื้นตัวอย่างช้า ๆ แต่ลูกหนี้ธุรกิจบางส่วนยังไม่สามารถจ่ายชำระหนี้ได้ตามปกติ ลูกหนี้กลุ่มดังกล่าวที่ยังคงมีศักยภาพในการดำเนินธุรกิจควรได้รับการช่วยเหลือทางการเงินอย่างต่อเนื่องและเร่งด่วน

ธปท. มุ่งเน้นการให้ความช่วยเหลือที่มีลักษณะเฉพาะเจาะจงสำหรับลูกหนี้แต่ละกลุ่ม ขณะเดียวกันก็มีความยืดหยุ่น เพื่อให้ตอบโจทย์ลูกหนี้แต่ละรายได้ตรงจุดมากขึ้น ผ่านกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ ซึ่งควรเป็นไปอย่างมีคุณภาพและยั่งยืน ลูกหนี้ที่ได้รับความช่วยเหลือสามารถอยู่รอดต่อไปได้ ไม่กลับมาป่วย หรือเป็นลูกหนี้ด้อยคุณภาพอีก โดยลูกหนี้และเจ้าหนี้จะต้องร่วมกันประเมินสถานการณ์ทางธุรกิจ กำหนดเงื่อนไขการปรับโครงสร้างหนี้ที่เหมาะสมด้วยวิธีการหลากหลาย รวมถึงพิจารณาแนวทางการปรับโครงสร้างธุรกิจ เพื่อความอยู่รอดของลูกหนี้ในระยะยาว


ในปัจจุบันวิธีการปรับโครงสร้างหนี้ทำได้หลายรูปแบบ ซึ่งเป็นประโยชน์ทั้งกับลูกหนี้และเจ้าหนี้

ลูกหนี้สามารถหารือกับเจ้าหนี้เพื่อรับความช่วยเหลือ อาทิ การขยายระยะเวลาการชำระหนี้ การต่ออายุหรือคงวงเงิน การพักชำระหนี้ชั่วคราว และการลดดอกเบี้ย นอกจากนี้ สถาบันการเงินอาจให้สินเชื่อใหม่เพิ่มเติม เพื่อเสริมสภาพคล่องหรือเพื่อการปรับโครงสร้างการดำเนินธุรกิจอีกด้วย ทั้งนี้ สำหรับลูกหนี้ที่เป็นผู้ประกอบการ ธปท. ยังมีแนวทางเพิ่มเติม เพื่อเป็นทางเลือกอีก 2 แนวทาง

ส่วนแรก กรณีของผู้ประกอบการ SMEs ที่อยู่ในช่วงพ้นจากมาตรการความช่วยเหลือวงกว้าง และยังคงไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติ ธปท. ได้ออกมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงโครงสร้างหนี้ เพื่อช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม โดยให้สถาบันการเงินซึ่งเป็นเจ้าหนี้เร่งปรับโครงสร้างหนี้ ภายในวันที่ 31 ธันวาคม 2563 นอกจากนี้ หากสถาบันการเงินยังไม่สามารถประเมินสถานะทางการเงินของลูกหนี้ได้อย่างชัดเจน สถาบันการเงินอาจจะพิจารณาให้ความช่วยเหลือลูกหนี้เพิ่มเติม อาทิ การชะลอการชำระหนี้เงินต้น และ/หรือดอกเบี้ยต่อไปตามระยะเวลาที่เหมาะสมตามความสามารถของลูกหนี้ โดยไม่เกิน 6 เดือนนับจากสิ้นปี 2563 ลูกหนี้ที่ยังไม่สามารถกลับมาชำระหนี้ได้ตามปกติและสถาบันการเงินยังติดต่อไม่ได้ ควรรีบติดต่อกับสถาบันการเงินเพื่อรับความช่วยเหลือที่เหมาะสม

ส่วนที่สอง สำหรับลูกหนี้ธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย ซึ่งเปรียบเสมือนผู้ป่วยที่ต้องได้รับการรักษาจากแพทย์หลายคน การที่ลูกหนี้เจรจาปรับโครงสร้างหนี้กับเจ้าหนี้แต่ละรายจะเทียบได้กับการที่ผู้ป่วยเข้าพบแพทย์ครั้งละคน ซึ่งขั้นตอนการรักษาหรือแก้ไขปัญหาอาจมีความซ้ำซ้อนและไม่สอดคล้องกัน เป็นการสิ้นเปลืองเวลาและทรัพยากรในการดำเนินการของทุกฝ่าย และในที่สุดการแก้ไขปัญหาทางการเงินของลูกหนี้ก็จะประสบความสำเร็จได้ยาก ธปท. จึงได้ออกมาตรการส่งเสริมการปรับโครงสร้างหนี้ในอีกรูปแบบหนึ่งภายใต้ “โครงการ DR BIZ การเงินร่วมใจ ธุรกิจไทยมั่นคง” ที่กำหนดแนวทางและวิธีการให้เจ้าหนี้ร่วมเข้าเจรจาตกลงแก้ไขปัญหาและให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้ด้วยกัน เพื่อลดระยะเวลา ขั้นตอน และอุปสรรคในการเจรจาปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่มีเจ้าหนี้หลายราย และเพิ่มโอกาสที่การให้ความช่วยเหลือทางการเงินแก่ลูกหนี้กลุ่มนี้จะประสบความสำเร็จอย่างยั่งยืน ซึ่งลูกหนี้ธุรกิจที่เจรจาปรับโครงสร้างหนี้สำเร็จภายใต้โครงการ DR BIZ หลังเซ็นสัญญาปรับโครงสร้างหนี้ ลูกหนี้จะได้รับการจัดชั้นเป็นปกติทันที เนื่องจากได้มีการหารือร่วมกันกับเจ้าหนี้ทุกรายและมีการวิเคราะห์ศักยภาพอย่างดีแล้ว โครงการ DR BIZ จึงเป็นเหมือน one stop service ในการแก้ไขหนี้ให้กับธุรกิจ ที่มีเจ้าหนี้หลายราย


การปรับโครงสร้างหนี้ต้องอาศัยความร่วมมือจากทั้งเจ้าหนี้และลูกหนี้ในการดำเนินการให้ประสบผลสำเร็จ

ธปท. จึงขอสนับสนุนให้ทั้งสองฝ่ายสื่อสารและให้ความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด กำหนดเงื่อนไขในการชำระหนี้และการดำเนินธุรกิจอย่างเป็นธรรม รวมทั้งจัดให้มีข้อมูลอย่างเพียงพอเพื่อการติดตามความคืบหน้าของกระบวนการปรับโครงสร้างหนี้ทั้งระบบ

ลูกหนี้ที่มีความจำเป็นที่ต้องการความช่วยเหลือทางการเงิน ไม่ว่าจะเป็นลูกหนี้ตามมาตรการเดิมที่สิ้นสุดลง หรือลูกหนี้ทั่วไปที่ได้รับผลกระทบ สามารถติดต่อกับสถาบันการเงินเจ้าหนี้เพื่อขอรับการปรับโครงสร้างหนี้ตามความเหมาะสม ในกรณีที่ลูกหนี้ธุรกิจมีเจ้าหนี้หลายรายจะสามารถสมัครเข้าร่วมโครงการ DR BIZ ได้โดยตรงผ่านช่องทาง https://www.bot.or.th/app/drbiz หากท่านมีข้อสงสัยหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม สามารถเข้าไปที่ website ของ ธปท. https://www.bot.or.th/covid19 หรือ ศูนย์คุ้มครองผู้ใช้บริการทางการเงิน ธปท. โทร. 1213

ทั้งนี้ ธปท. มีทีมงานที่ติดตามการให้ความช่วยเหลือของสถาบันการเงินอย่างใกล้ชิด และคาดหวังเป็นอย่างยิ่งลูกหนี้และเจ้าหนี้จะสามารถก้าวผ่านสถานการณ์นี้ไปด้วยกัน


บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย


>>