นางสาวรัตติยากร ลิมัณตชัย
นางสาวศุภลัคน์ ศิริบูรณานนท์
หากเปรียบเศรษฐกิจไทยเป็นเสมือนเรือที่กำลังเดินทางอยู่ท่ามกลางพายุคลื่นลมของการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างการค้าโลก โดยมีแรงขับเคลื่อนจากเครื่องยนต์ที่เหลืออยู่ เพียงเครื่องเดียว คือ ภาคบริการ ซึ่งในปีที่ผ่านมาเป็นภาคเศรษฐกิจเดียวที่เติบโตได้ดีประมาณร้อยละ 5 ขณะที่ภาคเกษตรกรรมหดตัวและภาคอุตสาหกรรมขยายตัวได้เพียงเล็กน้อย บทความนี้จะนำเสนอแนวคิดเพื่อตอบคำถามสำคัญว่า ภาคบริการจะสามารถเป็นพลังขับเคลื่อนหลักของเศรษฐกิจไทยอย่างยั่งยืน และทำหน้าที่ช่วยรองรับแรงกระแทกจากความผันผวนที่เกิดจากทั้งปัจจัยภายในและภายนอกได้อย่างไรผ่าน 2 มุมมองหลัก คือ (1) ระดับศักยภาพของภาคบริการไทยจากมุมมองด้านเศรษฐกิจจริง และ (2) บทเรียนการพัฒนาภาคบริการจากต่างประเทศและบริบทต่อเศรษฐกิจไทย
เริ่มต้นจากนิยามภาคบริการ โดยทั่วไปภาคบริการแบ่งเป็น 2 ประเภท ตามระดับการใช้นวัตกรรมได้แก่ (1) ภาคบริการดั้งเดิม (Traditional Services) เช่น ภาคการค้าและการท่องเที่ยว ซึ่งไทยถือว่ามีความได้เปรียบในด้านการท่องเที่ยวค่อนข้างมาก เนื่องจากมีทรัพยากรธรรมชาติที่สมบูรณ์และหลากหลายทั้งทะเล ภูเขา ศิลปวัฒนธรรม อาหารไทย รวมทั้งยังมีความได้เปรียบด้านราคา และ (2) ภาคบริการสมัยใหม่ ( Modern Services) ซึ่งมีความสัมพันธ์และเติบโตไปในทิศทางเดียวกันกับภาคการผลิต เช่น บริการขนส่ง บริการโทรคมนาคม บริการทางการเงิน และบริการทางธุรกิจอื่นฯ อาทิ การวิเคราะห์ทางวิศวกรรม และการวิจัยเชิงวิทยาศาสตร์ ซึ่งเราจะเห็นได้ว่า สาขาบริการเหล่านี้จะขยายตัวได้ดี หากภาคการผลิตสินค้าเกษตรและอุตสาหกรรมมีทิศทางการเติบโตดี เพราะจะทำให้ธุรกิจมีความต้องการในสินค้าภาคบริการสมัยใหม่เพิ่มขึ้นตามไปด้วย (Derived Demand) เ พื่อช่วยพัฒนาประสิทธิภาพการดำเนินงานให้สูงขึ้น ในทางกลับกันภาคบริการสมัยใหม่ก็มีส่วนช่วยสนับสนุนการเติบโตของภาคการผลิตผ่านการลดต้นทุนและเพิ่มประสิทธิภาพการผลิต เช่น บริการโลจิสติกส์ที่มีคุณภาพและมีประสิทธิภาพสามารถช่วยลดต้นทุนค่าขนส่งสินค้าให้ผู้ผลิตได้ เป็นต้น
ระดับศักยภาพของภาคบริการไทยวิเคราะห์ จากด้านเศรษฐกิจจริง ( Real Sector) เมื่อพิจารณาจากระดับผลิตภาพแรงงานในภาคบริการ งานศึกษาในอดีต (รูปที่ 1) ชี้ให้เห็นว่าประเทศที่สามารถพัฒนาภาคการผลิตได้สำเร็จ โดยใช้เทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงจะช่วยส่งเสริมให้ผลิตภาพแรงงานในภาคบริการปรับตัวสูงขึ้นอย่างทั่วถึง (Broad Base) ตัวอย่างเช่น ประเทศไต้หวันซึ่งมีโครงสร้างภาคบริการที่ไม่แตกต่างกับไทยมากนัก แต่สามารถพัฒนาผลิตภาพแรงงานทั้งในภาคบริการดั้งเดิมและภาคบริการสมัยใหม่ให้อยู่ในระดับสูงกว่าไทยได้ หรือกรณีของประเทศสิงคโปร์ที่มุ่งเน้นการพัฒนาการเป็นศูนย์กลางบริการทางการเงินและการขนส่ง โดยอาศัยจุดแข็งของความได้เปรียบด้านทำเลที่ตั้ง และความพร้อมด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเพื่อทดแทนข้อจำกัดด้านทรัพยากร ทำให้สิงคโปร์มีผลิตภาพแรงงานอยู่ในระดับสูงกว่าไทยอย่างมาก
ในกรณีของไทย มีงานศึกษาวิจัยหลายชิ้น สรุปผลได้ว่าศักยภาพของภาคบริการอยู่ในระดับ ค่อนข้างต่ำเป็นผลมาจากแรงงานในภาคนี้มีผลิตภาพต่ำ กล่าวคือ (1) ภาคบริการและภาคการผลิตของไทยมีการนำเทคโนโลยีมาใช้ค่อนข้างน้อย สะท้อนจากผลสำรวจขีดความสามารถด้านนวัตกรรม ของ Global Innovation Index ปี 2015 (รูปที่ 2) ที่ไทยอยู่อันดับที่ 55 ถดถอยจากอันดับที่ 48 ในปี 2011 ขณะที่ สิงคโปร์และจีนอยู่ในอันดับที่ดีกว่าไทยที่ลาดับ 7 และ 29 จาก 141 ประเทศทั่วโลก (2) ภาคบริการของไทยขาดแคลนแรงงานทั้งในแง่ของจำนวนและคุณภาพ (3) การค้าบริการระหว่างประเทศของไทยยังมีน้อย ผลผลิตภาคบริการจึงถูกจำกัดเพียงอุปสงค์จากตลาดในประเทศ และไม่ได้รับประโยชน์จาก Economies of Scale ขณะที่ภาคการท่องเที่ยวที่มีสัดส่วนถึงประมาณร้อยละ 70 ของ การส่งออกบริการก็ยังไม่สามารถสร้างมูลค่าเพิ่มให้เศรษฐกิจไทยได้มากนัก เนื่องจากผู้ประกอบการส่วนใหญ่ยังเน้นการแข่งขันด้านราคาเพื่อดึงดูด จำนวนนักท่องเที่ยวมากกว่าการพัฒนาคุณภาพการให้บริการ และ (4) ไทยมีกลุ่มธุรกิจ Innovation Startups ค่อนข้างน้อย ไม่เพียงพอที่จะขับเคลื่อนภาคบริการไทยไปสู่ Modern Services ได้ เหตุผลหนึ่งมาจากข้อจำกัดด้านกฎระเบียบที่ไม่เอื้อให้เกิดการประดิษฐ์คิดค้น และการสนับสนุนจากภาครัฐด้านเงินทุนยังไม่เพียงพอ
จากงานวิจัยของ ADB และ WB หลายชิ้นศึกษาถึงบทเรียนของต่างประเทศที่ประสบความสำเร็จในการพัฒนาให้สามารถก้าวเข้าสู่การมีภาคบริการที่ใช้นวัตกรรมสมัยใหม่ (Service Innovation) เป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจได้ เช่น ประเทศฟินแลนด์ สวีเดน นอร์เวย์ เยอรมนี และไอร์แลนด์เหนือ พบว่า นอกเหนือจากการให้สิทธิประโยชน์ด้านเงินทุนแก่ธุรกิจภาคบริการแล้ว ยังต้องมีการพัฒนาด้านสถาบัน (Business Environment) ทั้งด้านกฎหมายภาษี และด้านกลไกการปกป้องทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อจูงใจให้ภาคธุรกิจลงทุนกับนวัตกรรมมากขึ้น โดยเฉพาะให้ความสำคัญในการสร้างนวัตกรรมให้เกิดในธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) และธุรกิจเกิดใหม่ (Startups) เนื่องจากธุรกิจภาคบริการส่วนใหญ่เป็น SMEs ซึ่งเป็น Supply Chain ให้กับธุรกิจขนาดใหญ่อีกทอดหนึ่ง
ภาครัฐของประเทศเหล่านี้ยังได้จัดตั้งสถาบันหรือองค์กรซึ่งทาหน้าที่ให้ความรู้ ให้เงินทุน รวมถึงสร้างเครือข่ายให้กับธุรกิจภาคบริการโดยตรง เช่น โครงการ Serve – Pioneers of Service Business ขององค์กร Tekes ประเทศฟินแลนด์ โดยในปี 2013 กว่าร้อยละ 80 ของธุรกิจภาคบริการที่ได้รับเงินทุนสนับสนุนเป็นธุรกิจ SMEs นอกจากนี้ ยังมีบางประเทศ เช่น ประเทศสโลเวเนีย ใช้มาตรการจูงใจโดยงดเว้นภาษีให้กับธุรกิจที่ลงทุนด้าน R&D เนื่องจากการลงทุนใน R&D ต้องใช้เงินลงทุนสูง และธุรกิจต้องใช้ระยะเวลาหนึ่งก่อนจะสามารถเก็บเกี่ยวผลประโยชน์จากการลงทุนได้
จากประสบการณ์ความสำเร็จของการพัฒนาศักยภาพของภาคบริการที่กล่าวมาแล้วข้างต้น สามารถนำมาใช้ในบริบทของไทย เพื่อให้ภาคบริการเป็นพลังขับเคลื่อนสำคัญของเศรษฐกิจไทย อย่างยั่งยืนได้อย่างเป็นรูปธรรม ดังนี้
1. การเร่งพัฒนาบุคลากรในภาคบริการ เนื่องจากในปัจจุบันสินค้าและบริการของไทยมีระดับของนวัตกรรมด้าน Knowledge & Technology ต่ำเมื่อเทียบกับจีนที่อยู่ในกลุ่มประเทศรายได้ปานกลางระดับบนเช่นเดียวกับไทย (รูปที่ 2) ดังนั้น เพื่อพัฒนาผลิตภาพแรงงานภาคบริการให้สูงขึ้น ภาครัฐและเอกชนควรเร่งสร้างนโยบายพัฒนาบุคลากรในภาคบริการ ทั้งทักษะด้านภาษา ด้านบริหารจัดการ การวางแผนและการตลาด ทักษะด้านเทคโนโลยีสารสนเทศ มาตรฐานด้านฝีมือแรงงาน มาตรฐานวิชาชีพ และมาตรฐานการให้บริการ เพื่อเอื้อให้สามารถเคลื่อนย้ายไปสู่สาขาที่มีผลิตภาพสูงกว่า ได้สะดวกยิ่งขึ้น และเพื่อรองรับการเปิดเสรีภาคบริการด้วย
2. ภาครัฐและเอกชนควรร่วมกันจัดตั้งสถาบันหรือองค์กรที่เป็น One-Stop-Service Centre ทำหน้าที่ให้ความรู้ ให้เงินทุน รวมถึงสร้างเครือข่ายให้กับธุรกิจภาคบริการที่เป็นกลุ่มเป้าหมาย โดยให้ความสำคัญในการสร้างและใช้นวัตกรรมให้มากขึ้นในธุรกิจ SMEs และธุรกิจ Startups เพื่อประโยชน์จะได้ขยายไปในวงกว้าง
3. ภาครัฐควรทางานอย่างใกล้ชิดกับภาคเอกชนในการสนับสนุนการสร้างและรักษา Intangible Assets ได้แก่ แบรนด์ของสินค้า (Brand) ความเป็นที่รู้จักและการยอมรับ (Reputation) และทุนทางปัญญา (Knowledge Capital) เนื่องจากเป็นส่วนที่จะสร้างจุดแข็งให้กับสินค้าบริการให้ยากที่จะลอกเลียนแบบ เพื่อสร้างกำไรให้กับธุรกิจและทำให้ธุรกิจพัฒนานวัตกรรมได้อย่างยั่งยืน ทั้งยังสามารถช่วยขับเคลื่อนให้ภาคบริการไทยแข่งขัน ในระดับโลกได้
ซึ่งหากทำได้สำเร็จ เราคงจะได้เห็นไทยเป็นที่ยอมรับในระดับโลกว่าเป็น “ประเทศผู้สร้างสรรค์สินค้าและบริการที่ล้าสมัย” ได้จริงในวันหนึ่งข้างหน้า
บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย