ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์
นางสาว นันทนิตย์ ทองศรี
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ


เพิ่งผ่านพ้นช่วงเฉลิมฉลองปีใหม่มาได้ไม่นาน แต่โลกกำลังเผชิญกับธรรมชาติที่เปลี่ยนแปลง และผลกระทบอาจรุนแรงจนเกินจะคาดเดา ไม่ว่าจะเป็นไวรัสโคโรนา (โควิด-19) ที่เป็นไวรัสสายพันธุ์ใหม่ซึ่งแพร่ระบาดอย่างรวดเร็วไปทั่วโลก หรือปัญหาฝุ่น PM2.5 ในประเทศไทยที่ยาวนานและมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น หากเป็นเมื่อก่อนเราคงคิดไม่ถึงว่าการใส่หน้ากากกันเชื้อโรคและฝุ่นจะกลายเป็นพฤติกรรมปกติเวลาเดินทางออกนอกบ้านของคนทั่วไป เช่นเดียวกับสภาพอากาศที่ผันผวนรุนแรงมากขึ้นกว่าในอดีต ในปีก่อนภัยแล้งส่อเค้ามาตั้งแต่ต้นปีที่ฝนตกน้อยและเริ่มเห็นชัดในช่วงฤดูฝนที่ฝนตกล่าช้า ตามมาด้วยอุทกภัยหนักทางภาคอีสาน หลังจากนั้นภัยแล้งยังคงดำเนินมาอย่างต่อเนื่องในบางพื้นที่โดยเฉพาะภาคอีสาน จนกระทั่งปีนี้ที่ภัยแล้งมีท่าทีจะขยายวงกว้างและยืดเยื้อยาวนานขึ้นจนอาจส่งผลกระทบรุนแรงกว่าในอดีตที่เคยประสบมา

๠หภื๠อยภาย... ๠ภ๠๠ม๠๠หภื๠อย๠à¸

หากลองมองย้อนไปในอดีตในปี 2558-59 ที่ไทยเกิดภัยแล้งรุนแรง สืบเนื่องมาจากปรากฏการณ์เอลนีโญขนาดรุนแรง ฝนตกต่ำกว่าค่าปกติติดต่อกันถึงสองปี ฝนที่ตกน้อยต่อเนื่องทำให้น้ำที่เติมเข้ามาในเขื่อนมีปริมาณน้อยและไม่เพียงพอเมื่อเทียบกับปริมาณน้ำที่ต้องการใช้ ส่งผลให้ปริมาณน้ำใช้การได้อยู่ในระดับน้อยวิกฤต สถานการณ์ภัยแล้งในปี 2558-59 จึงเรียกได้ว่าเข้าขั้นรุนแรง เมื่อพิจารณาภัยแล้งที่กำลังเกิดขึ้นขณะนี้ มาในรูปแบบที่คล้ายกัน เป็นภัยแล้งที่ต่อเนื่องจากปีก่อนที่โลกเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญกำลังอ่อนฝนตกต่ำกว่าค่าปกติ ปริมาณฝนทั้งประเทศในปี 2562 ต่ำกว่าค่าปกติมากถึงร้อยละ 15 ซึ่งต่ำกว่าปริมาณฝนในปี 2558 โดยล่าสุดเดือนมกราคมที่ผ่านมาฝนเฉลี่ยทั้งประเทศยังต่ำกว่าค่าปกติมาก นอกจากนี้น้ำใช้การได้ในเขื่อนหลักอยู่ในเกณฑ์น้ำน้อยวิกฤตที่ร้อยละ 25 ของความจุในเขื่อน[1] ซึ่งขยับเข้าใกล้ปริมาณน้ำที่ต่ำวิกฤตในปี 2559 ที่ระดับร้อยละ 20 ขึ้นเรื่อย ๆ โดยขณะนี้สองเขื่อนหลักลุ่มน้ำเจ้าพระยาได้แก่ เขื่อนสิริกิติ์และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ มีปริมาณน้ำใช้การได้ต่ำกว่าในปี 2559 แล้วด้วย1 จึงอาจกล่าวได้ว่า ภัยแล้งที่ต้องเผชิญในปีนี้คงสาหัสไม่ยิ่งหย่อนไปกว่าในปี 2558-59 เลยทีเดียว

๠ภื๠อภมะภร๠าว

ในพื้นที่ลุ่มน้ำเจ้าพระยาที่เขื่อนหลักมีปริมาณน้ำใช้การได้น้อยวิกฤต จึงเพียงพอสำหรับใช้เฉพาะการอุปโภคบริโภคและรักษาระบบนิเวศเท่านั้น ไม่เพียงพอต่อการทำการเกษตร จึงหลีกเลี่ยงไม่ได้ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อเกษตรกรที่เพาะปลูกพืชในช่วงฤดูแล้ง (พ.ย. - เม.ย.) ที่ฝนตกน้อยจึงต้องอาศัยการชลประทานโดยใช้น้ำในเขื่อนเป็นหลัก แล้วเกษตรกรจะทำอย่างไรเล่า? เมื่อลองกลับไปดูสถานการณ์การจ้างงานในช่วงภัยแล้งหนัก 2558-59 ขณะนั้นแรงงานภาคเกษตรต่ำสุดเป็นประวัติการณ์ และลดลงในทั่วทุกภูมิภาคของประเทศ เมื่อเกษตรกรไม่มีน้ำใช้ในการปลูกพืช ไม่มีกิจกรรมทางการเกษตร แน่นอนว่าผลผลิตทางการเกษตรก็ปรับลดลง สถานการณ์ภัยแล้งในครั้งนั้น ทำให้แรงงานลดลงไปกว่า 8 แสนคน ซึ่งแรงงานสามารถย้ายออกไปทำงานสาขาอื่นได้บ้าง เช่น สาขาการค้า บริการ และสาขาก่อสร้าง แต่กลุ่มที่น่าเป็นห่วงคือแรงงานสูงอายุ (ซึ่งถือเป็นสัดส่วนใหญ่ในภาคเกษตร) หากไม่สามารถปรับเปลี่ยนอาชีพได้ก็จำเป็นต้องออกนอกกำลังแรงงานไป


เมื่อมองไปข้างหน้า ภัยแล้งมีความเสี่ยงที่จะรุนแรงมากขึ้น พิจารณาจากดัชนี Oceanic Nino Index (ONI) ซึ่งชี้วัดการเกิดปรากฏการณ์เอลนีโญและลานีญา ที่ล่าสุดดัชนีมีค่าเพิ่มขึ้นต่อเนื่องมาสองเดือนติด จึงมีแนวโน้มที่ภาวะเอลนีโญจะกลับมาเกิดขึ้นได้อีก[2] โดยพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบในปีนี้คงไม่จำกัดอยู่แค่เฉพาะบางพื้นที่ในภาคอีสานดังที่เกิดขึ้นในปีก่อน ด้วยน้ำต้นทุนในเขื่อนที่มีอยู่น้อยวิกฤตในหลายพื้นที่ทั้งภาคเหนือ อีสาน และกลาง และมีความเป็นไปได้ที่ปริมาณน้ำฝนในปีนี้อาจต่ำกว่าค่าปกติจากผลของภาวะเอลนีโญ นอกจากผลผลิตที่ลดลงของข้าวนาปรังซึ่งเป็นผลผลิตหลักที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวในช่วงนี้ การขาดแคลนน้ำและสภาพอากาศที่แห้งแล้งต่อเนื่องอาจส่งผลกระทบไปยังผลผลิตอื่น ๆ อาทิ พืชผัก และผลไม้ ที่ต้องการน้ำมากหรืออาศัยน้ำในช่วงเวลาการออกดอกและติดผล ดังเช่นในปีที่เกิดภัยแล้งวิกฤต

แรงงานในภาคการเกษตรก็เป็นกลุ่มคนที่น่ากังวลด้วยเช่นกัน หนุ่มสาววัยกลางคนที่ยังพอปรับเปลี่ยนอาชีพได้ หากอยากเอาตัวรอดจากภาคเกษตรอาจไม่ได้โชคดีอย่างในอดีต จากแนวโน้มเศรษฐกิจไทยที่ยังคงชะลอตัว การเข้ามาของเทคโนโลยีที่ไม่จำเป็นต้องใช้แรงงานคน พร้อมกันนั้นยังเผชิญความเสี่ยงอีกหลายด้าน อาทิ การระบาดของไวรัสโคโรน่าที่กระทบภาคท่องเที่ยว และสาขาที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นการค้า หรือการขนส่ง ปัญหาเบิกจ่ายล่าช้าของ พ.ร.บ. งบประมาณรายจ่ายประจำปีที่กระทบภาคก่อสร้าง ซึ่งสาขาเหล่านี้ถือเป็นแหล่งรองรับแรงงานหลักจากภาคเกษตร ทำให้ตลาดแรงงานมีความยืดหยุ่นลดลง แรงงานภาคเกษตรย้ายสาขาได้ยากขึ้น หากปรับตัวไม่ทัน ก็จะกลายเป็นผู้ว่างงาน หรือต้องออกนอกกำลังแรงงานไป ความเสี่ยงนี้จะเป็นแรงกดดันต่อรายได้แรงงาน ส่งผ่านไปยังการบริโภคของครอบครัวแรงงาน และแน่นอนว่าส่งผลถึงความกินดีอยู่ดีของประชาชนโดยรวม

โดยสรุปแล้ว สถานการณ์ภัยแล้งไม่เพียงแต่จะส่งผลต่อความเป็นอยู่ของเกษตรกรแต่กำลังขยายผลมาสู่ความเสี่ยงต่อการบริโภคของประเทศ ภาครัฐหรือผู้ดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจจึงต้องจับตาความเสี่ยงดังกล่าวอย่างใกล้ชิด โดยนอกจากจะให้ความสำคัญกับการเยียวยาเกษตรกรในพื้นที่ประสบภัยแล้ว คงจะต้องเร่งวางรากฐานนโยบายการปรับตัวเชิงโครงสร้างโดยมุ่งสืบสานต่อยอดเกษตรทฤษฎีใหม่ตามแนวพระราชดำริของล้นเกล้ารัชกาลที่เก้า ซึ่งเป็นแนวทางความอยู่รอดที่ยั่งยืนท่ามกลางความผันผวนจากทั้งสภาพอากาศที่คาดเดาได้ยาก และเหตุการณ์ไม่คาดฝันที่อาจจะเกิดขึ้นได้อีกในระยะข้างหน้า

---------------------------------
1 ข้อมูลจากกรมชลประทาน ณ วันที่ 12 ก.พ. 63
2 ข้อมูลดัชนี ONI จาก National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และหากดัชนี ONI มีค่าตั้งแต่บวก 0.5 ขึ้นไปติดต่อกันนาน 5 เดือน แสดงว่าโลกกำลังเผชิญปรากฏการณ์เอลนีโญ โดยหากดัชนีมีค่าเพิ่มขึ้นความรุนแรงก็จะมากขึ้นตามไปด้วย

สภาพอากาศโลกที่แปรปรวนและผลกระทบต่อผลผลิตภาคเกษตรไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างแรงงานภาคเกษตรและผลผลิตทางการเกษตรไทย

ที่มา: ข้อมูลจาก สำนักเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) National Oceanic and Atmospheric Administration (NOAA) และสำนักงานสถิติแห่งชาติ ภาพประกอบโดยผู้เขียน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย