ดร.นครินทร์ อมเรศฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


นโยบายเศรษฐกิจเพื่อรับมือวิกฤตโควิดกำลังเปลี่ยนจากการปูพรมไปสู่ความตรงจุด เพื่อให้สอดรับกับสถานการณ์ที่แต่ละภาคส่วนได้รับผลกระทบแตกต่างกันมาก มีความยืดเยื้อยาวนานขึ้น และมีความไม่แน่นอนสูง การดำเนินนโยบายจึงต้องตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น ในวันนี้ขอเชิญชวนทุกท่านมาแลกเปลี่ยนมุมมองต่อการปรับนโยบายเศรษฐกิจ ผ่านการต่อยอดเนื้อความบางส่วนจากการให้ทิศทางการทำงานกับพนักงาน และการพบสื่อมวลชนครั้งแรกหลังรับตำแหน่งของผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ
"วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่ต่างจากในอดีต ในครั้งนี้วิกฤตเริ่มขึ้นที่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างฉับพลัน ผ่านการลดลงของรายได้ในวงกว้าง"

วิกฤตเศรษฐกิจที่กำลังเผชิญอยู่มีลักษณะพิเศษต่างจากในอดีต ในครั้งนี้วิกฤตเริ่มขึ้นที่ภาคเศรษฐกิจจริงอย่างฉับพลัน ผ่านการลดลงของรายได้ในวงกว้าง หลังคนส่วนใหญ่มีชั่วโมงการทำงานลดลงตามกิจกรรมทางเศรษฐกิจและสังคมที่หยุดชะงัก กระทบต่อความเป็นอยู่ของกลุ่มเปราะบางที่ต้องอาศัยเงินหมุนเวียนจากรายได้ในแต่ละวันเพื่อดำรงชีพ โดยเฉพาะผู้มีรายได้น้อยที่มีภาระหนี้สินมาก ต่างจากวิกฤตต้มยำกุ้งหรือแฮมเบอร์เกอร์ที่กระทบสถาบันการเงิน หรือ กลุ่มผู้มีรายได้และสินทรัพย์มาก จึงยังสามารถประคับประคองดูแลตัวเองได้ระยะหนึ่ง วิกฤตการณ์การเงินทั้งสองครั้งนี้มีรูปแบบที่ชัดเจน ผู้ดำเนินนโยบายในอดีตสามารถปฏิบัติตามแนวทางสากลในการแก้ปัญหาได้ แต่วิกฤตในครั้งนี้ไม่เคยมีอยู่ในตำราเศรษฐศาสตร์ ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจในแต่ละประเทศจึงต้องเร่งคิดค้นมาตรการต่าง ๆ เพื่อรับมือ

บริบทเศรษฐกิจไทยเปลี่ยนไปหลังการผ่อนคลายมาตรการล็อกดาวน์ เกิดความแตกต่างของระดับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ บางสาขาเศรษฐกิจขยายตัวดีขึ้นตามวิถีชีวิตปกติใหม่ เช่น การขายของออนไลน์ บางพื้นที่รองรับนักท่องเที่ยวในประเทศที่เดินทางเพื่อผ่อนคลายหลังเก็บตัวหลายเดือน แต่อีกหลายภาคส่วนจะยังไม่ได้รับยอดคำสั่งซื้อและยอดการใช้บริการในระดับก่อนวิกฤตเพราะการฟื้นตัวของเศรษฐกิจยังต้องใช้เวลานาน โดยต้องรอการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่ไทยต้องพึ่งพาอยู่มากตามลักษณะโครงสร้างเศรษฐกิจเปิดที่มีขนาดเล็กของประเทศ สถานการณ์จึงยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูงทั้งในด้านระยะเวลาที่วัคซีนจะทำการผลิตและแจกจ่ายสู่วงกว้างได้สำเร็จ และระดับการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศ

ภาวะเช่นนี้ย่อมทำให้นโยบายเศรษฐกิจต้องเดินหน้าจากเดิมที่ดำเนินการปูพรมในวงกว้างเพื่อเยียวยาให้ผู้ได้รับผลกระทบยังมีสภาพคล่อง มาเป็นการดำเนินการที่ตรงจุด ให้การช่วยเหลือกลุ่มที่ยังฟื้นตัวช้า หรือกลุ่มที่จะมีส่วนช่วยกระตุ้นการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในภาพรวมเป็นพิเศษ มีลักษณะครบวงจรมีความสอดคล้องกับปัญหาของแต่ละกลุ่มและคำนึงถึงการสร้างความเข้มแข็งให้พึ่งพาตัวเองได้ และมีความยืดหยุ่นสามารถเพิ่มหรือลดการให้ความช่วยเหลือให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่มีความไม่แน่นอนสูง เพื่อเป็นการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดให้เพียงพอและยืนหยัดได้หากสถานการณ์ยังยืดเยื้อยาวนาน

น่าสังเกตว่ามาตรการด้านเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมายังมีลักษณะปูพรม ตั้งแต่การเปิดโอกาสให้ผู้ได้รับผลกระทบขึ้นทะเบียนรับการเยียวยาภายใต้โครงการเราไม่ทิ้งกันสำหรับผู้อยู่นอกระบบประกันสังคม และการขอรับประโยชน์ทดแทนกรณีว่างงานจากเหตุสุดวิสัยสำหรับผู้ประกันตน ก่อนที่จะกระตุ้นการบริโภคให้กับประชาชนในแต่ละกลุ่ม เช่น เพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ กระตุ้นการท่องเที่ยวผ่านโครงการเราเที่ยวด้วยกัน โครงการคนละครึ่ง และโครงการช้อปดีมีคืน

ในขณะนี้ ผู้ดำเนินนโยบายเศรษฐกิจกำลังขับเคลื่อนมาตรการที่มีลักษณะตรงจุด ผ่านการออกแบบนโยบายร่วมกันระหว่างผู้แทนภาคธุรกิจ คือ คณะกรรมการร่วมภาครัฐและเอกชนเพื่อแก้ไขปัญหาทางเศรษฐกิจ ผู้คุมแผน คือ สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ผู้ดูแลงบประมาณ คือ กระทรวงการคลัง ตลอดจน หน่วยงานปฏิบัติการ เช่น กระทรวงแรงงานที่เป็นเจ้าภาพหลักจัดทำเว็บไซด์ www.ไทยมีงานทำ.com ซึ่งไม่เพียงเป็นแพลตฟอร์มกลางในการจับคู่งานให้แรงงานกลับเข้าสู่ตลาดแรงงานอันเป็นการแก้ปัญหาอย่างตรงจุด แต่จะเป็นกลไกที่เอื้อให้แรงงานรับทราบถึงทักษะที่เป็นที่ต้องการ และภาครัฐจะสามารถสนับสนุนการยกระดับและปรับทักษะแรงงานให้เหมาะสมซึ่งเป็นแนวทางการดำเนินการที่ครบวงจรและยืดหยุ่น

ทั้งนี้ การมีนโยบายเศรษฐกิจที่ตรงจุด ครบวงจร และยืดหยุ่น เป็นเพียงเครื่องมือสนับสนุนเท่านั้น การมีส่วนร่วมของภาคประชาชนและภาคธุรกิจในการปรับตัว จึงจะเป็นหัวใจสำคัญของการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจให้ประเทศก้าวผ่านวิกฤตนี้ได้



บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย



>>