นายวรฤทธิ์ วรรณวาณิชย์

Foreign Account Tax Compliance Act หรือ FATCA เป็นกฎหมายภาษีอากรของประเทศสหรัฐอเมริกา (สหรัฐฯ) ที่เกี่ยวกับการเสียภาษีของบุคคลสัญชาติอเมริกันที่ออกมาเมื่อปี พ.ศ. 2553 แต่จะเริ่มมีผลบังคับใช้กับสถาบันการเงินในต่างประเทศในปี พ.ศ. 2557 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อปิดช่องโหว่ ป้องกันการหนีภาษีของบุคคลหรือนิติบุคคลที่มีหน้าที่เสียภาษีให้กับสหรัฐฯ ที่มักใช้สถาบันการเงินในต่างประเทศเป็นช่องทางในการหลบเลี่ยงการเสียภาษี หรือไม่ได้รายงานข้อมูลภาษีเงินได้อย่างถูกต้อง ทั้งนี้ สถาบันการเงินในต่างประเทศ จะรวมถึงธนาคารพาณิชย์ บริษัทหลักทรัพย์ บริษัทบริหารสินทรัพย์ กองทุนรวม บริษัทประกันชีวิต และสถาบันการเงินอื่นๆ ที่มีการรับเงินฝากหรือบริหารสินทรัพย์ของผู้อื่น ที่มิได้จดทะเบียนในสหรัฐฯ โดย FATCA จะแบ่งสถาบันการเงินเหล่านี้ออกเป็น 3 ประเภท ได้แก่ (1) สถาบันการเงินที่ไม่ยินยอมเข้าร่วมปฏิบัติตาม FATCA (Non-Participating FFI: NPFFI) (2) สถาบันการเงินที่ยินยอมเข้าร่วมปฏิบัติตาม FATCA (Participating FFI: PFFI) และ (3) สถาบันการเงินที่ได้รับยกเว้นไม่ต้องปฏิบัติตาม FATCA (Deemed Compliance FFI: DCFFI) เช่น สถาบันการเงินเฉพาะกิจที่มีรัฐบาลถือหุ้นใหญ่ หรือสถาบันการเงินที่มีฐานลูกค้าเฉพาะในประเทศ (Local Based Client) เป็นต้น

การเข้าร่วมปฏิบัติตาม FATCA นั้นสถาบันการเงินจะต้องเข้าทำสัญญากับกรมสรรพากรของสหรัฐฯ (Internal Revenue Service: IRS) โดยตรง และมีหน้าที่ในการตรวจสอบและรายงานข้อมูลเกี่ยวกับลูกค้าที่เข้าข่ายเป็นบุคคลสัญชาติอเมริกันต่อ IRS หรือรัฐทำสัญญากับสรรพากรสหรัฐฯ โดยทำหน้าที่รวบรวมข้อมูลลูกค้าสัญชาติอเมริกันจากสถาบันการเงินและส่งต่อให้แก่กรมสรรรพากรสหรัฐฯ สำหรับสถาบันการเงินที่ไม่ยินยอมเข้าร่วมปฏิบัติตาม FATCA จะถูกรัฐบาลสหรัฐฯ หักภาษี 30% ของเงินได้ที่สถาบันการเงินได้รับจากสหรัฐฯ เช่น เงินปันผลจากเงินลงทุนในหุ้นในตลาด NYSE (New York Stock Exchange) และดอกเบี้ยรับจาก U.S banks เป็นต้น

แม้ว่ากฎหมาย FATCA เป็นกฎหมายของสหรัฐฯ แต่ก็มีผลกระทบต่อสถาบันการเงินในประเทศอื่นๆ ทั่วโลก รวมถึงสถาบันการเงินในประเทศไทยด้วย เพราะกฎหมายฉบับนี้กำหนดหลักเกณฑ์ที่เป็นเสมือนบทลงโทษทางภาษีต่อสถาบันการเงินที่ไม่ยินยอมเข้าร่วมปฏิบัติตาม FATCA ดังที่กล่าวข้างต้น ดังนั้น จึงคาดว่าสถาบันการเงินส่วนใหญ่ในประเทศไทยที่มีการลงทุนในสหรัฐฯ หรือฝากเงินกับธนาคารในสหรัฐซึ่งรวมถึงสาขาของธนาคารสหรัฐฯที่จัดตั้งในต่างประเทศด้วย จะยินยอมปฏิบัติตาม FATCA ทั้งนี้ หน้าที่สำคัญอย่างหนึ่งของสถาบันการเงินคือ การระบุว่าลูกค้าหรือผู้ฝากเงินของตนนั้นเข้าข่ายเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลของสหรัฐฯ หรือไม่ ไม่เพียงแต่การมีสัญชาติอเมริกันหรือการจดทะเบียนจัดตั้งในสหรัฐฯเท่านั้นที่จะถือว่าเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลของสหรัฐฯตามหลักเกณฑ์ FATCA จะหมายรวมถึงผู้ที่มีที่อยู่ในสหรัฐฯ ผู้ที่ถือกรีนการ์ด หรือบริษัทที่ถือหุ้นโดยบุคคลของสหรัฐฯ เกินกว่า 10% อีกด้วย นอกจากนั้น สถาบันการเงินอาจต้องปรับปรุงกระบวนการในการให้บริการเพื่อให้สามารถระบุได้ว่าลูกค้าเข้าข่ายเป็นบุคคลสัญชาติอเมริกันหรือไม่โดยไม่รบกวนหรือสร้างภาระ ให้กับลูกค้าเกินความเหมาะสม ปรับปรุงการจัดเก็บข้อมูลให้สามารถส่งข้อมูลตามที่กรมสรรพากรสหรัฐฯ กำหนด

ดังนั้น ผลกระทบที่คาดว่าจะเกิดขึ้นกับลูกค้าหรือผู้ฝากเงิน ก็คือ ลูกค้าหรือผู้ฝากเงินจะต้องเปิดเผยข้อมูล ให้กับสถาบันการเงินเพิ่มขึ้นซึ่งอาจทำให้เกิดความสงสัยว่าตนเองจะนำเงินไปฝากสถาบันการเงินทำไมจึงต้องมีการตอบคำถามมากมาย ทั้งๆ ที่เงินที่นำไปฝากก็เป็นเงินที่ทำมาหาได้โดยสุจริต แล้วสถาบันการเงินทุกแห่งจะมีกระบวนการที่เหมือนกันหมดหรือไม่ เพื่อให้ลูกค้าได้เข้าใจและตระหนักถึงความจำเป็นของสถาบันการเงินก่อนที่จะมีการเริ่มใช้กฎหมาย FATCA ในกลางปีนี้ จึงมีหลายองค์กรที่เริ่มมีการสื่อสารให้ประชาชนทั่วไปได้รับทราบมาบ้างแล้ว ซึ่งความตั้งใจของผู้เขียนก็ต้องการสื่อภาพกว้างของกฎหมาย FATCA และผลกระทบต่อประชาชนทั่วไปที่ ใช้บริการจากสถาบันการเงิน อย่างน้อยในเรื่องของข้อมูลที่จะต้องมีเพียงพอให้สถาบันการเงินพิจารณาได้ว่า ลูกค้า หรือผู้ฝากเงินรายนั้นเข้าข่ายเป็นบุคคลหรือนิติบุคคลสหรัฐฯ ที่ต้องถูกนำส่งข้อมูลไปยัง IRS หรือไม่ นอกจากนี้ กฎหมาย FATCA ยังได้ระบุไว้ว่า หากผู้ใดไม่ให้ข้อมูล สถาบันการเงินอาจสามารถพิจารณาปิดบัญชีของลูกค้ารายนั้น ได้ ซึ่งประเด็นนี้ผู้ฝากเงินยังไม่ต้องกังวลว่าสถาบันการเงินจะสามารถปิดบัญชีได้โดยพลการหรืออาจมีการกลั่นแกล้ง ได้ เนื่องจากสถาบันการเงินจะต้องมีการกำหนดขั้นตอนที่ชัดเจนก่อนที่จะดำเนินการปิดบัญชีของท่านได้ นอกจากนี้ ยังต้องมีการออกกฎหมายที่จะช่วยดูแลคุ้มครองสิทธิของประชาชนให้เหมาะสมด้วย อย่างไรก็ดี กฎหมาย FATCA ยัง ไม่มีความชัดเจนในทางปฏิบัติหลายๆ เรื่อง รวมทั้ง บางประเด็นอาจส่งผลกระทบต่อกฎหมายภายในของแต่ละประเทศ ซึ่งเป็นประเด็นที่เราจะต้องติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป เนื่องจากจะส่งผลกระทบต่อลูกค้าของสถาบันการเงินอย่างเราๆ ท่านๆ โดยตรง

บทความนี้เป็นข้อคิดเห็นส่วนบุคคล ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับข้อคิดเห็นของธนาคารแห่งประเทศไทย