​นิทานปีหนู ปูทางรวยช่วยเศรษฐกิจไทย

​นายนครินทร์ อมเรศ
ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ

หลายสำนักเศรษฐกิจกำลังเผยแพร่ประมาณการเศรษฐกิจไทย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นไปในทิศทางเดียวกัน คือ ปรับลดประมาณการลง ธนาคารโลก หรือ World Bank เองก็ประกาศว่าตัวเลข GDP ไทยน่าจะอยู่ในระดับต่ำกว่าร้อยละสามติดต่อกันสามปีรวดตั้งแต่ปีที่แล้วถึงปีหน้า เป็นการต้อนรับปีชวดที่ไม่สดใสเท่าใดนัก

อย่างไรก็ดี ในงานเปิดตัวรายงานติดตามภาวะเศรษฐกิจไทย หรือ Thailand Economic Monitor ฉบับมกราคม 2563 ผู้จัดการธนาคารโลกประจำประเทศไทยได้ตอบคำถาม “สถานะของไทยเป็นอย่างไรในสายตาธนาคารโลก” ไว้อย่างน่าสนใจว่า “ไทยกำลังก้าวไปสู่การเป็นประเทศที่มีฐานะร่ำรวย” สอดคล้องกับท่อนสร้อยของชื่อรายงานฉบับนี้ที่ว่า Productivity for Prosperity หรือ ผลิตภาพเพื่อความมั่งคั่ง ในวันนี้ จะขอถอดบทเรียนจากเนื้อหาส่วนที่สองของรายงาน ซึ่งผู้เขียนได้รับเกียรติร่วมทำการศึกษากับ ดร.มณฑลี กปิลกาญจน์ และ คุณนันทนิตย์ ทองศรี รวมถึงเจ้าหน้าที่ธนาคารโลก เพื่อเล่าสู่กันฟังเป็นนิทานว่าไทยจะรวยได้อย่างไร


เศรษฐกิจไทยประกอบด้วยผู้เล่นที่หลากหลายและหนึ่งในผู้เล่นสำคัญ คือ ผู้ผลิตในภาคอุตสาหกรรม ซึ่งเป็นกำลังหลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยตลอดหลายทศวรรษที่ผ่านมา เพื่อให้เข้ากับบรรยากาศสวัสดีปีหนู จะขออนุญาตเปรียบเทียบโรงงานอุตสาหกรรมไทยเป็นหนูสี่เหล่า หนูตัวแรกชื่อหนูซื่อ (Laggard) เป็นตัวแทนโรงงานขนาดเล็ก อยู่ในธุรกิจมานาน แต่เริ่มโรยรามีผลิตภาพต่ำ หนูตัวที่สองชื่อหนูเฉื่อย (Complacent Monopolist) นับรวมกลุ่มกิจการอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ที่มีลักษณะค่อนข้างผูกขาด จึงอยู่ตัวอุ้ยอ้าย และไม่ต้องขวนขวายพัฒนา ตรงข้ามกับ หนูตัวที่สามชื่อหนูเริด (Star) ซึ่งเป็นกลุ่มกิจกรรมอุตสาหกรรม ขนาดใหญ่ สนใจใฝ่รู้ ขยันขันแข็งในการแสวงหาหนทางใหม่ ขณะที่ หนูตัวสุดท้าย ซึ่งเป็นตัวเอกของนิทานเรื่องนี้ คือ หนูดี (Satisficer) เป็นตัวแทนของโรงงานขนาดเล็ก จิ๋วแต่แจ๋ว มีความปราดเปรียวแคล่วคล่อง มีผลิตภาพสูง แต่ไม่ยอมเติบโตขยายขนาดกิจการ

นิทานเรื่องนี้มีคติสอนใจง่าย ๆ ว่าไทยจะรวยได้ก็ต่อเมื่อพระเอก คือ หนูดี Satisficer ได้รับทรัพยากรเพียงพอ ใช้ทักษะความสามารถได้เต็มที่ จนเติบใหญ่ขยับขยายไปเข้าร่วมกลุ่ม หนูเริด Star ขณะที่ หนูเฉื่อย Complacent Monopolist ควรต้องย่อส่วนลง เพื่อให้มีผลิตภาพสูงขึ้น และ หนูซื่อ Laggard เองก็ต้องทบทวนว่าจะอยู่ต่อ หรือ ผันตัวไปสร้างโอกาสใหม่ ๆ โดยข้อเสนอสามประการในรายงานฉบับนี้ คือ

ประการแรก สร้างบรรยากาศในการแข่งขัน ผ่านการบังคับใช้กฎหมายการแข่งขันทางการค้า เพื่อกระตุ้นการแข่งขันในกลุ่ม Complacent Monopolist และลดข้อจำกัดด้านกฎเกณฑ์กติกา เพื่อเอื้อให้กลุ่ม Satisficer สามารถขยับขยายได้ง่ายขึ้น

ประการที่สอง ส่งเสริมการเชื่อมโยงกับต่างประเทศ โดยเฉพาะการเข้าร่วม ห่วงโซ่อุปทานโลก หรือ Global Value Chain ผ่านด้านการค้าทั้งจากการนำเข้าสินค้าทุน และการส่งออกไปต่างประเทศ ตลอดจนด้านการลงทุน ทั้งการออกไปเป็นเจ้าของธุรกิจในต่างประเทศ หรือเปิดโอกาสให้นักลงทุนต่างประเทศเข้ามาลงทุน ด้วยการใช้ประโยชน์จากการเปิดเสรีภาคบริการในภูมิภาค ASEAN ที่แม้จะเริ่มต้นแล้ว แต่ยังมีข้อจำกัดในทางปฏิบัติอยู่มาก

ประการสุดท้าย จัดสรรปัจจัยการผลิตทั้งแรงงานและทุนให้เหมาะสม โดยพบว่ากลุ่มโรงงานที่มีผลิตภาพสูงมีแนวโน้มที่จะใช้แรงงานทักษะสูงควบคู่กันกับการลงทุนด้านวิจัยและพัฒนา หรือ R&D นั่นคือ ไม่เพียงแต่ต้องส่งเสริมให้เพิ่มแรงงานหรือการลงทุน แต่ต้องเป็นการใช้แรงงานที่ใช่ คือ แรงงานมีฝีมือ ไปพร้อมกับการลงทุนที่ใช่ คือ ลงทุน R&Dจึงจะเพิ่มผลิตภาพให้กับภาคอุตสาหกรรมไทยได้


โดยสรุปแล้ว ธนาคารโลกมองว่าไทยยังอยู่บนหนทางสู่ความมั่งคั่งร่ำรวย ที่แม้จะไม่ใช่เรื่องง่ายในทางปฏิบัติที่จะทำให้ หนูดี Satisficer ตัวเล็ก เติบโตขึ้น ทำให้ หนูเฉื่อย Complacent Monopolist ตัวโต ย่อขนาดลง ทำให้ หนูซื่อ Laggard มีทางไป และทำให้ หนูเริด Star ยังเฉิดฉายได้ตราบเท่านาน แต่ธนาคารโลกยังมองในแง่ดีว่านโยบายภาครัฐเริ่มมาถูกทางที่จะมุ่งเอื้ออำนวยให้เกิดความสะดวกในการดำเนินธุรกิจ ดังนั้นการจะผลักดันให้เกิดผลจริงคงต้องอาศัยพระเอกนางเอกในชีวิตจริง คือ พวกเราทุกคน

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย