นายวัชรกูร จิวากานนท์
ฝ่ายนโยบายระบบการชาระเงิน

นโยบายเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ Digital Economy เป็นนโยบายที่ถูกหยิบยกและพูดถึงมากในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจและการเงินของประเทศไทย โดยมีหลักการสำคัญ คือ การประยุกต์ใช้เทคโนโลยีและเทคโนโลยีสารสนเทศ (Information and Communication Technology - ICT) เข้ากับกระบวนการและกิจกรรมทางเศรษฐกิจต่าง ๆ เพื่อเพิ่มศักยภาพและยกระดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ

สิงคโปร์เป็นหนึ่งในหลายประเทศทั่วโลกที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT และได้วางกลยุทธ์การพัฒนา ICT เพื่อเป็นตัวขับเคลื่อนเศรษฐกิจมาตั้งแต่ปี 2523 โดยเริ่มจากการจัดตั้งระบบกลางที่เชื่อมโยงการรับ-ส่งข้อมูลเอกสารทางการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์ระหว่างภาคธุรกิจกับหน่วยงานต่าง ๆ ของรัฐ เช่น ท่าเรือ ท่าอากาศยาน กรมศุลกากร อำนวยความสะดวกให้ภาคธุรกิจที่เกี่ยวข้องสำแดงเอกสารต่าง ๆ ในการรับ-ส่งสินค้าด้วยเอกสารทางการค้าทางอิเล็กทรอนิกส์เพียงชุดเดียว การพัฒนาดังกล่าวยังส่งผลดีต่อภาคธุรกิจในอีกหลายด้าน เช่น การขยายเวลาการยื่นเอกสารได้ตลอด 24 ชั่วโมง การลดต้นทุนค่าเดินทางในการยื่นเอกสาร การลดเวลาในการอนุมัติเอกสารจาก 4 – 48 ชั่วโมงเหลือเพียง 10 นาที การลดค่าใช้จ่ายการขออนุมัติเอกสารจาก 10 สิงคโปร์ดอลลาร์ เป็น 2.8 สิงคโปร์ดอลลาร์ อีกทั้งยังสามารถลดการใช้เช็คในการจ่ายค่าธรรมเนียมอากร เพราะระบบถูกปรับให้ชาระเงินผ่านการตัดเงินจากบัญชีธนาคารโดยตรงทั้งหมด

การจะผลักดันนโยบายเศรษฐกิจดิจิทัลให้เป็นเกิดผลสำเร็จเป็นรูปธรรมได้นั้น จำเป็นต้องมีการพัฒนาองค์ประกอบที่สำคัญหลายด้าน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานด้าน ICT การจัดทำฐานข้อมูลอิเล็กทรอนิกส์ การให้ความรู้ด้าน ICT กับประชาชน และรวมไปถึงอีกกระบวนการหนึ่งที่สำคัญ นั่นคือ การชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ (Digital payment) เนื่องจากเป็นกระบวนการที่สำคัญที่สนับสนุนและเชื่อมโยงกิจกรรมทางเศรษฐกิจอื่น ๆ หรืออาจกล่าวได้ว่า กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ไม่ว่าจะเป็น การซื้อ การขาย การค้า การลงทุน ก็จะมีความเกี่ยวข้องและจบลงที่การชาระเงินแทบทั้งสิ้น

ในปัจจุบัน ในยุคที่เทคโนโลยีมีความก้าวหน้าอย่างไม่หยุดยั้ง ผู้ให้บริการการชำระเงินไม่ว่าจะเป็นธนาคาร หรือผู้ให้บริการที่ไม่ใช่สถาบันการเงิน (Non-bank) ต่างได้นำเอาเทคโนโลยีที่ทันสมัยมาประยุกต์ใช้ในการพัฒนาบริการการชาระเงินให้ก้าวเข้าสู่ความเป็น Digital payment และ Digital banking เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ความสะดวก รวดเร็ว ให้กับธุรกรรมการชำระเงิน ตอบสนองความต้องการของทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐ ภาคธุรกิจ และประชาชน

เริ่มกันที่ภาครัฐ Digital payment จะช่วยยกระดับการให้บริการของภาครัฐให้มู่งสู่การเป็น Digital government ด้วยการให้บริการที่สะดวก รวดเร็ว เชื่อมโยงและรวมศูนย์การให้บริการของหน่วยงานภาครัฐเข้าไว้ด้วยกัน ณ จุดเดียว ในลักษณะ Online Service Single Portal โดยภาคธุรกิจและประชาชนสามารถชำระค่าบริการผ่านช่องทางการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ได้ทันที และช่วยให้กระบวนการทำงานของภาครัฐมีความคล่องตัว และตรวจสอบได้ง่าย

นอกจากนี้ Digital payment ยังเป็นส่วนสำคัญในการพัฒนาภาคธุรกิจให้ก้าวสู่การเป็น Digital business โดยสนับสนุนให้ภาคธุรกิจขยายช่องทางการค้า และทำธุรกิจได้สะดวกรวดเร็วขึ้นด้วยการชำระเงินทางออนไลน์ ซึ่งสามารถเชื่อมโยงไปสู่กระบวนการทางธุรกิจอื่น ๆ เช่น การรับ-ส่งข้อมูลการซื้อขายสินค้า (e-Invoicing) การชาระภาษี (e-Tax) หรือการค้าทางพาณิชย์อิเล็กทรอนิกส์ (e-Commerce) เป็นการยกระดับวงจรการค้าและเพิ่มศักยภาพและความสามารถในการแข่งขันทางธุรกิจ

ในขณะเดียวกัน Digital payment ยังตอบโจทย์ความต้องการของประชาชนยุคใหม่ที่เน้นความสะดวก รวดเร็ว โดยการเสนอบริการชาระเงินสามารถทำได้ทุกที่ทุกเวลา และผ่านอุปกรณ์ที่หลากหลาย (Anytime Anywhere Any devices) เช่น บริการเปิดบัญชีและสมัครบริการออนไลน์ บริการชำระเงิน ณ ร้านค้าและโลกออนไลน์ รวมไปถึงบริการเรียกดูและชำระใบแจ้งหนี้ ณ จุดเดียว

การพัฒนา Digital payment ทำให้การหมุนเวียนของเงินที่หล่อเลี้ยงกิจกรรมต่าง ๆ ทางเศรษฐกิจและการเงินเป็นไปอย่างรวดเร็ว ราบรื่น คล่องตัว และปลอดภัยยิ่งขึ้น อีกทั้งเป็นการส่งเสริมการค้าขายของภาคธุรกิจและกระตุ้นการบริโภคของภาคประชาชนอีกทางหนึ่งด้วย ซึ่งแน่นอนว่าจะนำไปสู่การเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ

ทั้งหมดที่ได้ไล่เรียงมา คงพอจะทำให้เห็นภาพที่ชัดเจนในความสำคัญของระบบการชำระเงินทางอิเล็กทรอนิกส์ โดยในวันที่ 31 สิงหาคม 2558 นี้ ธปท. จะจัดงานสัมมนา “BOT Conference on Thailand's Payment 2015: ผนึกกำลังผลักดันเศรษฐกิจไทย ก้าวสู่ Digital Economy” ณ โรงแรมเซ็นทารา แกรนด์ แอท เซ็นทรัลเวิลด์ เพื่อเน้นย้ำให้เห็นว่า Digital payment คือกลไกสำคัญที่เป็นเสมือนฟันเฟืองที่ทำให้ภาคการเงินได้เข้าไปช่วยขับเคลื่อนทุกภาคส่วนที่สำคัญของประเทศให้ก้าวเข้าสู่ความเป็น Digital Economy และใช้เป็นเวทีเพื่อแสดงวิสัยทัศน์และแลกเปลี่ยนแนวความคิดเกี่ยวกับทิศทางการพัฒนาระบบการชำระเงินของประเทศไทย

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย