​ความรู้พื้นฐานทางการเงินที่ควรรู้...หลังน้ำลด

นายสุวัฒน์ วิเชียรศิริ

น้ำท่วมได้คลี่คลายลงจนประชาชนส่วนใหญ่สามารถกลับเข้าไปฟื้นฟูบ้านของตนเองได้แล้ว ขอต้อนรับกลับบ้านครับ การฟื้นฟูบ้านหลังน้ำลด นอกจากท่านจะต้องระมัดระวังในหลาย ๆ เรื่อง ทั้งภัยจากการถูกไฟฟ้าดูด สัตว์มีพิษ เชื้อโรคในบ้าน ขยะมลพิษต่าง ๆ แล้ว การจัดการเงินภายหลังน้ำลด ก็เป็นสิ่งสำคัญที่ท่านจะต้องดูแลระมัดระวังด้วยเช่นกันครับ เพราะภาระการเงินหลังน้ำลด คือ ค่าใช้จ่ายก้อนโต หากจัดการไม่ดี จะทำให้เกิดปัญหาการเงินในภายหลัง โดยเฉพาะท่านที่ไม่มีเงินออมหรือมีหนี้สินอยู่แล้ว

การจัดการเรื่องการเงินหลังน้ำลด มีข้อควรปฏิบัติและระมัดระวัง ดังนี้ครับ

1. ตรวจดูกรมธรรม์ประกันภัยที่มีอยู่ โดยเฉพาะกรมธรรม์ประกันอัคคีภัยที่อยู่อาศัย ให้ดูรายละเอียดในเอกสารแนบท้ายกรมธรรม์ว่า คุ้มครองความเสียหายที่เกิดจากภัยน้ำท่วมหรือไม่ ถ้าคุ้มครองให้ท่านรีบแจ้งบริษัทประกันภัยโดยเร็ว เพื่อประเมินและตกลงค่าสินไหมทดแทนก่อนที่จะปรับปรุงซ่อมแซมบ้าน จะช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายในการฟื้นฟูบ้านได้มาก อย่าลืมไปอ่านกรมธรรม์นะครับ ส่วนกรมธรรม์ประกันภัยรถยนต์ เฉพาะประเภท 1 เท่านั้น ที่จะได้รับการคุ้มครองความเสียหายจากภัยน้ำท่วม

2. ตรวจดูภาระหนี้สินที่มีอยู่ โดยเฉพาะหนี้สินที่ท่านมีอยู่กับสถาบันการเงินต่าง ๆ ซึ่งช่วงนี้ได้ออกมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบภัยน้ำท่วมหลายมาตรการ ขึ้นอยู่กับสถาบันการเงินแต่ละแห่ง ยกตัวอย่างเช่น
หนี้บัตรเครดิต บางแห่งลดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 50 จากอัตราปกติ นาน 6 เดือน พักชำระหนี้ หรือลดยอดเงินชำระขั้นต่ำเหลือร้อยละ 0 นาน 3 เดือน ลดหย่อนดอกเบี้ยผิดนัดและค่าธรรมเนียมในการทวงถามฯลฯ
สินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย สถาบันการเงินหลายแห่งให้ลูกหนี้พักชำระหนี้ได้ 3-6 เดือน หรือชำระเฉพาะดอกเบี้ย 6-12 เดือน บางแห่งลดดอกเบี้ยให้ร้อยละ 50 นาน 3 เดือน หรือหากบ้านพังทั้งหลังจนไม่สามารถซ่อมแซมได้สถาบันการเงินเฉพาะกิจบางแห่งปลดหนี้ในส่วนของอาคารให้กับลูกหนี้ฯลฯ
รายละเอียดท่านสามารถเข้าไปดูได้จากเว็ปไซต์ของธนาคารแห่งประเทศไทย WWW.BOT.OR.TH หัวข้อ “มาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ที่ประสบภัยน้ำท่วม” หรือติดต่อขอทราบรายละเอียดได้โดยตรงจากสถาบันการเงิน
หลักสำคัญที่จะได้รับความช่วยเหลือนี้ คือ ท่านจะต้องรีบติดต่อเจรจากับสถาบันการเงินที่ท่านมีหนี้อยู่โดยเร็ว เพราะบางโครงการสิ้นสุดภายในสิ้นเดือนธันวาคมนี้ หากท่านเพิกเฉยแล้วไม่สามารถชำระหนี้ได้ตามกำหนด จะกลายเป็นหนี้เสีย ถูกเรียกเก็บดอกเบี้ยในอัตราผิดนัดซึ่งสูงกว่าอัตราดอกเบี้ยปกติมาก รวมทั้งถูกเรียกเก็บค่าธรรมเนียมต่าง ๆ สร้างภาระค่าใช้จ่ายให้กับท่านโดยไม่จำเป็นครับ

3. ตรวจดูรายจ่ายที่อาจลดได้ ค่าใช้จ่ายรายเดือนบางประเภทที่เราต้องจ่ายแต่ไม่ได้ใช้ประโยชน์ในช่วงน้ำท่วมบ้าน เช่น ค่าเช่าเครือข่ายสื่อสารต่าง ๆ ค่าเคเบิลทีวี อินเตอร์เน็ท คู่สายโทรศัพท์ เป็นต้น รายการเหล่านี้หากหลังน้ำลดเรายังไม่สามารถใช้บริการได้ตามปกติ ก็ควรแจ้งผู้ให้บริการขอระงับการใช้ชั่วคราวเพื่อประหยัดรายจ่าย

4. อย่าหลงเชื่อแก๊งคอลเซ็นเตอร์ ที่อาศัยช่วงน้ำท่วมอ้างตัวว่าเป็นเจ้าหน้าที่ของรัฐโทรศัพท์สอบถามผู้ประสบภัยถึงความเสียหายจากน้ำท่วม แล้วให้ไปลงทะเบียนขอรับเงินช่วยเหลือผ่านตู้ ATM แต่ความจริงเป็นการหลอกให้ไปทำรายการโอนเงินเข้าบัญชีของแก๊งคอลเซ็นเตอร์ โปรดอย่าหลงเชื่อนะครับ

5. ฟื้นฟูชีวิตหลังน้ำลดอย่างพอเพียง โดยการน้อมนำหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาปฏิบัติอย่างจริงจังในการพื้นฟูชีวิตหลังน้ำลด ไม่ก่อหนี้สินจนเกินตัวดำรงชีวิตด้วยความไม่ประมาท ด้วยความพอประมาณ มีเหตุผล มีภูมิคุ้มกันในตัวเอง จะนำมาซึ่งความสุขให้กับเราชาวไทยอย่างแท้จริงและยั่งยืน
การจัดการเงินหลังน้ำลดตามที่ได้กล่าวมาแล้ว เป็นส่วนหนึ่งของความรู้พื้นฐานทางการเงิน (Financial Literacy) ที่ประชาชนควรรู้ เพื่อให้สามารถจัดการเงินของตนเองได้อย่างเหมาะสมช่วยเหลือตัวเองได้ในสถานการณ์ต่าง ๆ แม้ยามต้องเผชิญกับภาวะวิกฤตหรือภายหลังวิกฤต

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย