ดร.พรเพ็ญ สดศรีชัย

ภารกิจของธนาคารกลาง แม้ชื่อจะเป็นธนาคารแต่การดำเนินงานมีความแตกต่างจากธนาคารพาณิชย์และภาคธุรกิจเอกชนโดยทั่วไป เพราะวัตถุประสงค์หลักของธนาคารกลางไม่ใช่เพื่อการแสวงหากำไร แต่เป็นการดำเนินงานเพื่อเป้าหมายทางเศรษฐกิจและสังคมโดยรวม โดยเน้นการดูแลเศรษฐกิจให้เติบโตได้อย่างมีเสถียรภาพ และหลายธนาคารกลางก็มีภารกิจในเรื่องรักษาความมั่นคงของสถาบันการเงินและดูแลระบบการชำระเงินให้ทันสมัยและเป็นที่น่าเชื่อถือ ซึ่งเป็นภารกิจของธนาคารแห่งประเทศไทยด้วย

ถ้าถามว่า ทำไมธนาคารแห่งประเทศไทยหรือแบงก์ชาติต้องดูแลเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ คำตอบก็คือ เพื่อให้ประชาชนมีการคาดการณ์เงินเฟ้อได้อย่างเหมาะสม สามารถวางแผนการใช้จ่าย ทั้งการบริโภคการผลิต และการลงทุนได้อย่างราบรื่น ซึ่งจะช่วยให้เศรษฐกิจเติบโตอย่างยั่งยืน โดยเครื่องมือหลักที่ใช้คืออัตราดอกเบี้ยนโยบายที่ คณะกรรมการนโยบายการเงินมีการประชุมกันทุกหกสัปดาห์เพื่อพิจารณากำหนดอัตราดอกเบี้ยให้สอดคล้องกับแนวโน้มเศรษฐกิจและภาวะเงินเฟ้อของประเทศ

ที่ผ่านมาในช่วงที่เศรษฐกิจหดตัว อัตราดอกเบี้ยนโยบายได้ปรับลดลงเพื่อช่วยประคับ ประคองเศรษฐกิจ แต่ในทางกลับกัน ภายใต้วัฏจักรเศรษฐกิจขาขึ้น อัตราดอกเบี้ยนโยบายก็ต้องปรับขึ้นเพื่อลดแรงกดดันเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในเอเชีย เพราะภาวะเศรษฐกิจมีการขยายตัวได้ดีกว่าประเทศในซีกโลกตะวันตก

ในการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายต้องพิจารณาควบคู่ไปกับการเติบโตทางเศรษฐกิจและแนวโน้มเงินเฟ้อ เช่น ปัจจุบันเมื่อมีการปรับเพิ่มอัตราดอกเบี้ยนโยบาย เป็นการสะท้อนมุมมองว่าความไม่แน่นอนด้านเศรษฐกิจลดลง ซึ่งน่าจะทำให้ภาคเอกชนมีความเชื่อมั่นต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจในอนาคตมากขึ้นและสามารถตัดสินใจดำเนินธุรกรรมต่างๆ ตามที่ได้วางแผนไว้ นอกจากนี้ การส่งสัญญาณที่ชัดเจนในทิศทางดอกเบี้ยว่าเป็นขาขึ้น จะสะท้อนถึงความเอาจริงเอาจังในการดำเนินนโยบายของแบงก์ชาติเพื่อดูแลเงินเฟ้อคาดการณ์ของประชาชน ซึ่งย่อมจะส่งผลต่อการปรับพฤติกรรมการใช้จ่ายและมีส่วนในการชะลอแรงกดดันเงินเฟ้อในระยะยาว รวมทั้งการที่ระดับอัตราดอกเบี้ยนโยบายปัจจุบันยังคงต่ำกว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อ สะท้อนถึงการดำเนินนโยบายการเงินอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อให้ผู้ที่เกี่ยวข้องได้ปรับตัวและวางแผนธุรกิจได้อย่างเหมาะสม

ภารกิจที่สำคัญอีกประการหนึ่งของแบงก์ชาติ คือ ติดตามความเคลื่อนไหวของค่าเงิน ภายใต้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนลอยตัวแบบมีการจัดการ ให้สอดคล้องกับปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ และเข้าแทรกแซงค่าเงินบ้างเป็นครั้งคราวทั้งในรูปของการซื้อและการขายเงินตราต่างประเทศ เพื่อไม่ให้ค่าเงินผันผวนทั้งในด้านแข็งหรือด้านอ่อนเร็วจนเกินไป จนอาจสร้างผลกระทบต่อเศรษฐกิจ

ในปีที่แล้ว การที่เราเห็นค่าเงินในภูมิภาค รวมถึงเงินบาทแข็งค่าขึ้น เมื่อเทียบกับกลุ่มประเทศหลัก เช่น สหรัฐอเมริกา นั้น ไม่น่าแปลกใจนัก เพราะเศรษฐกิจของกลุ่มประเทศดังกล่าวยังไม่เข้มแข็งเท่าเอเชีย จึงทำให้มีเงินทุนไหลเข้ามาในเอเชียรวมทั้งไทย การที่จะห้ามไม่ให้เงินบาทแข็งค่าขึ้นเมื่อเทียบกับ ดอลลาร์ สรอ. จึงเป็นไปไม่ได้หากคำนึงถึงพื้นฐานทางเศรษฐกิจอย่างแท้จริง ขณะที่ในช่วงไตรมาสแรกของปีนี้ก็มีเหตุการณ์ที่มีผลต่อค่าเงินสกุลต่าง ๆ ในภูมิภาคทั้งจากภัยธรรมชาติที่เหนือการคาดการณ์และจากภาวะเศรษฐกิจการเงินของประเทศต่าง ๆ และหากเงินบาทผันผวนเร็วเกินไป อาจจะสร้างความยากลำบากแก่ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในการปรับตัว ขณะที่ยังมีความไม่แน่นอนด้านกำลังซื้อจากคู่ค้า โดยเฉพาะกลุ่มประเทศหลัก ซึ่งอาจกระทบต่อปริมาณการส่งออกและการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศได้

แบงก์ชาติจึงได้เข้าดูแลค่าเงินเป็นครั้งคราว แต่ก็มีข้อจำกัดเพราะคงไม่สามารถฝืนกลไกตลาดได้ จึงดำเนินการเพียงเพื่อชะลอการแข็งขึ้นของเงินบาทไม่ให้รวดเร็วเกินไปจนภาคเอกชนปรับตัวไม่ทัน ซึ่งก็มีต้นทุนในการดำเนินการ หากเป็นภาคเอกชนก็คงไม่มีใครทำธุรกิจในแนวทางดังที่กล่าว แต่แบงก์ชาติแตกต่างจากเอกชนเพราะมีเป้าประสงค์เพื่อดูแลเศรษฐกิจของประเทศให้เติบโตได้อย่างยั่งยืน มีเสถียรภาพและทั่วถึง มากกว่าความกังวลในเรื่องดังกล่าว ซึ่งก็เป็นแนวทางที่ทุกธนาคารกลางยึดถือปฏิบัติ และจะว่าไปแล้วก็มิได้กระทบต่อความสามารถในการทำหน้าที่ธนาคารกลางแต่อย่างใด ตราบเท่าที่นานาประเทศและประชาชนยังเชื่อมั่นและเข้าใจถึงภารกิจหลักในฐานะธนาคารกลาง

กล่าวโดยสรุป ภารกิจหลักของแบงก์ชาติคือ การดำเนินนโยบายการเงินและอัตราแลกเปลี่ยน ดูแลความมั่นคงเข้มแข็งของระบบสถาบันการเงิน และพัฒนาระบบการชำระเงิน เพื่อเอื้อต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจอย่างมั่นคงมีเสถียรภาพนั่นเอง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย